xs
xsm
sm
md
lg

“ความอดทน” กับการลงทุนในเดือนแห่งความรัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย ณัฏฐะ มหัทธนา
CFA ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน
บลจ.ทหารไทย

เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งคนทั่วๆ ไปคงทราบกันดีว่าเป็นเดือนแห่งความรัก หลายคนอาจจะเริ่มคิดถึง ดอกกุหลาบ ช็อกโกแลต หรือการพาคนรักไปรับประทานอาหารที่ร้านบรรยากาศดีๆ แน่นอนครับว่าความรักนั้นเป็นสิ่งสวยงามที่เราสามารถให้ได้แก่ทุกคนและไม่ได้จำกัดเฉพาะความรักระหว่างหนุ่มสาวเท่านั้น และแต่ละคนก็อาจจะมองความรักได้ในหลากหลายแง่มุม สำหรับผู้เขียนในฐานะคริสเตียนคนหนึ่ง ผมขอแบ่งปันนิยามของ “ความรัก” ที่อยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ 1 โครินธ์ บทที่ 13 ข้อ 4-7 ดังนี้

“ความรักนั้นต้องอดทนนานและมีใจปรานี

ความรักไม่อิจฉา ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่หยาบคาย

ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ฉุนเฉียว ไม่ช่างจดจำความผิด

ไม่ชื่นชมยินดีในความอธรรม แต่ชื่นชมยินดีในความจริง

ความรักทนได้ทุกอย่าง เชื่ออยู่เสมอ

มีความหวังและความทรหดอดทนอยู่เสมอ”

สังเกตไหมครับว่า เริ่มต้นก็ “อดทน” ลงท้ายก็ “อดทน” ดังนั้น ความอดทนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในทุกความรักและความสัมพันธ์

ความอดทน มีความสำคัญในโลกของการลงทุนเช่นกัน เพราะในแง่มุมหนึ่ง การออมและการลงทุนก็คือการที่เรา “อดทน” และอดกลั้น โดยตัดสินใจเลื่อนการใช้จ่ายบางอย่างในปัจจุบันออกไป เพื่อสะสมและทำให้เงินเติบโตซึ่งจะสามารถนำมาใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้อย่างเพียงพอในอนาคต หากใครสามารถอดทนอดกลั้นต่อสิ่งเย้ายวนที่มักจะดึงดูดเงินออกจากกระเป๋าได้มากกว่าก็ถือว่ามีแต้มต่อ เพราะจะทำให้สามารถเพิ่มพูน “เงินต้น” ซึ่งสำคัญต่อผลลัพธ์ที่ได้จากการลงทุนมากกว่า “อัตราผลตอบแทน” เสียอีก

สำหรับคนที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจและการลงทุนคงจะได้ทราบว่า ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่า เฟดจะ “อดทน” รอเวลาที่จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยจะพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจ ซึ่งคำว่า “อดทน” นี้ละครับมีอิทธิพลต่อตลาดเป็นอย่างมากเพราะทำให้นักลงทุนทั่วโลกคลายความวิตกกังวล และมั่นใจว่าดอกเบี้ยจะขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งเพียงพอ

“ความอดทนต่อความผันผวนของตลาด” ที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อจัดพอร์ตการลงทุน คือถ้าใครสามารถอดทนต่อความผันผวนของตลาดได้น้อย ก็จัดพอร์ตให้มีตราสารหนี้มากหน่อย หุ้นน้อยหน่อย เช่น ลงทุนในหุ้น 15% ส่วนที่เหลือเป็นตราสารหนี้ แต่ถ้าอดทนต่อความผันผวนได้มากขึ้นก็อาจเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นในพอร์ตเป็น 30% หรือ 60% อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันหากไม่อยากมีภาระที่จะต้องคอยปรับสัดส่วนการลงทุนด้วยตนเองก็มีกองทุนประเภท “กองทุนรวมผสม” ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่ปรับสัดส่วนการลงทุนระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ โดย บลจ.ส่วนใหญ่มักจะมีให้เลือก 3 นโยบาย อาจแบ่งเป็น “เสี่ยงต่ำ / เสี่ยงกลาง / เสี่ยงสูง” หรือ “ระยะสั้น / ระยะปานกลาง / ระยะยาว” หรืออาจแบ่งตามช่วงอายุหรือปีเกิดของผู้ลงทุน ก็ล้วนอยู่ภายใต้หลักการเดียวกันครับ

ถ้าความอดทนนั้นเป็นสิ่งที่ดีและสำคัญขนาดนี้ สังคมไทยของเราก็เช่นเดียวกันครับ ต้องการ “ความอดทน” ต่อกันและกัน และให้อภัยในความบกพร่องไม่สมบูรณ์แบบของแต่ละคน เพื่อที่จะก่อร่างสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติขึ้นมาใหม่ และหันกลับมา “รัก” กันดังเดิม

ขอให้ทุกท่านมีความสุขในเดือนแห่งความรักครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น