xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : มุมมองการลงทุนต่อปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยพิชา เลียงเจริญสิทธิ์
บลจ.บัวหลวง

ปัจจัยภายในประเทศ
    
แม้จะมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายและเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นในครึ่งปีหลัง 2557 แต่ช่วง 1 เดือนแรกหลังจากเหตุการณ์ (เดือนมิ.ย.) ตลาดหุ้นไทยได้พักฐานโดยเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways เกือบตลอดทั้งเดือน โดยประเด็นที่ทำให้นักลงทุน (โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ) ยังมีความกังวล ได้แก่
    
- ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้เกิดความเสี่ยงว่าแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ คสช.ได้ประกาศไว้จะสามารถจะดำเนินนโยบายได้ตามแผนหรือไม่
    
- ข่าวการต่อต้านการรัฐประหารจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น
    
- ราคาหุ้นที่ขึ้นมาในช่วงก่อนหน้าได้สะท้อนพื้นฐานของปี 2557 ไปพอสมควร โดย P/E ปี57 อยู่ที่ 15 เท่า (ข้อมูลจาก Bloomberg Consensus)
    
แต่หลังจากนี้คาดว่าปัจจัยลบข้างต้นไม่น่าจะมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยโดยรวมมากนัก ด้วยเหตุผลดังนี้
    
ความคืบหน้าของการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการ
    
คสช.ได้แถลงว่า การจัดตั้งรัฐบาลรักษาการจะเสร็จได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ และการที่ คสช.ยังมีอำนาจปกครองอยู่ จะทำให้ความเสี่ยงของปัญหาการเมืองภายในประเทศที่อาจจะมีผลต่อตลาดหุ้นลดน้อยลงในช่วงระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า
    
เศรษฐกิจไทยนั้นมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. ซึ่งยังเป็นช่วงที่ปัญหาการเมืองยังยืดเยื้ออยู่ สะท้อนว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคนั้นทยอยฟื้นตัวได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาครัฐมากนัก ซึ่งขณะนี้ตัวเลขผลประกอบการสำหรับไตรมาส 2/57 ที่กำลังจะออกมานั้นจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวบ้าง ดังนั้นจึงเชื่อว่าเมื่อผลประกอบการที่ออกมาจะเป็นตัวยืนยันการฟื้นตัวที่ดี และนักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นได้อีก และน่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอีกในไตรมาส 3/57 ซึ่งจะเป็นตัวเร่งความน่าสนใจของหุ้นได้เป็นอย่างดี
    
เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการเสร็จสิ้น จะส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2558 จากการดำเนินนโยบายในหลายๆ ด้านของ คสช. เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น (รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าใน กทม. ปริมณฑล) การเร่งเบิกจ่ายงบปี 2557 และจัดทำงบประมาณปี 2558 การตั้งบอร์ด BOI เพื่ออนุมัติโครงการที่ค้างอยู่เป็นมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งความคืบหน้าเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจให้ฟื้นตัว ขณะที่ ธปท.ได้ประเมินว่า GDP ไทยปี 2557 จะขยายตัว 1.5-2% โดย GDP ในครึ่งปีแรกจะติดลบ 0.5% แต่จะกลับมาขยายตัวได้ 3.4-3.5% ในครึ่งปีหลัง ส่วนในปี 58 ธปท.คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 5.5% ด้วยแรงหนุนจากการลงทุนทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลที่คาดจะโต 11.2% และ 9.7% ตามลำดับ รวมทั้งการบริโภคเอกชนคาดขยายตัว 4.7% แนวโน้ม    เศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่องในหลายไตรมาสข้างหน้า จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นได้

ปัจจัยต่างประเทศ
    
ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศนั้นมีไม่มาก แม้ว่าประเทศเศรษฐกิจหลักบางประเทศจะมีสัญญาณเศรษฐกิจอ่อนแอลง เช่น ยูโรโซน และจีน เป็นต้น แต่ภาครัฐได้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น การลดดอกเบี้ยถึงระดับต่ำเป็นประวัติการณ์และโครงการ TLTROs ของยูโรโซน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ทยอยประกาศมาเป็นระยะๆ ส่วนสหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขยายตัวได้ดี จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางทุกประเทศมีความพร้อมที่จะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และระมัดระวังการถอนนโยบาย ดังจะเห็นตัวอย่างของสหรัฐฯ ที่ยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ จะสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ด้วยนโยบายที่เอื้อต่อการขยายตัวจากภาครัฐ
    
สำหรับปี 2558 คาดว่าน่าจะเป็นปีที่เฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะส่งผลทางลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ แต่ด้วยตั้งแต่ช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น เฟดเองได้เคยกล่าวถึงเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาบ้าง และเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงด้านนี้ไปพอสมควรแล้ว จึงคาดว่าจะไม่กระทบต่อตลาดมากนัก
    
ปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองระดับภูมิภาค (Geopolitical Conflict) ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ มักจะส่งผลต่อตลาดภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายูเครน-รัสเซีย หรือความไม่สงบในอิรัก ถึงแม้จะคาดการณ์ได้ยากว่าเหตุการณ์จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ แต่โดยทั่วไปตลาดมักจะให้ความสนใจในช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น และจะให้ความสำคัญน้อยลงเพราะได้ทยอยซึมซับประเด็นต่างๆ ไปแล้ว ด้วยขอบเขตความขัดแย้งที่อยู่ในวงจำกัด คาดว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่ส่งผลต่ออย่างมีนัยสำคัญหลังจากนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น