ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ที่ผ่านมา หุ้นไทยกลับสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่โดดเด่นได้ด้วยผลตอบแทนกว่า 15% ทำให้หลายๆ ฝ่ายต่างก็คาดหวังว่าในปี 2558 นี้หุ้นไทยน่าจะเป็นปีที่สดใสได้ไม่แพ้กัน
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งจากสารพัดโครงการของภาครัฐ รวมไปถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดูเหมือนจะดีขึ้นในภาพรวม ซึ่งก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้หุ้นไทยยิ่งสดใสได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ดัชนีราคาหุ้นฯ ปรับตัวขึ้นไปทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงกลางเดือนมีนาคมหุ้นไทยกลับอ่อนแรงและปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากเหนือระดับ 1,600 จุด ลงมาใกล้ระดับ 1,500 จุด ทำให้เริ่มเกิดความสงสัยว่า หรือหุ้นไทยที่เคยคิดว่าจะเติบโตอย่างโดดเด่นในปีนี้จะหมดสิ้นมนต์เสน่ห์ลงแล้ว
ปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นแรกคาดว่ามาจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยซึ่งฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดยตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกที่ประกาศออกมาล้วนแล้วแต่ค่อนข้างออกมาในเชิงชะลอตัว อาทิ ตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน
ขณะที่การส่งออกซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้ 4% ในปีนี้ก็ดูเหมือนจะไม่กระเตื้องเท่าไหร่นัก เพราะค่าเงินบาทในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้กลับแข็งค่าขึ้นมากว่า 2% และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการส่งออก ขณะที่แผนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้งบประมาณของภาครัฐก็ดูจะล่าช้ากว่าที่วางแผนไว้ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาตัวเลขการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 42.6% เทียบกับเป้าหมายที่ 47.4%
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกระแสข่าวเกี่ยวกับการเลื่อนการประมูล 4G ออกไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำให้มีเม็ดเงินจากต่างชาติไหลออกไปจากตลาดหุ้นไทยแล้วกว่า 9 พันล้านบาทนับตั้งแต่ต้นปี
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากภายนอกที่กดดันสถานการณ์การลงทุนทั่วโลก และส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งยังมีความคิดเห็นแตกต่างออกไปหลายกระแส
โดยส่วนหนึ่งมองว่าจะมีการปรับขึ้นภายในครึ่งปีหลังของปี 2558 นี้ แต่อีกกระแสหนึ่งก็แย้งว่าน่าจะเลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปในปีหน้า เพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะดูดีขึ้นแต่ก็ยังมีความเปราะบางอยู่ การรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยจึงอาจจะส่งผลเสียได้ จะเห็นได้ว่าทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความไม่แน่นอน และทำให้บรรยากาศการลงทุนเต็มไปด้วยความผันผวน
อย่างไรก็ดี แม้จะเต็มไปด้วยข่าวในเชิงลบ และทำให้หุ้นไทยเริ่มอ่อนแรงลงในช่วงที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาดีๆ แล้วจะพบว่าหุ้นไทยเองยังคงไม่ได้สิ้นไร้มนต์เสน่ห์ไปแต่อย่างใด โดยเมื่อดูในแง่ของเศรษฐกิจ แม้ในช่วงไตรมาสแรกอาจจะดูเติบโตช้ากว่าที่คาด แต่ปัจจัยบวกที่สำคัญก็คือราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก และยังคงยืนอยู่ในระดับต่ำจะส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งในแง่เศรษฐกิจมหภาคจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะปรับตัวดีขึ้นจากการนำเข้าที่ลดลง รวมไปถึงแง่จุลภาคในระดับบริษัทที่จะช่วยส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจลดลง และส่งผลบวกต่อเนื่องไปยังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในภาพรวมที่น่าจะดูดีขึ้น (ยกเว้นในกลุ่มพลังงานที่น่าจะยังคงได้รับปัจจัยลบอยู่)
โดยยังคงเชื่อว่าหากมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินการเติบโตของจีดีพีปีนี้ที่ระดับ 4.00%
นอกจากนี้ แม้ตลาดจะมีความกังวลในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้กันมาตลอดอยู่แล้วว่าจะต้องมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอนไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว จึงไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด การที่ตลาดมีความผันผวนในระยะสั้นจึงเป็นเหมือนการ Over-reacting หรือการตอบสนองที่มากเกินไป ซึ่งน่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ
ขณะที่นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางต่างๆ เช่น ธนาคารกลางยุโรป หรือธนาคารกลางญี่ปุ่น จะยังคงช่วยสนับสนุนให้สภาพคล่องในตลาดการเงินมีอยู่ในระดับเพียงพอ และช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนได้อยู่อย่างต่อเนื่อง
ด้วยปัจจัยดังกล่าวข้างต้น บลจ.กสิกรไทยจึงยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย โดยยังคงเป้าหมายของดัชนีหุ้นไทยปลายปี 2558 นี้ที่ระดับ 1,700 จุด โดยมองว่าการที่ตลาดมีความผันผวนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีจากการที่ถูกกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ทำให้ในช่วงที่หุ้นไทยมีราคาที่อ่อนตัวลงก็จะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้เป็นจังหวะเข้าทยอยสะสมการลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มเติมได้
คำเตือน
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
จัดทำ ณ วันที่ 18 มีนาคม 2558
โดยนายอาทิตย์ ทองเจริญ
ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน
บลจ.กสิกรไทย