บลจ.ธนชาตแนะลงทุนหุ้นไทยระยะยาว เหตุระยะสั้นการเมือง-เศรษฐกิจกดดัน มั่นใจผลประกอบการ รายได้บริษัทจดทะเบียนหนุน ชูกองทุนเปิดธนชาต Low Beta น่าลงทุน เหตุความผันผวนน้อย เน้นลงทุนหุ้นชั้นดี ฐานะการเงินแกร่งเป็นหลัก
รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้ยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยภายในและต่างประเทศ แต่การที่บริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทยังคงมีการเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่องจากรายได้ที่สม่ำเสมอ อีกทั้งยังมีกระแสเงินสดที่ดี มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ บริษัทจึงยังคงแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยเน้นการลงทุนในหุ้นระยะยาวมากกว่าระยะสั้น
ส่วนกองทุนที่บริษัทแนะนำให้ลงทุน ได้แก่ กองทุนเปิดธนชาต Low Beta (T-LowBeta)ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารแห่งทุนที่เป็นหลักทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวของราคาเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ค่อนข้างต่ำ (Low correlation to the SET Index (lowbeta) และเฉลี่ยในรอบปีบัญชีของกองทุน หลักทรัพย์ดังกล่าวจะมีค่า Beta ไม่เกิน 1
สำหรับกลยุทธ์ในการลงทุน กองทุน T-LowBeta เน้นเลือกหุ้นของกิจการชั้นดี มีฐานะการเงินมั่นคง มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ทำให้กองทุนมีโอกาสรับรายได้ที่ชัดเจน มูลค่าเงินลงทุนมีความผันผวนน้อย มีกระแสเงินสดจากการประกอบการที่แน่นอน เช่น ได้รับสัญญาสัมปทานระยะยาว หรือเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ และเป็นกิจการที่มีอัตราการเติบโต
ส่วนผลการดำเนินงาน ย้อนหลัง 3 เดือน -5.84% เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ -10.83% ย้อนหลัง 6 เดือน -6.51% เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ -10.32% ย้อนหลัง 12 เดือน 0.02% เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ -15.00% และนับจากวันเริ่มโครงการที่ 40.01% เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ 5.85%
จับตาเศรษฐกิจ-การเมืองตัวแปรหลัก
บลจ.ธนชาตเปิดเผยอีกว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสแรกยังคงผันผวน และยังต้องเจอกับ 2 ปัญหาหลักๆ ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะการเมืองที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและยังไม่มีการคลี่คลายลง คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะยังคงแกว่งตัวอยู่ที่ 1,200-1,300 จุด
นอกจากนี้แล้ว สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ประเมินทิศทางการขยายตัวปีนี้อาจจะต้องมีการปรับลดจีดีพีลงในเดือนมีนาคมนี้ที่ 3.1% แต่หากไม่มีรัฐบาลอาจเหลือ 2.8-2.9% ทั้งนี้ต้องไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้าได้ทำการประเมินการขยายตัวที่ 5%
ขณะที่ปัญหาทิศทางเศรษฐกิจโลกปีนี้ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังห่วงประเทศเกิดใหม่ที่ยังมีความเสี่ยงจากการปรับลดมาตรการคิวอี ที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงและอัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินของไทยตึงตัวมากขึ้น