คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยปฐมินทร์ นาทีทอง
ทีมจัดการกองทุนบัวหลวง
ในบทความ “ทำความรู้จัก ESG” ก่อนหน้านี้ เราได้กล่าวถึงความน่าสนใจของการลงทุนในบริษัทที่มี ESG (Environmental, Social และ Governance) ซึ่งส่วนประกอบดังกล่าวมีส่วนช่วยให้บริษัทมีผลประกอบการที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันปัญหาคอร์รัปชันได้ส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท และมีผลต่อกระทบต่อผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นทั้งในระยะยาว
ดังนั้น บริษัทที่มีเพียง ESG อาจไม่พอต่อการพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืนได้ เราจึงมองว่าจำเป็นที่จะต้องพิจารณาบริษัทที่มีแนวทางปฏิบัติ และข้อกำหนดในการทำธุรกิจที่โปร่งใส เพื่อป้องกันการคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ รวมถึงการปฏิบัติอย่างรอบคอบต่อการดำเนินธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้การลงทุนในบริษัทดังกล่าวเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) และเป็น “การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม” (Socially Responsible Investing, SRI) ด้วย เพราะฉะนั้น เราจึงรวมปัจจัยด้านการต่อต้านธุรกิจคอร์รัปชัน (C - Anti Corruption) เข้าไปใน ESG และเรียกรวมว่า ESGC ครับ
อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกบริษัท หรือหุ้นที่มี ESGC นั้น ทุกวันนี้ยังไม่มีการจัดอันดับ หรือให้คะแนนบริษัทที่มี ESGC อย่างเป็นทางการ ดังนั้น สำหรับบทความนี้จะเสนอแนวทางการลงทุน ESGC ที่ปัจจุบัน บลจ.บัวหลวงนำมาพิจารณาใช้กับกระบวนการตัดสินใจลงทุนของ “กองทุนรวม คนไทยใจดี” หรือ “BKIND” ซึ่งจะมีขั้นตอน โดย
•การคัดเลือกหุ้นที่ได้ Corporate Governance ระดับดีขึ้นไป โดย IOD (Thai Institute Of Directors)
•บริษัทเหล่านั้นจะต้อง “มีการดูแลพนักงานที่ดีพอ (Pension Welfare)” ดังนั้น หากไม่มีสวัสดิการบำนาญในรูปแบบใดๆ เราจะไม่ลงทุน
•การคัดกรองทั้งในเชิงปริมาณ เช่น หุ้นที่มีหนี้สินต่อทรัพย์สินที่ต่ำ และมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นที่ดี ที่หวังว่าจะสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในระยะยาวได้
•การนำหุ้นที่คัดกรองจากข้อต่างๆ ข้างต้นมาให้คะแนน ESGC Scorecard โดยการให้คะแนนจะดูจากหัวข้อที่สำคัญ เช่น
oEnvironmental (สิ่งแวดล้อม) เช่น พิจารณาว่าบริษัทมีความพยายามพัฒนาสินค้า กระบวนการผลิต ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หรือการพิจารณาว่าบริษัทมีแนวโน้มในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
oSocial (สังคม) เช่น การพิจารณาว่าบริษัทมีนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของพนักงานหรือไม่ เช่น มีตรวจสุขภาพประจำปี ประกันสุขภาพโดยไม่นับรวมประกันสังคม หรือมีให้ความสำคัญกับสตรี หรือจ้างงานกับบุคคลพิการ รวมถึงการทำประโยชน์ให้กับสังคม
o Good Governance (บรรษัทภิบาล) เช่น สัดส่วนของกรรมการอิสระต่อกรรมการทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจในการตัดสินใจของคณะกรรมการ
o Anti-Corruption (การต่อต้านคอร์รัปชัน) เช่น บริษัทได้มีการลงนามและได้รับการรับรองจากโครงการ “การสร้างแนวร่วมปฏิบัติ เพื่อต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชน” (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption, CAC) แล้วหรือยัง เป็นต้น
และนอกจากแนวทางการคัดเลือกหุ้นที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นแล้ว ร้อยละ 40 ของค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน หรือเทียบเท่าร้อยละ 0.8 ของมูลค่าเงินกองทุนของทุกๆ ปี จะได้รับการจัดสรรเพื่อไปลงทุนในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยที่ดีขึ้น ผ่านมูลนิธิหรือหน่วยงานอื่นใดที่มีส่วนร่วมเพื่อสังคม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยมีคณะกรรมการร่วมเป็นผู้พิจารณาเลือกโครงการ
เห็นไหมครับ การทำความดีที่มาพร้อมโอกาสมั่นคงของการลงทุน สามารถทำได้ครับ
กองทุนรวม คนไทยใจดี เสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 20-28 ตุลาคม 2557 และหลังจากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจลงทุนได้เหมือนเช่นกองทุนเปิดทั่วไปครับ
////การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน////