xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกค้าเน้นดูผลตอบแทนมากว่าค่าฟีถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้นำเสนอความคิดเห็นของ “วรวรรณ ธาราภูมิ” นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (AIMC) ต่อุตสาหกรรมกองทุนรวมกันไปแล้ว ในสัปดาห์นี้จะเป็นความคิดเห็นของคุณวรวรรณในประเด็น “แนวโน้มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล Private Fund ที่ผ่านมาและในปี 2557”.....

วรวรรณ ธาราภูมิ กล่าวว่า ภาวะการแข่งขันของธุรกิจกองทุนจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกเหนือจากผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ลงทุนหรือผู้ออมเงินแล้ว ความสะดวกสบาย ความรวดเร็วในการได้รับข้อมูล ช่องทางการติดต่อ และบริการทางการเงินหรืออื่นๆ ที่สอดคล้องกับ Lifestyle ของผู้ลงทุน เช่น ผลิตภัณฑ์ด้าน Home Loan, Personal Loan, บริการประกันชีวิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Retirement Plan รวมไปถึงบริการที่เกี่ยวกับ Lifestyle ต่างๆ จะผลักดันอุตสาหกรรมให้ต้องทำ Product Package ให้ครบวงจร เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่สมาชิกผู้ออมเงินในกองทุน แทนการเน้นความพึงพอใจของคณะกรรมการกองทุนตามที่เคยเป็นมา

ปัญหาการเพิ่มสัดส่วนของผู้สูงอายุในโครงสร้างประชากร และปัญหาขาดการวางแผนการออมเพื่อวัยเกษียณจะทำให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงครอบครัว เริ่มสนใจในความรู้เกี่ยวกับการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้น ดังนั้น การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในวงกว้างเรื่อง Financial Literacy จะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องวัยเกษียณมากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป

แม้ว่า พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช. National Pension Fund) จะยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม แต่ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะดึงเม็ดเงินออมเข้าสู่ระบบการออมการลงทุน ขณะที่ภาครัฐ (ทั้งกระทรวงการคลัง ก.ล.ต.) ได้กลับมาทบทวนการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ (Mandatory PVD) อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้ยุติเรื่องนี้ไปเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา จึงถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจนี้

การให้บริการด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับบริษัทขนาดเล็กถึงขนาดกลาง จะเน้นที่ความพร้อมในการให้บริการ ระบบงานในการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า การมีนโยบายการลงทุนที่ครบถ้วนตามความต้องการ และการมีผลิตภัณฑ์เสริมอื่นๆ เช่น สินเชื่อบุคคล และประกันชีวิต เป็นต้น ขณะที่การให้บริการแก่ลูกค้ารายใหญ่จะมีการแข่งขันที่สูงมาก โดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านราคา

- ในปี 2556 สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้มีประกาศที่ สน.21/2556 เพื่อกำหนดให้สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีสิทธิเลือกนโยบายการลงทุนได้ (Employee&Choice) ต้องทำ “แบบประเมินความเสี่ยงเพื่อดูความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุน/แผนการลงทุนของสมาชิก (Member Risk Profile) เพื่อให้สมาชิกทราบถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเองก่อน แล้วจะได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกนโยบายลงทุนของตนเองได้

-ในปี 2556 บริษัทจัดการหลายๆ แห่งยังคงใช้กลยุทธ์ด้านราคาต่ำเป็นพิเศษต่อเนื่องจากปีก่อนๆ เพื่อต้องการขยาย Market Share ให้ทิ้งห่างคู่แข่งออกไปให้มากที่สุด จึงทำให้สงครามราคายังมีอยู่ บางแห่งถึงกับเสนอว่าจะไม่คิดค่าจัดการกองทุน

อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นแนวโน้มที่บางบริษัทจัดการมีนโยบายไม่ร่วมยื่นประกวดราคากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจหากรายได้ที่ได้รับจากการจัดการกองทุนจะไม่คุ้มกับทรัพยากรที่ต้องทุ่มเทในการจัดการและให้บริการ นอกจากนั้น คณะกรรมการกองทุนก็เริ่มให้น้ำหนักกับเรื่องของราคาน้อยลงเมื่อเทียบกับน้ำหนักที่ให้กับความสามารถในการบริหารกองทุน

ปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงที่เป็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาคือความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการบริหารการลงทุนให้ลูกค้าได้เห็นผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอในระยะยาว การให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกและกรรมการกองทุนในการพิจารณาและเลือกผู้จัดการกองทุนจากวิธีการบริหารที่ดี มากกว่าจะไปเลือกเพราะราคาถูกหรือให้ผลตอบแทนดีเป็นครั้งคราว

สิ่งเหล่านี้เป็นข่าวดีต่อสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพราะจะไม่สูญเสียโอกาสที่ต้องรอให้การลงทุนของผู้จัดการกองทุนไปถึงเป้าหมายซึ่งต้องใช้เวลา จากเดิมที่มักจะเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนกันบ่อยๆ เลยพลาดโอกาสที่รอให้พอร์ตได้รับผลดีจากการลงทุนไป นอกจากนี้ยังจะทำให้ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงจะได้ใช้งบประมาณไปในการพัฒนาระบบ IT หรือ E-Channel ที่สามารถสร้างความแตกต่างในการให้บริการที่สะดวกรวดเร็วแก่ลูกค้าได้มากขึ้นอีกด้วย

หลังจากที่อุตสาหกรรมนำเสนอ Employee&Choice ให้แก่ลูกค้า บริษัทต่างๆ จึงมีการจัดทำ Employee&Choice มากขึ้น โดย บลจ.ต้องมีการจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวแก่กรรมการและสมาชิกของกองทุน เพื่อให้สมาชิกกองทุนสามารถเลือกแผนการลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงตลอดจนผลตอบแทนคาดหวังให้เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละราย

Annuity Plan พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ปรับปรุงให้กองทุนฯ สามารถอนุญาตให้สมาชิกที่เกษียณอายุคงเงินไว้ในกองทุนต่อไปหลังเกษียณได้โดยไม่ต้องออมเพิ่ม และยังอนุญาตให้ทยอยรับเงินเป็นงวด (Annuity Plan) ซึ่งจะเป็นผลให้สมาชิกฯ ยังคงมีโอกาสหาผลตอบแทนผ่านกระบวนการลงทุนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประกันที่มีประสบการณ์ต่างประเทศในการจัดการ Annuity Products จะเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดนี้

สำหรับธุรกิจ ***Private Fund*** นั้น เริ่มมีกระแสความสนใจใช้บริการมากขึ้นจากกลุ่มผู้มีเงินออม (High Networth) ซึ่งได้รับผลกระทบจากกฎหมาย การลดความคุ้มครองเงินฝาก โดยผู้มีเงินออมจะมองหาการลงทุน หรือการถือหลักทรัพย์/สินทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

- สำหรับบริษัทนิติบุคคล (Corporate) ก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ต้องการบริการกองทุนส่วนบุคคลมาช่วยบริหารเงินสดสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากสินทรัพย์ที่ลงทุนจะมีราคาตลาดผันผวนสูง และซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานการบัญชีตามระบบสากล (IFRS) จึงเป็นโอกาสของธุรกิจในระยะต่อจากนี้ไป รวมไปถึงโอกาสของการขยายตลาดไปยังคหบดีที่ต้องการลงทุนในกิจการที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี และเป็นการลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

- ลูกค้ารายสำคัญของอุตสาหกรรมยังเป็นกลุ่มลูกค้าเดิมๆ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เช่น กบข. สำนักงานประกันสังคม และสภากาชาดไทย ในขณะที่มหาวิทยาลัยและสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังไม่ได้ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลหันมาใช้บริการมากขึ้น บริษัทจัดการยังคงแข่งขันด้วยกลยุทธ์ด้านราคาเป็นหลัก โดยเสนอค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนที่ต่ำมาก

- ลูกค้ากลุ่มบริษัททั่วไปที่มีเงินลงทุนเหลือจากการดำเนินธุรกิจจะนำเงินส่วนนี้มาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้มากกว่าการฝากในธนาคาร โดยเป็นนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่สูง เพราะยังให้ความสำคัญเรื่องรักษาเงินต้นมากกว่าอัตราผลตอบแทน นอกจากนี้ ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการขยายธุรกิจไปรองรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และมีทุนเตรียมไว้แล้ว เมื่อการเมืองยังเอื้ออำนวยให้ทำได้ ยังไม่ได้ใช้เงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็น่าจะเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมจะเสนอการบริหารเงินส่วนนี้ไปพลางๆ ก่อน

- ลูกค้ากลุ่มธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยที่ได้จัดสรรเงินลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลในปีผ่านมา เริ่มลดการลงทุนและถอนเงินลงทุนออกไปบ้าง เพราะส่วนใหญ่ลงทุนในตลาดหุ้น และในปี 2556 ตลาดหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปสูงมากในช่วงกลางปี จึงขายทำกำไรและคงถือเงินสด แต่ยังคงสนใจลงทุนอยู่ และพร้อมจะกลับเข้ามาลงทุนในโอกาสที่เหมาะสม

- ลูกค้ากลุ่มบุคคลธรรมดา ให้ความสนใจใช้บริการกองทุนส่วนบุคคลมากพอสมควร โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2555 ถึงต้นปี 2556 ส่วนใหญ่ลงทุนในตลาดหุ้นโดยคาดหวังผลตอบแทนระดับสูง เนื่องจากตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและให้ผลตอบแทนที่ดีมาตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน บลจ.ที่มีผลการบริหารกองทุนดีก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าเปิดบัญชีลงทุนจำนวนมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น