xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยเรื่อง “เอเชียเหนือ” หลายแง่มุมที่นักลงทุนควรรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เศรษฐกิจเอเชียเหนือซึ่งประกอบด้วย (จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้) เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจากการขยายตัวจากการส่งออกซึ่งมีตลาดส่งออกหลักเป็นประเทศในกลุ่ม G3 (สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) โดยกลุ่มเศรษฐกิจเอเชียเหนือมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ หนี้ต่างประเทศต่ำ และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ซึ่งจะช่วยจำกัดความเสี่ยงจากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติได้

ข้างต้นเป็นเหตุผลบางส่วนจากรายงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ ซึ่งในช่วงที่่ผ่านมาทุกคนคงทราบ และเห็นแนวโน้มการลงทุน และเทรนด์ในปีนี้แล้วว่า อย่างน้อยก็ควรกระจายการลงทุนไปต่างประเทศบ้าง

ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ธนชาต บอกว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้เคยแนะนำให้นักลงทุนแบ่งเงินไปลงทุนในต่างประเทศบ้าง และอย่ายึดติดว่าปัญหาที่ประเทศเหล่านั้นเผชิญอยู่จะแก้ไม่ได้ เพราะในอนาคตมันก็จะดีขึ้น หรือคนที่ดีมากก็อาจชะลอลงได้เช่นกัน มันต้องมีการกระจายความเสี่ยง ซึ่งถ้าดูแล้วหุ้นไทยตอนนี้ผันผวนมาก ฉะนั้นการลงทุนต่างประเทศจึงเป็นทางเลือกที่ดี

เอเชียเหนือดีจริงหรือ?

ช่วงที่ผ่านมาหลาย บลจ.มีการแนะนำให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในเอเชียเหนืออย่างต่อเนื่อง และมีเหตุผลสนับสนุนอย่างน่าสนใจ และทุกคนได้รับรู้กันไปแล้วทั้งเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ การส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล มูลค่าหุ้นที่ยังถูกเมื่อเทียบผลตอบแทนที่ได้

ข้างต้นดูเหมือนจะมีแต่เรื่องดีและปัจจัยบวกทั้งสิ้น แต่ก็อย่าลืมว่าท่ามกลางเรื่องดีย่อมมีเรื่องที่แย่ๆ เช่นกัน วันนี้ทีมงานจึงอยากนำเสนอปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนควรนำไปประกอบการตัดสินใจด้วยเช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงเอเชียเหนือ

ปัจจัยเสี่ยงของเอเชียเหนือจากรายงานของ บลจ.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ความเสี่ยงในเอเชียเหนือของแต่ละประเทศยังคงมีอยู่แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะแก้ไขได้ แต่บางอย่างก็ยังต้องคอยจับตาดูการเปลี่ยนแปลงไปก่อน

สำหรับจีนแล้วจะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ 4 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย

1. ปัญหาหนี้เสียภาคการเงิน โดยปริมาณหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูงที่ผ่านมาเป็นที่กังวลของนักลงทุนอย่างมาก และอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีนได้

2. ปัจจัยเสี่ยงด้านค่าเงิน การแข็งค่าของเงินหยวนอาจกระทบต่อการส่งออก

3. ค่าจ้างแรงงาน ซึ่งปัจจุบันค่าจ้างแรงงานของจีนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กิจการมีผลกำไรลดลงและอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน และอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นได้

4. กิจกรรมภาคธนาคารเงา (Shadow Bank) ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในตลาดการเงินจีน และอาจส่งผลต่อการผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจีนเองก็มีความกังวลในเรื่องนี้ และพยายามจัดการธุรกรรมประเภทนี้ เพราะหวั่นว่าจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้

ไต้หวันเองก็มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ 4 ด้านด้วยกัน

1. ในระยะยาวไต้หวันอาจสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันจากอุตสาหกรรมส่งออก เนื่องจากยังไม่มีการทำความตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าหลักที่กำลังฟื้นตัวอย่าง สหรัฐฯ และยุโรป

2. อุตสาหกรรมส่งออกหลักของไต้หวันต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

3. การผลักดันให้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มของจีน จากเดิมที่เน้นปริมาณและราคาถูก ทำให้จีนอาจกลายเป็นคู่แข่งทางการส่งออกได้

4. ความขัดแย้งเหนือดินแดนในภูมิภาค ทั้งระหว่าง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อาจส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจได้

ส่วนเกาหลีใต้เองจะมีปัญหาอยู่ด้วยกัน 2 ด้าน ประกอบด้วย

1. ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งในปี 2013 หนี้ภาคครัวเรือของเกาหลีคิดเป็น 75.4% ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่สูง แต่ยังต่ำกว่าของสหรัฐฯ ในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ และมีความเสี่ยงหากธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย

2. ความผันผวนของค่าเงินวอน เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในปีนี้ โดยรัฐบาลเกาหลีคาดว่าความผันผวนระหว่างค่าเงินวอน/เยน จะมีมากขึ้น จากการที่สหรัฐฯ ลด QE พร้อมกับญี่ปุ่นที่เป็นคู่แข่งสำคัญยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของเกาหลีที่กำลังแข่งขันกับญี่ปุ่นในปัจจุบัน

ขณะที่ฮ่องกงจะมีความเสี่ยงอยู่ 2 ด้านเช่นกัน

1. ความเสี่ยงภาคครัวเรือน ฮ่องกงมีความเสี่ยงที่ราคาอสังหาริมทรัพย์จะลดลงอย่างรวดเร็วหากสหรัฐฯ ใช้นโยบายทางการเงินเข้มงวดกว่าที่เคยประกาศไว้ โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ผู้บริโภคยังมีกำลังซื้อ เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก

อย่างไรก็ตามหากเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้ความสามารถในการซื้อบ้านในฮ่องกงลดลงได้ และอาจเกิดการเทขายบ้านจนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้

2. เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวตามคาด ซึ่งปัญหานี้น่าจะกระทบต่อทุกประเทศเช่นกัน โดยฮ่องกงเป็นเศรษฐกิจเปิดทำให้อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้มากกว่า ดังนั้นหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ต่ำกว่าที่คาด ไม่เพียงแต่การส่งออกของฮ่องกงจะถูกกระทบ แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภครวมถึงธุรกิจรายย่อยในฮ่องกงจะได้รับผลกระทบอย่างมากด้วย

ถึงตรงนี้น่าจะมีข้อมูลด้านความเสี่ยงของการลงทุนในภูมิภาคเอเชียเหนือกันพอสมควรแล้ว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรศึกษา เพราะอย่างน้อยจะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ และติดตามความคืบหน้าในประเด็นที่เปิดเผยไปข้างต้นได้ว่า จะลงทุนอย่างไรต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น