สถาปนิกสยามฯ ดึง “100 Selected Project” แสดงถึงตัวตนคนไทยโชว์ในงานสถาปนิก’58 หวังยกระดับเป็น “Design Hub” แห่งภูมิภาคอาเซียน ขณะที่สถาปนิกรุ่นใหญ่ “ประภาร วทานยกุล” แห่ง A49 ชี้ทุกโอกาสมีการแข่งขัน แนะเร่งปิดจุดอ่อนสร้างมาตรฐานคุณภาพ แนะสถาปนิกไทยต้องกล้าบุกตลาดนอก
นายชนะ สัมพลัง ประธานจัดงานสถาปนิก’58 เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มวิชาชีพสถาปนิกไทยมีความพร้อมทั้งในเรื่องคุณภาพ หรือการสร้างสรรค์ผลงานมีมาตรฐานทัดเทียม หรือสูงกว่าหลายประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากผลงานที่จะนำมาโชว์ในงานสถาปนิก 58 จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน-3 พฤษภาคม 2558 ที่ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี จะเป็นเวทีประชาสัมพันธ์ที่ดีสู่เวทีโลก และเปิดให้ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเห็น หรือร่วมโชว์ผลงาน
รวมถึงโชว์ผลงานวงการสถาปนิกไทยในเวที AEC ที่ต้องยกระดับให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางงานออกแบบ “Design Hub”ในภูมิภาคอาเซียนจึงได้ดึงผลงานเด่นๆ หรือเรียกว่า 100 Selected Project ที่แสดงถึงตัวตนคนไทยมาโชว์ เช่น การออกแบบ Super Tower แมคเนตแห่งใหม่ของเอเชีย ผลงานออกแบบของ A49 แนวคิดการออกแบบ The Factory 14 Hotel ออกแบบดดยบริษัท วิน วรวรรณ อาร์คิเทคส์ จำกัด และแนวคิดการออกแบบโครงการ FYI (For Your Inspiration) ที่ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกสมดุล จำกัด เป็นต้น
สำหรับงานสถาปนิก’58 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ASA NEXT : ตัวตน คนไทย” โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบจัดงานครั้งใหญ่เป็นงานดีไซน์ แฟร์ ระดับอาเซียน ประชันผลงานการออกแบบ ส่วนนิทรรศการของสมาคมจะปรับเปลี่ยนการจัดนิทรรศการเป็นมิวเซียม อาร์ต แกลเลอรี การจัดแสดงวัสดุ ผลิตภัณฑ์เน้นนวัตกรรมใหม่ งานดีไซน์ใหม่ เปรียบได้กับงานมิลานแฟร์ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ และแสดงความเป็นตัวตนของคนไทย โชว์ศักยภาพของคนไทยในเวทีโลกอย่างแท้จริง
แนะสถาปนิกไทยต้องกล้าบุกตลาดนอก
ด้านนายประภาร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด หรือ A49 เปิดเผยว่า การเปิดเสรีภายใต้กรอบการค้าต่างๆ รวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจในกลุ่มชาติสมาชิก 10 ประเทศในอาเซียน หรือ AEC นั้นถือว่าเป็นโอกาสที่กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ทั้งสถาปนิก มัณฑนากร ฯลฯ จะได้มีโอกาสออกไปหางานในต่างประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงที่ผ่านมา สถาปนิกไทยเองก็ออกไปรับงานนอกประเทศมานานแล้วไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัท A49 เองก็ไปซึ่งก่อนหน้านี้ก็จะเคยไปเปิดสาขาที่เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ปัจจุบันปิดไปแล้ว) และในเร็วๆ นี้ จะไปเปิดที่เมืองเดลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของอินเดีย โดยร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น ซึ่งที่อินเดียนี้มองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการขยายฐานตลาดมาก
“คนไทยเองไม่ค่อยคุ้นชินที่จะพรีเซ็นต์งาน และออกไปทำงานในต่างประเทศนานๆ พูดง่ายๆ ส่งไปอยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ขอกลับมาทำงานที่เมืองไทยเหมือนเดิม” นายประภากร กล่าว
ทั้งนี้ โอกาสทางการตลาด รวมถึงโอกาสที่สถาปนิกไทยจะร่วมงานกับสถาปนิกระดับอินเตอร์ที่มาจากประเทศอื่นๆ เมื่อธุรกิจมีโอกาสก็ย่อมส่งผลให้มีทั้งคนได้เปรียบและเสียเปรียบ กลุ่มผู้ประกอบการวิชาชีพต่างๆ รวมถึงสถาปนิก มัณฑนากรจะต้องเร่งสร้างมาตรฐานของตนเองทั้งในเรื่องคุณภาพ และลักษณะของการทำงาน ที่สำคัญต้องเร่งสร้างเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ ทั้งทักษะฝีมือในการทำงาน ทักษะในด้านการสื่อส่ารให้แก่ทีมงานในการนำเสนองาน หรือ พรีเซ็นต์งานให้แก่ลูกค้า
ตลาดออกแบบมาเลเซียสดใส
ด้านน.ส.ปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ ผู้อำนวยการบริษัท สถาปนิกสมดุล จำกัด เป็นอีกหนึ่งถาปนิกที่ออกไปรับงานในต่างประเทศ กล่าวว่า โอกาสในการทงาน หรือการขยายฐานธุรกิจออกไปต่างประเทศนั้นมีเสมอ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ หรือกลุ่มวิชาชีพสถาปนิกเองก็ต้องเตรียมความพร้อม และต้องเลือกงานที่มีขนาดที่เหมาะต่อขีดความสามารถตัวเองเพื่อสร้างชื่อสร้างผลงานแล้วค่อยๆ ขยายฐานตลาดให้กว้าง และรับงานที่ขนาดใหญ่ขึ้น
“ทั้งอินเดีย และมาเลเซีย เป็นตลาดที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะมาเลเซีย มูลค่างานนั้นสูงมากสูงกว่าประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย ผู้อำนวยการสถาปนิกสมดุล กล่าวให้ความเห็น พร้อมกับระบุว่า ปัจจุบันตลาดงานออกแบบในโทยนั้นมีขนาดของงานใหญ่ขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมากจากโครงการลงทุนของลูกค้านั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงแรม และศูนย์การค้า เป็นต้น”