xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : ทำความรู้จักกับ ESG

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดย ปฐมินทร์ นาทีทอง
ทีมจัดการกองทุนบัวหลวง

คำพูดติดปากที่ใครๆ ก็ชอบนำมาใช้เพราะเป็นกระแสที่มาแรงในช่วงนี้ ที่พวกเรามักได้ยินกันบ่อยๆ ได้แก่คำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development แต่เชื่อว่าบางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร และมีแนวทางอย่างไร ในขณะที่บางท่านอาจมองแค่ว่าคือการลดโลกร้อน ประหยัดน้ำ หรือปลูกป่าเพื่อช่วยเหลือสังคม ในขณะที่บางกลุ่มอาจมองในแง่ลบว่าเป็นเพียงการทำการตลาดเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของทางบริษัทเท่านั้น แต่ความจริงแล้วสิ่งนี้คืออะไรกันแน่? มีประโยชน์และจะส่งผลอย่างไรบ้างต่อการตัดสินใจของทีมบริหารรวมทั้งนักลงทุนทั่วไป ในบทความนี้เราจะนำผู้อ่านไปทำความเข้าใจ และเรียนรู้เรื่องราวของ ESG ไม่ใช่แค่เพียงในแง่มุมของผลกระทบต่อสังคมเท่านั้น แต่ในแง่มุมของการดำเนินงาน บริหารกิจการ และการลงทุน

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development ครอบคลุมองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ E-Environmental สิ่งแวดล้อม S-Social สังคม และ G-Governance บรรษัทภิบาลของบริษัท (ทั้งในภาครัฐ และเอกชน) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ESG โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งกระทบโดยตรงต่อผลกำไรบริษัท ไปพร้อมๆ กับสิ่งแวดล้อม และสังคม เพราะฉะนั้นเมื่อบริษัทให้ความสำคัญต่อ ESG บริษัทจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายระยะสั้น และเป้าหมายระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่เติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน และดูแลรับผิดชอบสังคมรอบข้างไปพร้อมๆ กัน เรามาทำความรู้จักและเข้าใจข้อดีในแต่ละด้านกัน
    
E - Environmental (ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม): โลกเราขณะนี้กำลังประสบปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และภาวะโลกร้อน บริษัทจำเป็นต้องบริหารจัดการ โดยใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ การลดปริมาณวัตถุดิบเพื่อลดการใช้ทรัพยากร และขยะที่อาจเกิดขึ้น หรือแม้แต่การปลูกป่าทดแทนหลังจากได้ตัดต้นไม้ไปใช้เป็นวัตถุดิบ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงบวก แต่ยังส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทด้วย เช่น การลดการใช้วัตถุดิบ หรือการใช้วัตถุดิบอย่างสร้างสรรค์ในกระบวนการผลิตขวดน้ำดื่มบางยี่ห้อ นอกจากจะลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบของบริษัทได้มากขึ้น 10-30% เลยทีเดียว
    
S - Social (ปัจจัยด้านสังคม): การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และความเป็นอยู่ของสังคม ทั้งภายในและภายนอกองค์กรเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่จะช่วยพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากภายในองค์กรก่อน เช่น การเปิดโอกาสให้คนพิการเข้าทำงาน หรือการมีสวัสดิการรองรับพนักงาน เช่น ค่ารักษาพยาบาล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อการเกษียณ รวมถึงการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม เนื่องจากจะมีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพในพนักงานและผลการดำเนินงานของกิจการ ยกตัวอย่างเช่น การใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยของพนักงานที่ต้องทำงานอยู่กับสารเคมีอันตรายทุกวัน โรงงานควรจัดหาอุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐานให้พนักงานทุกคนเพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมี ตลอดจนติดตั้งระบบถ่ายเทอากาศที่ดี ซึ่งแน่นอนว่าการจะจัดหาอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ รวมถึงติดตั้งระบบถ่ายเทอากาศอาจต้องใช้เงินจำนวนมากก็ตาม ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทควรตอบแทนด้วยการคืนกำไรให้สังคม เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนรอบข้างบริษัท เช่น การขุดลอกคูคลอง สอนหนังสือ พัฒนาความรู้ให้เด็กในชุมชน หรือบริจาคเงินให้องค์กรการกุศล เป็นต้น
    
G - Governance (ปัจจัยด้านบรรษัทภิบาล): บรรษัทภิบาลที่ดี คือการมีระบบบริหารจัดการภายในที่ดี เพื่อให้องค์กรดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาการฉ้อโกง ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ผลประกอบการเติบโตขึ้น บุคคลภายนอกยังเชื่อมั่นในบริษัทมากขึ้น อันจะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืนหนึ่งในตัวอย่างของโครงสร้างองค์กร คือการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจนของ CEO และ Board of Director ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองหน้าที่นี้ควรถูกแยกออกจากกัน เพื่อเป็นการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของบริษัท เพราะถ้าหาก CEO เป็น Chairman of Board of Director บุคคลนั้นๆ จะมีอำนาจโดยเบ็ดเสร็จ และอาจสร้างแรงจูงใจในการฉ้อโกงผลประโยชน์ของบริษัทมาเป็นของพรรคพวกตนเอง ยกตัวอย่างเช่น การอนุมัติจ่ายผลตอบแทนผู้บริหารที่มากเกินควร หรือการใช้ทรัพย์สินของบริษัทในทางที่ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์โดยรวมของผู้ถือหุ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในบริษัทที่ประสบความสำเร็จระดับโลก เช่น J.P. Morgan Chase ก็มี CEO และ Chairman เป็นคนเดียวกัน ซึ่งก็ไม่เป็นเรื่องเสียหายหากมีระบบตรวจสอบที่รัดกุม
    
บริษัทที่มีการบริหารจัดการภายในที่มีคุณภาพและโปร่งใส ตลอดจนสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีกับพนักงาน จะทำให้บริษัทสามารถลดความเสี่ยงด้านการฉ้อโกง ลดอัตราการลาออก ลดต้นทุนการฝึกพนักงานใหม่ ตลอดจนเพิ่มคุณภาพและผลผลิตของสินค้าต่อพนักงาน สิ่งเหล่านี้จะเพิ่มผลกำไรซึ่งจะกระทบต่อมูลค่าของบริษัท และยังมีส่วนช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย
    
ดังนั้น การลงทุนในบริษัทที่บริหารจัดการที่คำนึงถึงองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านของ ESG จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอะไรที่มากกว่าแค่เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่เป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มโอกาสในการเติบโตของธุรกิจอย่างมั่นคงในระยะยาว
    
ในแง่การคัดเลือกบริษัทที่เข้าข่ายมี ESG ที่ดีนั้น นักลงทุนอาจเริ่มด้วยการคัดเลือกบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือสิ่งผิดกฎหมาย เช่น บุหรี่ สุรา การพนัน หรือ บริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อม จากนั้นจึงเลือกลงทุนในบริษัทที่มี ESG ที่ดีตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสามารถคัดเลือกบริษัทที่มี ESG ที่ดีได้ เนื่องจากในปัจจุบันได้มีสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ทำการวิเคราะห์ คัดเลือก จัดอันดับ และให้รางวัลบริษัทที่มี ESG ที่ดี เพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น สถาบัน CSRI (Corporate Social Responsibility Institute)
    
โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ทำการจัดอันดับบริษัทที่มี ESG  ที่ดี หรือการดูจากองค์กรระดับ Global เช่น ดัชนี DJSI (Dow Jones Sustainability Index) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสำหรับบริษัทที่ดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ถูกจัดตั้งและดูแลโดย S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM (Sustainable Asset Management) ซึ่งในปัจจุบันบริษัทไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้า DJSI ได้แก่ SCG PTT PTTGC MINT BANPU PTTEP และ TOP นอกจากนี้ สถาบัน AIM-RVR CSR Center ที่ให้รางวัลให้แก่บริษัทที่มี ESG ที่ดีในภูมิภาคเอเชีย ก็เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญเช่นเดียวกัน
    
องค์ประกอบ ESG ทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมานั้น มีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตที่ยั่งยืนของบริษัท อย่างไรก็ตาม มีอีกสิ่งหนึ่งที่บริษัทที่ประสบความสำเร็จขาดไม่ได้ ก็คือการบริหารจัดการโดยปราศจากการคอร์รัปชัน  โดยในบทความต่อไปเราจะเจาะลึกถึงวิธีการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ที่ดี ตลอดจนมีการใส่ใจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน (C-Corruption) ทั้งภายในองค์กรและระดับประเทศ ที่นักลงทุนทุกคนสามารถทำได้อย่างง่ายดายผ่านการลงทุนในกองทุนรวม


กำลังโหลดความคิดเห็น