xs
xsm
sm
md
lg

ตลท. หนุน 3 ส่วนธุรกิจ ขับเคลื่อน SE

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

•เผยทิศทางบริษัทใหญ่ระดับโลก เลือกธุรกิจทำกิจการเพื่อสังคมเป็นลำดับต้นๆ
•ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชูยุทธศาสตร์ “กิจการเพื่อสังคม” สร้างความยั่งยืนให้กับ บจ.-บลจ.-เวนเจอร์ แคปปิตอล
ขณะนี้ทิศทางกิจการเพื่อสังคม หรือ SE ของประเทศไทย อยู่ในขั้นการรับรู้ เรียนรู้ของภาคธุรกิจต่างๆ เนื่องจากรูปแบบในการดำเนินธุรกิจนั้นมีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยผ่านกลไกการทำธุรกิจที่มีการบริหารจัดการอย่างประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจ SE มีสถานะทางการเงินเข้มแข็ง อีกทั้งรูปแบบของธุรกิจ และผลกำไรที่ได้นั้นก็นำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปเสริมสร้างธุรกิจที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
เดินเครื่อง “บจ.-บลจ.-เวนเจอร์ แคปปิตอล”
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท.เห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในกิจการเพื่อสังคมตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาตลาดทุนระยะยาวเพื่อผลักดันให้ตลาดทุนให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยระยะแรกจะผลักดันและส่งเสริมให้ 3 ส่วนธุรกิจได้ศึกษาเรียนรู้กิจการเพื่อสังคม พร้อมใช้เป็นแนวทางของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกิจการในระยะยาว ได้แก่ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บลจ.) รวมถึง ผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ เวนเจอร์ แคปปิตอล (Venture Capital)
อย่าง บริษัทจดทะเบียน ได้เสนอแนะให้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการดำเนินงานเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมไปสู่การลงทุนในกิจการเพื่อสังคม และในระยะต่อไป กิจการเพื่อสังคมก็มีโอกาสระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว ปัจจุบันมีตลาดหลักทรัพย์เพื่อสังคม Impact Investment Exchange Asia (IIX) โดยมีภาคเอกชนประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีจุดเด่นด้านสภาพคล่อง ความโปร่งใส และประสิทธิภาพแล้ว ยังเอื้ออำนวยให้กิจการเพื่อสังคมบรรลุพันธกิจด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำให้ผู้ลงทุนที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าลงทุนในกิจการเหล่านี้ด้วย
ส่วนการสนับสนุน บลจ.ให้กองทุนรวมมาลงทุน SE ล่าสุดก็มี บลจ.บัวหลวง ขอจัดตั้งกองทุนรวมที่เป็นการลงทุนกับบริษัททั่วไป 85% และกิจการเพื่อสังคม 15% ขณะเดียวกัน เมื่อเดือนที่ผ่านมา ตลท. ได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตร จัดงาน “InnoBiz Matching Day” ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 เป็นเวทีให้ SMEs ได้นำเสนอแผนธุรกิจแก่แหล่งทุน และพบกับผู้บริหาร บจ. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างโอกาสต่อยอดการทำธุรกิจร่วมกันซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการคัดเลือก 6 ราย ซึ่งมี 1 รายที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม คือ บริษัท วิสาหกิจสุขภาพชุมชน จำกัด เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ทำงานเชิงรุกด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค มุ่งเน้นกลุ่มสิทธิประกันสังคมที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐได้จัดไว้ให้ โดยให้บริการต่างๆ ได้แก่ คัดกรองมะเร็งปากมดลูก และป้องกันเหงือกอักเสบ บำบัด Office Syndrome การฝากครรภ์คุณภาพ (ANC) มีตลาดเป้าหมายคือ กลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน บมจ ใน SET และ mai
ดร.สถิตย์ ย้ำว่า SE นั้นมีความยั่งยืนมากกว่า CSR ที่เป็นการบริจาคช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็น CSR after process เนื่องจากบริษัทตั้งงบประมาณช่วยเหลือเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ใช้หมดไป แต่ SE ต่างกันตรงที่นำวิธีการบริหารธุรกิจเข้ามาใช้ ทำให้เงินทุนที่ลงไปคงอยู่ และได้ผลตอบแทนกลับคืนเป็นกำไร สามารถนำกลับมาขยายงานในองค์กร SE อีกก็ได้แล้วแต่ข้อตกลง ถ้าหากขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย่อมจะส่งผลสังคมโดยรวมดีขึ้น ทำให้ SMEs เกิดมากขึ้น ทำให้คนมีงานทำ และคนด้อยโอกาสก็มีโอกาส เป็นการช่วยลดความลดความเหลื่อมล้ำอีกทางหนึ่งโดยประชาชนเอง

บทบาท ตลท. นำขบวนผลักดัน SE
ดร.สถิตย์ บอกถึงสองบทบาทสำคัญ คือ หนึ่งทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ ฯ มีศักยภาพทางการแข่งขัน สามารถดึงดูดใจนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุน สอง ส่งเสริมให้องค์กรบริษัทจดทะเบียน ( บจ.) เกิดความยั่งยืน โดยการให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงทุนในกิจการที่จะทำให้สังคมเกิดความยั่งยืน ซึ่งไม่ได้หวังผลในเชิงธุรกิจอย่างเดียว แต่ต้องหวังผลให้เกิดความยั่งยืนด้วย
ขณะนี้ ในระดับโลก บริษัทขนาดใหญ่ มองเห็นกิจการเพื่อสังคมทำผลประกอบการได้ดีกว่า ซึ่งเป็นผลตอบรับจากผู้บริโภคที่ให้การยอมรับมากกว่าบริษัททั่วไป ในอนาคตอันใกล้นี้ผู้คนจะยิ่งเลือกบริษัทประกอบธุรกิจที่ทำประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่า เทรนด์จึงมาลงที่กิจการเพื่อสังคม ส่วนกิจกรรรมเพื่อสังคมในไทยกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นจึงถือเป็นโอกาสที่จะก้าวเป็นผู้นำในอาเซียน เพราะขณะนี้ในเอเชีย มีแต่ฮ่องกงเท่านั้นที่รับรู้มากกว่า
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งสนับสนุนเป็นสองด้าน คือ องค์กรธุรกิจใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนให้องค์กรมีข้อกำหนด หรือออกกฎบริษัทที่เป็นการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) และอีกด้าน สื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงองค์กรที่ส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมจะต้องเป็นองค์กรที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดหวังว่า บจ.จะใช้เงินส่วนหนึ่งมาลงทุนกับ SE ซึ่งอาจจะตั้งเป็นองค์กรใหม่ขึ้นมาหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นไปได้ 3 รูปแบบ 1) ใช้เงินลงทุนที่ได้จากการปันผล หรือ เงินลงทุนเพิ่มเติม 2) ตั้งเป็นองค์กรใหม่ขึ้นมารองรับ โดยไม่ลงทุนร่วมกับองค์กรอื่น 3) ไปร่วมลงทุนกับองค์กรอื่น แต่แนวคิดสำคัญอยู่ที่การนำหลักการบริหารจัดการธุรกิจมาสร้างผลตอบแทน และต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทด้านไอทีที่ให้คนพิการเข้ามาเป็นผู้ปฏิบัติงาน 50% ลักษณะงานเท่ากับว่าช่วยเหลือสังคม คือดูแลผู้การ ขณะเดียวกันก็ทำกำไร บจ. อาจจะตั้งบริษัทด้านนี้ขึ้นมาเอง ถือหุ้นก็ได้ หรือ จอยเวนเจอร์ ก็ได้ แทนการบริจาคให้คนพิการ เพราะบริจาคแล้วก็จบไป แต่ธุรกิจเพื่อสังคมยังคงอยู่ ทำให้กิจการมีความยั่งยืน เราอยากให้ บจ. มีความยั่งยืน ไม่เช่นนั้น งบประมาณก็ต้องตั้งทุกปี ไม่มีสิ้นสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น