•ครั้งแรกในไทยที่มีการคัดเลือกองค์กรดำเนินธุรกิจในลักษณะ “กิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ” และก่อตั้งเป็นเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ THAI-SEED
•นับเป็นการขับเคลื่อนครั้งสำคัญเพื่อให้คนพิการเป็นผู้ประกอบการ/ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีความเข้มแข็ง สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการได้ยั่งยืน
ในวันที่ 8 สิงหาคม 2557 นี้ ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท สํานักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป ได้จัดงานสัมมนา “กิจการภาคสังคมเพื่อคนพิการระดับอาเซียน” (ASEAN INCLUSIVE ENTERPRENEURSHIP FORUM 2014)
ประกอบด้วยการแสดงนิทรรศการโมเดลกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการของไทย 30 องค์กร และจากชาติสมาชิกอาเซียน พร้อมทั้งการเสวนาแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือแบบไตรภาคี คือ รัฐ-เอกชน-สังคม
โดยเฉพาะในการนำเสนอโมเดลการส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อคนพิการตามมาตรา 35 จากองค์การเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เทสโก้ โลตัส บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะเดียวกัน THAI-SEED นำเสนอผลการดำเนินงานของสมาชิกต่อบริษัทองค์กร และนักลงทุนที่สนใจ ด้านให้คำปรึกษาภาคเอกชนและองค์กรเพื่อคนพิการเพื่อดำเนินมาตรา 35 ให้คำปรึกษาด้านการเงินรายย่อย (Micro Finance) และการเจรจาโอกาสและการพัฒนาทางธุรกิจ (Business Matching)
ซึ่งคาดว่างานครั้งนี้จะทำให้สังคมไทยและอาเซียนได้รับรู้และเชื่อมั่นต่อการจัดตั้งเป็นเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมของคนพิการในประเทศไทย (THAI-SEED)
เป้า SE เพื่อผู้พิการสามารถช่วยเหลือตนเองได้ยั่งยืน
ชัยยุทธ ชำนาญเลิศกิจ ประธานและผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานที่ได้ก่อตั้งเป็นเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ โดยก่อตั้งเป็นเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ ในนาม “สมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการไทย” หรือ THAI SOCIAL ENTERPRISE for EMPOWERING the DISABLED ASSOCIATION (THAI-SEED) ว่าเป็นการต่อยอดจากงาน พม. ที่ช่วยเหลือคนพิการ คนด้อยโอกาส ที่เริ่มจากขั้นแรกการเยียวยา ขั้นที่สองสงเคราะห์ และกำลังอยู่ในขั้นที่สาม เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้คนพิการสามารถกลับเข้าสู่สังคม หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือการเสริมสร้างให้ผู้พิการไทยทำมาหากินได้ด้วยตนเอง หรือเป็นเจ้าของกิจการได้
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมและขีดความสามารถขององค์กรคนพิการในทักษะ“ความเป็นผู้ประกอบการ” หรือ “Entrepreneurship” พื้นฐานในการสร้างกิจการพัฒนาทีมงานและระบบการบริหารจัดการที่ดีขององค์กร (Enterprising) พัฒนากลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจ (Social Business Strategy) การพัฒนาสินค้า/บริการ (Products & Services Development) ศักยภาพในการเข้าถึงตลาด และการเชื่อมโยงห่วงโซ่ทางธุรกิจ (Market Access & Business Supply Chain) ทั้งหมดล้วนแต่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการส่งเสริมให้กิจการเพื่อสังคมเพื่อให้คนพิการเติบโต อยู่รอด และมีความยั่งยืน
นอกจากมิติของการพัฒนาศักยภาพของกิจการเพื่อสังคมในองค์กรแล้ว มิติของการพัฒนาเครือข่ายและภาคส่วน (Cluster & Networking) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาด ตลอดจนการสร้างความร่วมมือพันธมิตรในการขยายผลสัมฤทธิ์ทั้งในเชิงธุรกิจและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาความเข้มแข็งของแผนยุทธศาสตร์การสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการในยุทธศาสตร์ที่ 3 ก็คือ การพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรคนพิการ และกิจการภาคสังคมสำหรับคนพิการ
THAI-SEED ตัวกลางขับเคลื่อน
ด้าน สุกลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ ผู้จัดการโครงการกิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป กล่าวถึง การที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ได้ดำเนินงานวิจัยศึกษารูปแบบการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่คนพิการในปีที่ผ่านมา ว่าเป็นการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่คนพิการ จากกรณีศึกษาในประเภทธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย และศึกษาปัจจัยสำคัญในการพัฒนากิจการเพื่อสังคม เพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้แก่คนพิการได้อย่างยั่งยืน
โดยนำไปเผยแพร่ให้กลุ่ม/องค์กรคนพิการและผู้ประกอบการเพื่อคนพิการ ได้ศึกษาเป็นแนวทางในการสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสในเชิงธุรกิจ นับว่าเป็นการต่อยอดงานศึกษาวิจัยสู่การพัฒนาและนำร่องการปฏิบัติเพื่อขยายผล โดยการนำรูปแบบมาค้นหากิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนนำแนวปฏิบัติที่ดีจากงานวิจัยมาเผยแพร่สร้างขีดความสามารถและความเข้มแข็งสู่เครือข่ายกิจการเพื่อสังคมในประเทศ
ดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ จึงดำเนินโครงการการจัดตั้งเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่คนพิการ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒและกิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มคนพิการ ส่งเสริมให้คนพิการ/องค์กรคนพิการ นำทักษะความเป็นผู้ประกอบการมาพัฒนาโอกาสในการสร้างงานสู่คนพิการ ตลอดจน สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขยายความสามารถในการเติบโตขององค์กรที่ยั่งยืน
“ส่วนการจัดตั้งอาเซียนเน็ตเวิร์คนั้นมีการจัดตั้งมาก่อนหน้า แต่เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สังคมไทยรับรู้ เหมือนเช่นสังคมญี่ปุ่นที่ทราบกันดีว่าคนพิการสามารถประกอบอาชีพเหมือนคนปกติ ดังนั้น การจัดตั้งเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมของคนพิการไทย จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในสินค้า-บริการ โดยมีสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการไทย หรือ THAI-SEED เป็นผู้ประสานให้หน่วยงานทั้ง 3 ฝ่ายร่วมมือ คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา” สกุลทิพย์ กล่าว และว่า
“จะเห็นว่าโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนการดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ด้านการประกอบธุรกิจภาคสังคมเพื่อคนพิการระดับอาเซียน (ASEAN Network of Expert on Entrepreneurship) ตามกรอบยุทธศาสตร์อาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาพ.ศ. 2554-2558 (ASEAN Strategic Framework on Social Welfare and Development 2011-2015) ในแนวทางที่ 2 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Capacity Building in Human Resource)”
ส่วนประเด็นการจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการประกอบกิจการเพื่อสังคม (Establishment of an ASEAN Network of Expert on Entrepreneurship) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงานนั้นก็จะเป็นการพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยกลไกของความเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานร่วมบูรณาการตลอดจนเชื่อมโยงองค์ความรู้ ความร่วมมือทั้งภายในประเทศ และระดับอาเซียนในลำดับถัดไป
THAI-SEED : กิจการสังคมเพื่อผู้พิการ
กิจการเพื่อสังคม หมายถึง ธุรกิจหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อม โดยมีรายได้หลักมาจากการค้า หรือให้บริการ (มากกว่าการบริจาค) เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน และนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนซ้ำเพื่อบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ทางสังคมที่ตั้งไว้
เครือข่ายกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ ในนาม “สมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการไทย” หรือ THAI SOCIAL ENTERPRISE for EMPOWERING the DISABLED ASSOCIATION (THAI-SEED) จึงนับว่าเป็นการเสริมจุดแข็งของสองภาคส่วนเข้าด้วยกัน คือ การจัดการที่มีประสิทธิภาพของภาคธุรกิจเอกชน ร่วมกับความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาของภาคสังคม ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่มีนวัตกรรมและมีความยั่งยืน