ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เส้นทางธุรกิจประกันภัยของกลุ่ม “ล่ำซำ” ใช้เวลากว่า 80 ปี ต่อสู้ในสงครามการแข่งขันจนยึดกุมส่วนแบ่งติดอันดับ “ท็อปไฟว์” ทั้งตลาดประกันชีวิตและประกันวินาศภัย กลายเป็นอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่อีกสายหนึ่งของตระกูล เม็ดเงินในตลาดมากกว่า 7 แสนล้านบาท
ต้องถือว่ากิจการประกันภัยของกลุ่มล่ำซำเกิดขึ้นพร้อมๆ กับกิจการธนาคารพาณิชย์และเป็นธุรกิจที่ฝังรากลึกตั้งแต่ต้นตระกูล แม้ล่ำซำรุ่นที่ 1 อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน ตัดสินใจเดินทางจากตำบลส่งเค้าโป๊ อำเภอบ้วยกุ้ย จังหวัดเกี่ยเอ้งจิวฮู้ มลฑลกวางตุ้ง เข้าสู่ประเทศไทย โดยเริ่มทำมาหากินในร้านขายเหล้าของ “จิวเพ็กโก”
แต่อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน ศึกษาหาความรู้เปลี่ยนฐานะเป็นเถ้าแก่ เปิดร้านขายไม้ซุง ติดลำน้ำเจ้าพระยาแถวจักรวรรดิ สัมพันธวงศ์ ชื่อร้าน “ก้วงโกหลง” และทำสัมปทานป่าไม้แถวจังหวัดนครสวรรค์กับแพร่ ขยายการค้าทั้งในและต่างประเทศ เติบโตรุดหน้า
ต่อมา อึ้งยุกหลง ล่ำซำ บุตรชาย เข้ามาดูแลรับผิดชอบธุรกิจของตระกูล ขยายกิจการโรงสีและรับซื้อข้าว รวมถึงสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ส่งขายต่างประเทศ
ปี 2475 อึ้งยุกหลงก่อตั้งบริษัทกวางอันหลงประกันภัย และธนาคารก้วงโกหลง โดยกิจการประกันภัยทำหน้าที่ดูแลและป้องกันวินาศภัยของการขนส่งสินค้า ส่วนธนาคารเป็นเพียงร้านแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่ต่อมาธนาคารต้องปิดตัว ผลพวงจากนโยบายของคณะราษฎร ส่วนกิจการประกันภัยมีการขยายธุรกิจต่อเนื่องและเปลี่ยนชื่อเป็น “ล่ำซำประกันภัย”
ขณะที่จุลินทร์ ล่ำซำ ลูกชายคนที่ 2 ใน 7 คน ของอึ้งยุกหลง ได้แก่ โชติ, จุลินทร์, เกษม, จวง, ทองพูน, เล็ก และพิศศรี หันไปจับมือกับกลุ่มเพื่อนนักธุรกิจและผู้ใหญ่ในวงราชการเปิดบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต เมื่อปี 2494
ทว่า ในช่วงจังหวะการเปิดประเทศ ทั้งติดต่อการค้ากับต่างชาติและต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทย บริษัทล่ำซำประกันภัยไม่สามารถต่อสู้กับทุนนอกจนประสบปัญหาขาดทุน หนี้ท่วม
เสียงส่วนใหญ่ใน “ล่ำซำ” เสนอปิดกิจการ เพราะมีบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตอยู่แล้ว แต่บัญชา ล่ำซำ ลูกชายคนโตของโชติ ซึ่งเวลานั้นบริหารเมืองไทยประกันชีวิต คัดค้าน และขอเข้ามาแก้ปัญหา “ล่ำซำประกันภัย” ใช้การบริหารแบบฝรั่งและอาศัยเครือข่ายกิจการประกันต่างประเทศ ใช้วิธีการประกันต่อ (reinsurance) ไปยังกิจการประกันภัยในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยง จนสามารถล้างหนี้กว่า 2,000 ล้านบาท สร้างกำไรและจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
จาก “ล่ำซำประกันภัย” เปลี่ยนชื่อเป็น “ภัทรประกันภัย” และถือเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านประกันอัคคีภัย
เวลาเดียวกัน จุลินทร์ส่งต่อ “เมืองไทยประกันชีวิต” ให้ลูกชาย คือ โพธิพงษ์ ล่ำซำ และด้วยวิสัยทัศน์ที่มองอนาคตธุรกิจประกันจะกลายเป็นสินค้าจำเป็นของชีวิต ที่สุดโพธิพงษ์ตัดสินใจเปิดบริษัท เมืองไทยประกันภัย เพื่อขยายอาณาจักรธุรกิจอย่างครบวงจร
นั่นทำให้โพธิพงษ์ต้องเคี่ยวฝึกวิทยายุทธ์ให้นวลพรรณ ล่ำซำ ลูกสาวคนโต และสาระ ล่ำซำ ลูกชายคนเล็ก นานหลายปี กระทั่งปี 2547 นวลพรรณได้รับความไว้วางใจขึ้นนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) อย่างเต็มตัว
ส่วนสาระเรียนรู้งานตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ฝ่ายฝึกอบรมและพัฒนา ไต่เต้าตำแหน่งจนเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ด้าน “ภัทรประกันภัย” มี กฤตยา บุตรสาวของ ยุติ ล่ำซำ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ กลายเป็น 3 บริษัทประกันของตระกูลล่ำซำ
ปี 2551 ท่ามกลางแรงกดดันรอบด้าน ทั้งนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัย การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และการประกาศหลักเกณฑ์การกำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital: RBC) เพื่อกำกับดูแลการนำเงินไปลงทุนด้านต่างๆ ของบริษัทประกันภัย
โพธิพงษ์ ล่ำซำ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้ง “เมืองไทยประกันภัย” และ “ภัทรประกันภัย” ประกาศดีลประวัติศาสตร์ ควบรวมกิจการประกันภัยทั้ง 2 บริษัทและเลือกใช้ชื่อ “เมืองไทยประกันภัย” โดยตั้งเป้าหมายก้าวสู่บริษัทประกันวินาศภัยระดับแนวหน้าของประเทศไทยภายใน 5 ปี เพิ่มเบี้ยประกันภัย 2 เท่า หรือกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจรับมือการแข่งขันครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการรุกหนักของทุนต่างชาติ
ขณะนั้นนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมืองไทยประกันภัย ระบุว่า โครงสร้างของบริษัทประกันวินาศภัยใหม่จะมีฐานเบี้ยประกันภัยกระจายตัวในทุกผลิตภัณฑ์ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการดำเนินการ ที่ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากผลิตภัณฑ์ใดเป็นหลักจากเดิมก่อนการควบรวมกิจการ ภัทรประกันภัยโดดเด่นด้านเบี้ยประกันอัคคีภัย ส่วนเมืองไทยประกันภัยมีจุดแข็งด้านการรับประกันภัยรถยนต์
ที่สำคัญ วัดสถิติจากมูลค่าเบี้ยประกันภัย เดิม “เมืองไทยประกันภัย” ติดอันดับ 16 มีส่วนแบ่งเพียง 1.88% และ “ภัทรประกันภัย” อยู่อันดับ 31 ส่วนแบ่ง 1.28% เมื่อควบรวมกัน บริษัทใหม่มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นทันที 3% ไต่ขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ที่อันดับ 7
ด้าน “เมืองไทยประกันชีวิต” ภายใต้การบริหารของสาระ ล่ำซำ ถือว่า เอ็มดีหนุ่มใช้ความเป็นคนรุ่นใหม่พลิกโฉมบริษัทโดนใจเจเนเรชั่นใหม่ ทั้งสีสันภาพลักษณ์องค์กร สร้างแบรนด์จนติดอันดับ 1 ในฐานะแบรนด์แห่งความสุข ทะเล้น สนุกสนาน สร้างช่องทางขายและกลยุทธ์การตลาดครบรอบด้าน 360 องศา
“เมืองไทยประกันชีวิต” เติบโตก้าวกระโดดพร้อมๆ กับขยับอันดับอย่างต่อเนื่อง ปี 2557 ยึดตำแหน่งบริษัทประกันชีวิตที่มีมูลค่าเบี้ยรับสูงสุดอันดับที่ 2 อย่างเหนียวแน่น รวม 75,233.7 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาด 14.9% ตามแชมป์เบอร์ 1 เอไอเอ ประเทศไทย ที่มีเบี้ยรับรวม 114,783.2 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาด 22.8%
ส่วนอันดับ 3 ไทยประกันชีวิต อยู่ที่ 63,060 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 12.5% ตามด้วย กรุงเทพประกันชีวิต 51,810.1 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 10.3% และกรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต 48,877.5 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 9.7%
ทั้งนี้ภาพรวมธุรกิจประกันภัยในปี 2557 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งสิ้น 704,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิต 498,753 ล้านบาท และธุรกิจประกันวินาศภัย 205,247 ล้านบาท ส่วนปี 2558 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.87 แสนล้านบาท เติบโต 12% จากปีก่อน แบ่งเป็นเบี้ยจากประกันวินาศภัย 2.23 แสนล้านบาท และเบี้ยจากประกันชีวิต 5.63 แสนล้านบาท
ล่าสุด สาระตั้งเป้าหมายปี 2558 ผลักดันอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 18% โดยเร่งยกระดับทุกช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและชูยุทธศาสตร์การเป็น “Digital Insurer” ตามไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ขณะที่เร่งศึกษาโอกาสการขยายธุรกิจสู่ประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่ม CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม เนื่องจากยังมีสัดส่วนประชากรที่ทำประกันชีวิตค่อนข้างน้อย เร่งผุดศูนย์บริการลูกค้าตามแนวชายแดน เช่น สาขาเชียงคาน จ.เลย สาขาเชียงของ จ.เชียงราย
ฝ่ายนวลพรรณประกาศว่า เมืองไทยประกันภัยจะกวาดเบี้ยประกันรับตรง 11,986 ล้านบาท จากปี 2557 อยู่ที่ 10,233 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 15% โดยล่าสุดนอกจากทำกำไรสูงสุดแล้วยังขยับแซงคู่แข่ง “สินมั่นคงประกันภัย” ขึ้นอันดับ 4 ของอุตสาหกรรม
แน่นอน เป้าหมายไม่หยุดเท่านี้ ที่สำคัญการขยายอาณาจักรในฐานะ “แชมป์” จะไม่ใช่แค่ความสำเร็จของทายาทล่ำซำรุ่นที่ 5 แต่ยังหมายถึงการทวงคืนธุรกิจประกันภัยจากมือต่างชาติ หลังยึดกุมมานานเหลือเกิน