xs
xsm
sm
md
lg

“ราชบุรีโมเดล” นำร่องเดินเครื่อง รวมพลังเครือข่าย CSR/ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การส่งเสริมภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ด้านการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR)”
หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2558-2560) เมื่อปลายเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมุ่งเน้นให้รัฐบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเร่งพัฒนาและยกระดับฐานรากของสังคม
“พัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัดราชบุรี” จึงเดินหน้าโครงการ “ราชบุรีโมเดล” ผลึกพลังความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของจังหวัดราชบุรีให้เป็นไปในทิศทางที่นำไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ
รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์
การขับเคลื่อนเชิงรุกของจังหวัดราชบุรีครั้งนี้ เปิดฉาก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การส่งเสริมภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ด้านการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR)”

รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ หัวหน้าคณะทำงานของคณะอนุกรรมการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการสวัสดิการสังคมแห่งชาติ เล่าให้ฟังว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งใจผลักดันยุทธศาสตร์ CSR ไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยประธานคณะอนุกรรมการฯ ไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวง มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) นำยุทธศาสตร์ฯ นี้ไปดำเนินการในแต่ละจังหวัด โดยจังหวัดราชบุรีได้อาสาเป็นจังหวัดนำร่องในพื้นที่ภาคกลาง และสงขลา เป็นจังหวัดนำร่องในภาคใต้ด้วย
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม โดยความร่วมมือจาก สุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนประธานหอการค้าจังหวัดราชบุรี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี องค์กรธุรกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีการระดมความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ และยังมีการสร้างเครือข่ายเพื่อทำงานร่วมกันในอนาคตด้วย
หลายหน่วยงานที่ได้ร่วมหารือเพื่อจะช่วยเสริมให้การขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคเอกชนเกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ กรมป่าไม้ ให้คำแนะนำในการจัดทำป่าชุมชนและห้องเรียนธรรมชาติ โรงพยาบาลศิริราช เข้าช่วยด้านสาธารณสุข อนุกรรมการส่งเสริมอาชีพคนพิการ หอการค้าไทยเข้าร่วมส่งเสริมงานด้านผู้พิการ เป็นต้น
“การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ได้เห็นข้อมูลภาพรวมของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของจังหวัดราชบุรีแล้ว ยังเป็นโอกาสแก่บริษัทหรือผู้ที่มีจิตอาสา/จิตสาธารณะทั้งหลายได้รวมพลัง CSR ของทุกภาคส่วนให้ทำงานที่สนใจร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นผลดีต่อการพัฒนาฐานรากของสังคมในวงกว้างมากขึ้น”

รัชนี ตรัยตรึงศ์โกศล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ภายใต้พลังความร่วมมือครั้งนี้ พม. มุ่งหวังให้จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดต้นแบบในการสนับสนุน “โครงการส่งเสริมภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม จังหวัดราชบุรี ด้านการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR)” จากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จำนวน ๒๐ คน เพื่อดำเนินงาน พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะรูปแบบการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งทำการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการฯ
ขณะที่ สมนึก จินดาทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด กล่าวว่า การทำโครงการฯ ครั้งนี้ เพราะเห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อจังหวัดราชบุรีโดยตรง ขณะที่มีกิจกรรมเพื่อสังคมที่จังหวัดราชบุรีมาโดยตลอด และยังได้จัดทำโครงการ CSR in school เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้หน้าที่ของการเป็นพลเมืองดี และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง CSR-DIW ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยร่วมกับโรงเรียนใน 4 อำเภอ จำนวน 27 โรงเรียน และในปี 2559 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีจะจัดทำโครงการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนกลุ่มโรงเรียนดังกล่าว
ผลจากการเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯในครั้งนี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรียังได้แนวร่วมในการดำเนินโครงการสอนภาษาอังกฤษจากบริษัทที่อยู่ในจังหวัดราชบุรีด้วย ฉะนั้น ในขั้นตอนต่อไป จะร่วมมือสร้างเครือข่ายกับองค์กรธุรกิจที่แจ้งความจำนงเพื่อทำงานร่วมกัน ในการเสริมความรู้ด้านการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เด็กนักเรียนมีความพร้อมรองรับต่อการเปิด AEC ต่อไป
ขั้นต่อไปของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ CSR ของ “ราชบุรีโมเดล” ก็คือ การก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจจังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ มีฐานข้อมูลเครือข่ายฯ มีการประชาสัมพันธ์ต่อสื่อสาธารณะ มีการยกย่ององค์กรที่ทำความดีเพื่อสังคม ฯลฯ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน จะได้เป็นการพัฒนาศักยภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดราชบุรีให้มีความเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป
บรรยากาศในการประชุมเชิงปฏิบัติการ
ข้อคิด...
กรณี “ราชบุรีโมเดล” ข้างต้น นับเป็นความหวังของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในรัฐบาลนี้ที่ใช้ราชบุรีเป็นจังหวัดในภาคกลาง และสงขลา เป็นจังหวัดนำร่องในภาคใต้
เราได้เห็นความตื่นตัวที่นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดปลัดกระทรวง ผนึกกำลังภาคเอกชนด้วย ผู้นำหอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่ได้ชักชวนธุรกิจในจังหวัดและตัวแทนภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมประชุม มีการระดมความคิดและทำงานร่วมกันด้านกิจกรรมเพื่อสังคม
จะว่าไปแล้วนั่นเป็นกิจกรรมนอกกระบวนการธุรกิจ หรือ CSR-after-process ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่มักมีโครงการสาธารณะกุศลอยู่แล้ว เมื่อมีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และมีคณะกรรมการส่งเสริมธุรกิจที่มี CSR ของภาคธุรกิจ โดยมีศูนย์ประสานงานซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาในการขับเคลื่อนอย่างเป็นเครือข่าย และให้แม้เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นการปลูกป่า หรือช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ก็ให้มีการเรียนรู้และเน้นที่ในท้องถิ่นก่อน
แต่เมื่อดูที่เป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ CSR ก็พบว่า ต้องการเห็นภาคธุรกิจดำเนินการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทำงาน (CSR-in-process) เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขณะนี้ ในระดับสากลมีเงื่อนไขให้เปิดเผยข้อมูลที่มาของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นที่มาของแหล่งวัตถุดิบ แรงงาน การปล่อยมลพิษ รวมทั้งด้านสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ การค้าเป็นธรรม ฯลฯ
การทำธุรกิจที่มี CSR ในกระบวนการทำงานจึงเท่ากับว่าได้เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยลดความเสี่ยงจนนำไปสู่ความยั่งยืนได้
ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับกระบวนการธุรกิจพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ให้เป็นห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) เพื่อสร้างการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศด้วย
อย่างไรก็ตามผมได้คุยกับ รศ.ทองทิพภา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานได้ลงพื้นที่ราชบุรี ก็ได้ความว่าโรงงานส่วนใหญ่ที่นั่น เป็นกลไกการผลิตของบริษัทขึ้นนำระดับประเทศไทย เช่น บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เอสซีจีแพ็คเก็ตจิ้ง และเครือสหพัฒนพิบูลย์ เป็นต้น ซึ่งล้วนมีแนวปฏิบัติด้าน CSR-in-process ที่มีมาตรฐานจนได้ใบรับรอง CSR-DIW ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว
แสดงว่าบริษัทขนาดใหญ่ข้างต้นที่ดำเนินการในแนวทางมาตรฐานสากล ISO-26,000 นั้นไม่น่าเป็นห่วงเรื่อง CSR ในกระบวนการธุรกิจ แต่กิจการขนาดย่อยหรือ SME จำเป็นต้องเรียนรู้การยกระดับให้สามารถเป็นต้นน้ำ CSR ในกระบวนการทำงาน

โครงการนี้เมื่อได้ผลชัดเจนก็จะเป็นต้นแบบที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯจะนำไปขยายผลในจังหวัดอื่นๆ หรือขับเคลื่อนเป็นกลุ่มก็น่าจะดี
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น