บลจ.เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ ชูความเสี่ยงต่ำรับผลตอบแทนสูง กรุงศรีเปิดขาย KFFIF1Y15 อายุ 1 ปี ด้านซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ออก ‘ซีแพม เอ็นแฮนซ์ รีเทิร์น 3M2’ อายุ 3 เดือน
นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเปิดเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ KFFIF1Y15 อายุ 1 ปี มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคาร Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาขามาเก๊า) สัดส่วนการลงทุน 24% เงินฝากธนาคาร China Construction Bank (สาธารณรัฐประชาชาชนจีน, สาขาฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 20% ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Agricultural Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน สัดส่วนการลงทุน 24% ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Bank of East Asia สาธารณรัฐประชาชาชนจีน , ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 16% และตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Industrial and Commercial Bank of China Asia Ltd. (สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 16%
โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.25% ต่อปี และหลังครบกำหนดอายุโครงการบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเงิน (KFCASH) ซึ่งเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนต่อไป
“กองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ต่างประเทศ1Y15 (KFFIF1Y15) เป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ เหมาะต่อนักลงทุนที่มองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและต้องการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และสามารถลงทุนได้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี” นายฉัตรพีกล่าว
สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้โลกนั้น ถึงแม้ว่าเฟดประกาศลดปริมาณการซื้อพันธบัตรลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นไปตามที่คาด แต่การที่คณะกรรมการเฟดปรับคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยและยกเลิกการใช้เป้าหมายอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 6.5 เป็นจุดกำหนดในการดำเนินนโยบายได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาด นอกจากนี้ นางเยลเลน ประธานเฟด ยังได้ให้ความเห็นว่า การลดปริมาณการซื้อพันธบัตรอาจจะสิ้นสุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-ธันวาคม) และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจมีขึ้นราว 6 เดือนถัดไป ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นร้อยละ 0.08 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นในวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2554 ทางด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือน ยอดอนุญาตก่อสร้างฟื้นตัว และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด เป็นสิ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวหลังผ่านพ้นช่วงที่อากาศหนาวเย็นกว่าปกติ นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ยกเลิกการให้มุมมองเครดิตของสหรัฐฯ เป็น “เชิงลบ” และคงอันดับเครดิตของสหรัฐฯ ไว้ที่ระดับสูงสุดที่ AAA เนื่องจากสหรัฐฯ สามารถแก้ไขปัญหาเพดานหนี้ได้ทันกำหนด”
ส่วนภาวะตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ทาง ธปท.ได้มีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงสู่ร้อยละ 2.7 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.9 เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อ ในส่วนของตารางพันธบัตรในไตรมาส 2/57 ระบุว่าจะมีพันธบัตรออกจำหน่าย 9.4 หมื่นล้านบาท และมีการไถ่ถอนคืน 1.47 แสนล้านบาท ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับตราสารหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับขึ้นร้อยละ 0.03-0.12 และเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันมากขึ้น
ด้านนายอุดมการ อุดมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการพัฒนาธุรกิจ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจออกกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ซีแพม เอ็นแฮนซ์ รีเทิร์น 3M2 อายุโครงการประมาณ 3 เดือน ขนาดกองทุน 1,500 ล้านบาท หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการเสนอขายกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เอ็นแฮนซ์ รีเทิร์น 3M1 มูลค่า 1,500 ล้านบาท โดยกองใหม่ 3M2 มีนโยบายการลงทุนคล้ายกับกอง 3M1 ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทางการเงินของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยง โดยคาดว่าจะสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 3% ต่อปี
สำหรับกองทุน ซีแพม เอ็นแฮนซ์ รีเทิร์น 3M2 นี้เหมาะสมต่อนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ Unrated หรือ Non-investment grade ได้ และต้องการลงทุนในระยะเวลา 3 เดือน ตามอายุกองทุนที่กำหนด ซึ่งจะมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
กองทุน ซีแพม เอ็นแฮนซ์ รีเทิร์น 3M2 นี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในภาวะดอกเบี้ยขาลง เนื่องจากกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนในอัตราที่น่าพึงพอใจ ซึ่งปรากฏชัดจากการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนในการจองซื้อหน่วยลงทุนในกองแรกที่ได้รับการตอบสนองอย่างดีจนยอดจองเต็มมูลค่าโครงการ โดยกองทุนต้องใช้สิทธิ์ greenshoes เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา