xs
xsm
sm
md
lg

iCARE AWARD โจทย์ของจริงปั้นครีเอทีฟเพื่อสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปั้นครีเอทีฟเพื่อสังคม โค้งสุดท้าย มี 3 ทีมได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 30,000 บาท
•โครงการ iCARE Award 2014 โค้ชน้องเปลี่ยนโลก : Creative Volunteer Contest ล่าสุดเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนประกาศผลหาผู้ชนะเลิศ กลางเดือนพ.ย.นี้
•อีกแนวทางสร้างครีเอทีฟเพื่อสังคมรุ่นใหม่
•เบื้องหลัง iCARE พัฒนาต่อยอดงาน CSR โดยแมกโนเลีย ที่ไปเสริมสร้างกิจการเพื่อสังคม
ธรากร กมลเปรมปิยะกุล และวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โครงการ iCARE Award 2014 : โค้ชน้องเปลี่ยนโลก ทั้ง 3 ทีมครีเอทีฟและโจทย์การประกวด ได้ทำการพรีเซนต์ เพื่อติดตามการทำงาน หรือ Workshop Follow Up โดยยังเหลือเวลาอีก 2 เดือน หรือประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2557 สำหรับการตัดสินหาทีมผู้ชนะเลิศ เป็นทีมนักสร้างสรรค์ผลงานโฆษณาเพื่อสังคม หรือ Creative Social Agency
นอกจากเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศ 100,000 บาท รองชนะเลิศ 80,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง 60,000 บาท สิ่งที่นักศึกษาผู้เข้าประกวด 3 ทีมๆ ละ 4 คน รวม 12 คน จะได้มากกว่า ก็คือตลอดระยะเวลาในการทำงานสร้างสรรค์งานโฆษณาเพื่อสังคม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม มีครีเอทีฟเอเยนซีตัวจริงจาก 3 เอเยนซีคอยเป็นโค้ชดูแลแนะนำน้องๆ นักศึกษา
ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นแนวปฏิบัติโดยการสร้างโจทย์ฝึกฝน สร้างสรรค์งานโฆษณาเทียบเท่างานจริงๆ ของเอเยนซีโฆษณาก็ว่าได้ เนื่องจากเกณฑ์ในการตัดสินและให้คะแนนพิจารณาจาก 3 ส่วนสำคัญ
1) 30% จากความคิดสร้างสรรค์ หมายถึงจะต้องมีความคิดริเริ่มที่น่าสนใจ นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ที่โดดเด่นและแตกต่าง
2) 40% จากการสร้างการรับรู้และสร้างผลกระทบ หมายถึงสามารถสื่อสารและสร้างการรับรู้ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ช่วยขยายผลการดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคมให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขปัญหาทางสังคมได้จริง
3) 30% นำไปดำเนินงานได้จริงในงบประมาณที่เหมาะสม มีความเป็นไปได้และสามารถนำไปผลิตได้ผลจริง


ทั้งนี้ โจทย์การประกวดแผนการทำงานเพื่อสังคม และเป้าหมายจึงมีโจทย์ที่แตกต่างกันเพื่อให้งานสร้างสรรค์กิจการเพื่อสังคมถูกนำไปใช้งานจริงในหลากหลายกิจการ
1)โครงการสนับสนุนการศึกษาในชุมชนแออัด กับมูลนิธิดวงประทีป ของ บริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร มีแนวคิดต้องการสนับสนุนการศึกษาในชุมชนแออัดอย่างจริงจัง เพราะการศึกษาจะช่วยแก้ปัญหาและเปลี่ยนชุมชนแออัดซึ่งเป็นแหล่งอาชญากรรม ยาเสพติดและความรุนแรงให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนของประเทศ
สิ่งที่ต้องทำและเป้าหมาย “ทำอย่างไรจะทำให้คนสนับสนุนการศึกษาในชุมชนแออัดอย่างจริงจังร่วมกับมูลนิธิดวงประทีป”
2)โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เตาชีวมวลกับเครือข่าย มานะ Energy มานี Power ของ CreativeMOVE: Social Innovation Agency เพื่อต้องการให้ผลิตภัณฑ์ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นธุรกิจแล้วได้รับการออกแบบให้มีรูปลักษณ์น่าใช้ สะดวกต่อการใช้งาน เคลื่อนย้ายง่าย
สิ่งที่ต้องทำและเป้าหมาย “ พัฒนาผลิตภัณฑ์เตาให้มีประสิทธิภาพขึ้น มีความปลอดภัยขึ้น และมีต้นทุนที่ถูกลง, ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีรูปลักษณ์สวยงามน่าใช้ สะดวกต่อการใช้งานและเคลื่อนย้ายได้, วางแผนประสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ สร้างการรับรู้ และสื่อสารให้สังคมเข้าใจเรื่องพลังงานหมุนเวียนเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ไม่ยาก”
3)โครงการรณรงค์ขนส่งสาธารณะเพื่อคนทั้งมวล ของ บริษัท WHY NOT Social Enterprise โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้ทุกคนทั้งคนพิการ คนท้อง คนแก่ แม่ลูกอ่อนและเด็กเล็กสามารถใช้งานร่วมกันได้เพื่อสร้างสังคมให้เท่าเทียมอย่างแท้จริง
สิ่งที่ต้องทำและเป้าหมาย “จะพูดกับคนวงกว้างอย่างไร ให้มองเห็นถึงความสำคัญของการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะที่คนทุกคน (คนพิการ คนท้อง คนแก่ แม่ลูกอ่อน และเด็กเล็ก) ใช้ร่วมกันได้ และให้คนวงกว้างส่งแรงผลักเพื่อให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นจริง, แก้ปัญหาที่เป็นอยู่ได้จริง สร้างสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันได้จริง”
ธรากร กมลเปรมปิยะกุล ผู้จัดการทั่วไป องค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม iCARE กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง 3 ทีม อยู่ในระหว่างการสร้างสรรค์ผลิตผลงานจริง โดยแต่ละทีมจะได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 30,000 บาท และนักศึกษาทุกคนในทีมได้รับเบี้ยเลี้ยงระหว่างประกวด 2 เดือน คนละ 8,000 บาทต่อเดือน
ขณะนี้การพัฒนาองค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม iCARE โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันมากขึ้น ทั้งทีมภาคีที่เป็นภาคทำงานเพื่อสังคม องค์กรเอเยนซี ทีมงานโปรดักชัน ตลอดจนกระทั่งแฟนเพจขององค์กรที่มีผู้คนเข้ามาร่วมติดตามเรื่องราว และในเร็วๆ นี้ เรามีแนวคิดในการจัดตั้ง iCARE Club ซึ่งจะเป็นคลับครีเอทีฟเพื่อสังคม เพื่อให้เป็นสถานที่แหล่งนัดพบของผู้คนที่ต้องการทำงานเพื่อสังคมสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงการร่วมกันสร้างสรรค์งานเพื่อสังคม
ด้าน วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินโครงการ iCARE กล่าวเสริมว่า แต่ละโจทย์ที่มอบหมายให้น้องๆ ส่งแผนการทำงานเพื่อสังคมเข้าประกวดจะทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์จริงในการทำงาน โดยเฉพาะนักศึกษาที่ถูกคัดเลือกเข้าทีมจะได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าธุรกิจเพื่อสังคมดีอย่างไร ดีต่อสังคม ต่อชุมชนและต่อสังคมโลก จากการได้ร่วมปฏิบัติงานกับพี่ๆ เอเยนซีทั้ง 3 แห่ง เป็นเวลานานถึง 2 เดือนเต็ม
ครีเอทีฟตัวจริง คอยเป็นโค้ชแนะนำน้องๆ เหมือนการทำงานจริง
แมกโนเลีย ต่อยอด CSR เป็น iCARE
แมกโนเลีย เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทดีที ดำเนินงานธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในระดับสากล ภายใต้แนวคิด “คิดและสร้างเพื่อความยั่งยืนของมนุษย์ - Think and Create for Human Sustainability” เช่น แมกโนเลีย ราชดำริ บูเลอวาร์ด โครงการอาคารชุดใจกลางของมหานครกรุงเทพ, บ้านพักตากอากาศสไตล์ เฟรนช์ คันทรี ที่พักพิงในวันแสนสบายด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นต้น
จากจุดเริ่มที่จัดประกวด iCARE Award เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2551 ในหัวข้อนวัตกรรมโครงการที่พักเพื่อคนชราและเด็กกำพร้า ผลจากการประกวดในครั้งนั้น นอกจากมีผู้สนใจส่งแผนธุรกิจเพื่อสังคมในหัวข้อดังกล่าวกันมากแล้ว นับว่าเป็นจุดแรกที่ทำให้บริษัทเล็งเห็นว่า ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่มีหัวใจอยากเห็นโลกที่ดีขึ้น และเมื่อบวกกับแนวคิดของบริษัทที่มุ่งมั่น
ซึ่งอีก 2 ปีต่อมาจัดโครงการ “ฉลาดแกมดี” เป็นครั้งที่สอง โดยหวังจะขยายแนวคิดสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมของกิจการธุรกิจเพื่อสังคมผ่านแผนธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง และในครั้งที่สาม ปี 2555 จัดโครงการ “ครีเอทีฟอาสา” ต้องการประชาสัมพันธ์และสร้างแบรนด์ให้กิจการเพื่อสังคมที่ได้รับการคัดเลือกเป็นที่รู้จักในสังคม
องค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม iCARE ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง รวบรวมและบอกเล่า ขยายต่อเรื่องราวของคนทำงานภาคสังคมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นที่รับรู้ในหมู่ผู้คนอย่างแพร่หลาย ผ่านรูปแบบและกิจกรรมต่างๆ ที่ทำหน้าที่สื่อสารอย่างมีเสน่ห์ ผ่านการสร้างสรรค์ เข้าใจง่าย เพื่อให้เข้าถึงและสามารถเชื่อมโยงแต่ละภาคส่วนในสังคม และคาดหวังให้ก่อเกิดเป็นความร่วมมือที่ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อโลกที่ดีกว่าเก่าตามความถนัดของแต่ละคน
ก่อนหน้านี้ การช่วยเหลือสังคม ดำเนินการภายใต้มูลนิธิพุทธรักษา ตามเจตนารมณ์ของ ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดีที มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มิได้มุ่งหวังให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่ยังตระหนักถึงความสำคัญที่ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
มูลนิธิพุทธรักษา จึงเป็นองค์กรช่วยเด็กที่ขาดโอกาสให้ได้รับโอกาสทางด้านการศึกษา และพัฒนาทางความคิดและจิตใจผ่านทางพระพุทธศาสนาควบคู่กัน คาดหวังให้เด็กได้เติบโตทั้งความรู้และจิตใจไปพร้อมกัน เพื่ออนาคตของเด็กๆ ที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง และนำความรู้ความสามารถไปสร้างอนาคตที่เข้มแข็งให้กับประเทศชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น