บลจ.บัวหลวงจับมือ 2 องค์กรเพื่อสังคม เปิด “กองทุนรวมคนไทยใจดี” หรือ BKIND เน้นลงทุนหุ้นทั้ง SET-MAI แต่ล็อกสเปกต้องเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่เข้าเกณฑ์เท่านั้น เผยกระจายลงทุนหลายกลุ่มธุรกิจ ทั้งแบงก์ ประกันภัย พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาหาร เป็นต้น
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำการเปิดกองทุนใหม่ “กองทุนรวมคนไทยใจดี” หรือ BKIND จากความร่วมมือของมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” และสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน โดยกองทุนนี้จะเป็นกองทุน ESGC กองแรกของประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมเงินจากผู้ลงทุนไปลงทุนในกิจกรรมที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) บรรษัทภิบาล (G) และต่อต้านคอร์รัปชัน (C) และจะทำการเปิดขายระหว่างวันที่ 20-28 ตุลาคมนี้ มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทุนจะมีนโยบายการลงทุนในการแสวงหาผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาว โดยจะเน้นการลงุทนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดเอ็มเอไอ หรือตลาดรองอื่นๆ ที่นอกจากจะมีปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่ดีแล้วยังจะต้องเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบต่อสังคมที่ 4 ด้านข้างต้น นอกจากนี้ กองทุนยังมีการมอบรายได้จากการจัดการกองทุน 40% หรือเทียบเท่า 0.8% ของมูลค่าเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนหรือลงทุนในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ อีกด้วย
สำหรับการคัดเลือกหุ้นของเราจะผ่านการคัดถึง 5 ขั้นตอน เริ่มจากการคัดหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ และเอ็มเอไอ 654 บริษัท เหลือ 458 บริษัทจากการดูดัชนี CSRI และต้องผ่านขั้นตอนจนเหลือ 90 บริษัทหลังจากบริษัทได้พิจารณาปัจจัยพื้นฐาน โดยจะต้องมีอัตราการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท และจะต้องมีผลตอบแทนย้อนหลังในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 10% และจะต้องมีหนี้สินต่อสินทรัพย์รวม 0.8% จึงจะได้รับเลือกในการลงทุน
“กองทุนนี้ถือเป็นกองทุนที่มีความผันผวน ซึ่งนักลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงจากการผันผวนได้ ซึ่งจะทำให้คาดหวังไม่ได้ว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไรต่อปี แต่กองทุนนี้จะมีการกระจายการลงทุนในหลายกลุ่มธุรกิจด้วยกัน เช่น แบงก์ 3 แห่ง ประกันภัย มีเดีย 2 แห่ง และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีก 2 แห่ง เป็นต้น ซึ่งกองทุนนี้เป็นการรวมคนที่มีแนวคิดของการให้มาไว้ที่เดียวกันโดยลงทุนผ่านกองทุนเดียวกัน นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการลงทุนที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ คือการให้แก่สังคมและโอกาสในการรับผลตอบแทน” นางวรวรรณกล่าว
ทางด้านนายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการ มูลนิธิเพื่อ “คนไทย” กล่าวว่า สาเหตุที่มูลนิธิฯ เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนคนไทยใจดี เพราะต้องการเห็นคนไทยทุกภาคส่วน รวมทั้งนักลงทุน มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม ร่วมกันปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจขนาดใหญ่ที่อาศัยเพียงกำลังจากภาครัฐคงจะไม่สำเร็จ ภาคตลาดทุนเองก็สามารถช่วยได้ ถ้าดูจากเงินลงทุนในบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 14 ล้านล้านบาทต่อปี เพียง 1% ของเงินจำนวนนี้ถูกแบ่งมาลงทุนเพื่อสังคม ยิ่งจะช่วยทำให้เงินลงทุนอีก 99% นั้นเป็นทุนที่ยั่งยืน เติบโตต่อไปได้อีก ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิฯ และสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน จึงได้เสนอแนวคิดนี้ต่อทีม บลจ.บัวหลวง ร่วมกันออกแบบกลไกเป็นกองทุนรวมตัวนี้ โดยหวังให้เกิดประโยชน์สองด้าน ด้านแรกเป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้สนับสนุนบริษัทที่มีการกำกับกิจการที่ดีตามเกณฑ์ ESG ซึ่งเฉพาะกองทุนนี้ได้ประยุกต์เพิ่มตัว C ที่หมายถึงการต่อต้านคอร์รัปชันเข้าไปด้วย กับอีกด้านเป็นกลไกที่กำหนดให้มีการแบ่งเงิน 0.8% ของผู้ลงทุน โดยจ่ายผ่านกลไกส่วนแบ่งค่าบริหารจัดการร้อยละ 40 ของ บลจ.บัวหลวง ไปสนับสนุนโครงการที่แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคมไทยประเภทต่างๆ
ทางด้านนายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการ สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงโครงการเพื่อสังคมที่มีโอกาสได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนนี้ว่า เป็นโครงการที่มุ่งเน้นสร้างอนาคตใหม่ให้สังคมไทยในประเด็นที่มีความสำคัญ สามารถวัดผลการเปลี่ยนแปลงได้ มีความยั่งยืน ขยายผลได้ และยังมีความเชื่อมโยงกับประเด็นการปฏิรูปประเทศไทยที่สำคัญ เช่น การศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะภาคการเกษตร การทุจริตคอร์รัปชัน การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม