xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : CG ในมุมมองของนักลงทุนสถาบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Money Tip
วรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด

“บรรษัทภิบาล” หรือ “การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance : CG) ตามความหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ระบบที่จัดให้มีโครงสร้างและกระบวนการของความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่ความเจริญเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่น

ในปัจจุบันนักลงทุนสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกองทุนบัวหลวงเอง ต่างให้ความสำคัญกับบริษัทจดทะเบียนที่มี CG กันมากขึ้น เพราะนอกจากเราจะพิจารณา Business Model และความสามารถในการแข่งขันของบริษัทที่จะเลือกลงทุนแล้ว เรายังพิจารณาความสามารถในการเติบโต หรือความยั่งยืนในการทำธุรกิจระยะยาวกันมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีกับมองประโยชน์ระยะยาวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจของบริษัทจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

การวัดคุณภาพ CG ของบริษัทจดทะเบียนของไทยนั้น นักลงทุนสถาบันจะพิจารณาจากเกณฑ์ที่จัดทำโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และการเข้า Company visit บริษัท เพราะเรื่องการวัดคุณภาพค่อนข้าง Subjective จึงวัดยาก ต้องใช้ประสบการณ์ประเมินมาประกอบการวัด Track record ของตัวเลขทางการเงิน เช่น การเติบโตของกำไร หรือกระแสเงินสดด้วย

ในปี 2545 ที่ผ่านมานับเป็นปีเริ่มต้นแห่งการรณรงค์การมีบรรษัทภิบาลที่ดี โดย IOD ได้จัดอันดับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยหลักเกณฑ์ที่อ้างอิงจากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ประกอบด้วยหลักเกณฑ์รวม 148 ข้อ แบ่งออกเป็น 5 หมวดหลัก ได้แก่ 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อผู้ถือหุ้น 3) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

นอกจากนั้น IOD ได้จัดทำดัชนีการลงทุนในบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ IOD CG Index โดยหากบริษัทใดมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีก็จะได้รับผลการสำรวจในระดับคะแนนดีเลิศ หรือได้คะแนน 5 ดาว (ดังภาพ) โดย CG Rating ในประเทศไทยนับว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ดีในการวิเคราะห์ CG ของแต่ละบริษัท

สำหรับกองทุนในประเทศไทยนับเป็นนักลงทุนสถาบันหนึ่งเช่นกัน ก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อ CG กันมากขึ้น พบว่ามีการตั้งกองทุนสำหรับ CG นี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งกองทุนบัวหลวงได้มีกองทุนลักษณะนี้อยู่ 2 ประเภท ทั้งกองทุนรวมหุ้นทั่วไป อย่าง กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล (BSIRICG) และกองทุน RMF เพื่อลดหย่อนภาษี อย่าง กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาลเพื่อการเลี้ยงชีพ (BSIRIRMF) โดยทั้งสองกองทุนข้างต้นนี้จะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ ต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วย ซึ่งจะระบุไว้อย่างชัดเจนในนโยบายการลงทุนของกองทุน

นอกจากนักลงทุนต่างประเทศ กับในประเทศ (ปัจจุบันมีเฉพาะ กบข.) จะพิจารณา CG แล้ว ยังพบว่ายังพิจารณาถึงหลัก “PRI” (Principles for Responsible Investment) ด้วย ซึ่งริเริ่มเมื่อปี 2006 โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) จากเดิมมี 68 บริษัทเข้าร่วม แต่ปัจจุบันมีกว่า 1,200 บริษัททั่วโลก โดยมีทรัพย์สินที่บริหารรวมกันกว่า 34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นว่านักลงทุนสถาบันได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันมากขึ้น

หลัก “PRI” มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมแนวทางการลงทุนที่ยั่งยืน ด้วยการเป็นนักลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (Environmental Social Governance : ESG) มาพิจารณาประกอบในกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย 6 หลักการปฏิบัติ ได้แก่

1) ต้องเอาหลักการ ESG มาปรับใช้ในการทำวิจัย ทำการวิเคราะห์ เลือกหุ้น หรือตัดสินใจลงทุน

2) สนับสนุนให้นำหลัก ESG มาปฏิบัติในกิจการที่ลงทุนด้วย

3) ให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยประเด็นเกี่ยวกับ ESG สำหรับบริษัทที่จะลงทุน

4) สนับสนุน ESG ให้คนในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม และนักลงทุนสถาบันอื่นๆ

5) ต้องให้ความร่วมมือเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการนำหลักการมาปฏิบัติ

6) ต้องรายงานกิจกรรมและความคืบหน้าในการปฏิบัติตามหลักการให้รับรู้ในวงกว้าง

ประเทศไทยเชื่อว่าหลักการ PRI ยังไม่ได้ถูกใช้แพร่หลาย ส่วนกองทุนบัวหลวงเองมีเกณฑ์หลายประการที่สอดคล้องกับ ESG อยู่ด้วย เช่น

Environment : ธุรกิจในประเทศไทยมีกฎบังคับว่าจะต้องผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment : EIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น เราจึงมั่นใจได้มากพอควรว่าธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เราลงทุนนั้นมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีเพียงพอ นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีกำหนดให้รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในรายงาน 56-1 ทำให้เราได้รับทราบผลกระทบต่อปัจจัยสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่เราลงทุน

Social : ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้าง (หรือไม่ทำลาย) คุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วน ซึ่งเรื่องนี้เราทำเหมือนนักลงทุนสถาบันต่างประเทศคือ พิจารณาให้ครอบคลุมถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับหรือให้การสนับสนุนอาวุธสงครามและยาเสพติดด้วย

Governance : เรานำ CG scoring มาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกหุ้นมาในกองทุนของเรา และเราหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในบริษัทที่เคยมีประวัติด้าน CG ที่ไม่ดี นอกจากนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้นเราได้สอบถามบริษัทที่ลงทุนเกี่ยวกับการเข้าร่วมเจตนารมณ์ต่อต้านการคอร์รัปชันด้วย และ บลจ.ในประเทศไทยยังเปิดเผยแนวทางการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น และรายละเอียดของการใช้สิทธิออกเสียงไว้ในเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ.มาหลายปีแล้ว

การตัดสินใจว่าบริษัทจดทะเบียนไหนเหมาะที่จะลงทุนแล้วหรือไม่ เราก็จะพิจารณาจากองค์ประกอบเหล่านี้เพิ่มเติม

กองทุนบัวหลวง ให้ความสำคัญต่อสิ่งที่บริษัททำและสัมผัสได้ เช่น บริษัทนั้นต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอ มีรายงานผลประกอบการและพบปะกับนักลงทุนทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ มีพนักงาน IR ให้สามารถตอบคำถามได้ชัดเจน มีการให้สัมภาษณ์ในอดีตของผู้บริหารที่อยู่บนความสมเหตุสมผล และผู้บริหารสามารถทำได้อย่างที่พูดจริง เป็นต้น

เราเชื่อมั่นว่า บริษัทที่ดีมีความโปร่งใส มีผู้บริหารที่ชาญฉลาดและจริงใจกับผู้ลงทุนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ในที่สุดจะได้รับการยอมรับและนับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจ ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า และนี่คือบริษัทที่น่าลงทุนเพื่ออนาคตอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น