xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : เกาะกระแสสุขภาพ กับ ObamaCare

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยอาจารีย์ เอี่ยมพงษ์ไพฑูรย์
กลุ่มจัดการกองทุน
บลจ.บัวหลวง

ObamaCare คือกฎหมายประกันสุขภาพที่มีชื่อว่า The Patient Protection & Affordable Care Act (PPACA) หรือ Affordable Care Act (ACA) สร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิของผู้ป่วยชาวอเมริกัน มีเป้าหมายเพื่อให้อเมริกันชนสามารถซื้อประกันสุขภาพและเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงในราคาไม่แพง

กฎหมายปฏิรูประบบสุขภาพนี้เป็นนโยบายต่อเนื่องมาจากอดีตประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน แต่มาประสบความสำเร็จในสมัยของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2010 แต่นโยบายหลักๆ จะมีผลบังคับใช้จริงในวันที่ 1 มกราคม 2014 โดย ObamaCare จะขยายการเข้าถึงการประกันสุขภาพทั้งของภาครัฐและเอกชนผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น การคุ้มครอง กฎระเบียบ เงินอุดหนุน ภาษี ตลาดประกันสุขภาพใหม่ และการปฏิรูปอื่นๆ

ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ได้รับสวัสดิการประกันสุขภาพผ่านทางนายจ้างจากระบบประกันสุขภาพของเอกชน โดยมาจากระบบประกันกลุ่มที่บริษัทประกันเสนอให้บริษัทเอกชนต่างๆ ซื้อเพื่อคุ้มครองลูกจ้าง ในขณะที่อีก 3 กลุ่มได้รับการสนับสนุกจากรัฐบาล ดังนี้

1. คนชรา ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เรียกว่า Medicare โดยสร้างขึ้นเพื่อจัดการกับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงมากสำหรับคนสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขามีรายได้ที่ลดลง

2. คนยากจนที่มีรายได้น้อย ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เรียกว่า Medicaid รวมถึงโปรแกรมประกันสุขภาพสำหรับเด็ก Children’s Health Insurance Program (CHIP) หรือ Children’s Medicaid สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี

3. ข้าราชการบางประเภท เช่น ทหาร ผู้แทนราษฎร วุฒิสภาชิก หรือทหารผ่านศึก เป็นต้น

สำหรับบุคคลที่ไม่ได้เข้าข่ายได้รับประกันสุขภาพจากนายจ้างหรือรัฐบาล จะต้องหาซื้อประกันสุขภาพด้วยตนเอง โดยประชากรในส่วนนี้มีประมาณ 48 ล้านคน คิดเป็น 15% ของประชากรทั้งประเทศ

ผลสำรวจจาก Kaiser Family Foundation ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในสหรัฐอเมริกาที่เน้นการทำวิจัย และเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพ ระบุว่า สาเหตุหลักของผู้ที่ไม่มีประกันสุขภาพ เนื่องจาก

1. ประกันสุขภาพมีราคาแพง : สหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงที่สุดในโลก โดยในปี 2011 เท่ากับ 8,608 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมกันถึง 17.9% ของ GDP สหรัฐฯ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยค่าใช้จ่ายที่สูงมากนี้มาจากต้นทุนที่สูง ไม่ว่าจะเป็นค่าบุคลากรทางการแพทย์ ค่ายาตามใบสั่งแพทย์ รวมถึงค่าประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพของแพทย์ พยาบาล (Medical Malpractice) เพื่อปกป้องตนเองในกรณีที่ทำการรักษาผิด ซึ่งค่า Malpractice มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ป่วยบางคนพยายามหาประโยชน์จาก Malpractice ทำให้มีต้นทุนในการรักษาพยาบาลที่สูง ส่งผลให้เบี้ยประกันสุขภาพมีราคาสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ กลไกตลาดไม่ได้เป็นตัวกำหนดแผนประกันสุขภาพที่แท้จริง แต่การกำหนดราคา บริการ และขอบเขตสิทธิประโยชน์ของผู้ซื้อประกัน ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประสิทธิภาพของระบบสุขภาพกลับไม่ดีเท่าที่ควร โดยอายุขัยเฉลี่ยของประชากร (Life Expectancy at Birth) ต่ำที่สุด และอัตราการตายของทารก (Infant Mortality Rate) มากที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

2. ตกงานจึงไม่ได้รับประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชน : สหรัฐอเมริกาไม่มีระบบประกันสุขภาพที่รับประกันสุขภาพของทุกคนเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี หรือญี่ปุ่น ที่บังคับให้ประชาชนทุกคนต้องมีประกันสุขภาพ (Individual Mandate) ตามกฎหมาย โดยใช้นโยบายการเก็บภาษีสูงขึ้นหรือบังคับให้ซื้อประกัน ยกเว้นคนยากจนที่รัฐจะเข้าไปช่วยเหลือโดยตรง แต่นั่นหมายความว่าทุกคน ไม่ว่าจะรวย จน ไม่มีการศึกษา มีการศึกษา เด็ก หรือคนชรา สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียมกันหมด ขณะที่บริษัทประกันในสหรัฐอเมริกาสามารถปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเมื่อไรก็ได้ และมีค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปกับหน่วยงานตรวจสอบประวัติผู้ซื้อประกัน เพื่อหาทางปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ลูกค้าที่ซื้อประกันสุขภาพกับตน อีกทั้งบริษัทประกันอาจเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาสุขภาพในขณะนั้น และจะเรียกเก็บมากขึ้นอีกหากคุณเป็นผู้หญิง ฉะนั้น การซื้อประกันสุขภาพของคนอเมริกันจึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครอง

3. กลุ่มที่ไม่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน เช่น ประกอบอาชีพอิสระ ศิลปิน ธุรกิจขนาดเล็ก เป็นต้น และกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าเส้นแบ่งความยากจนสำหรับสิทธิประโยชน์ Medicaid แต่ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อประกัน

เมื่อไม่มีประกันสุขภาพ หมายความว่าอาจไม่มีสิทธิ์รับการรักษาทางการแพทย์ เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลมีราคาแพง โดยพบว่ามากกว่า 60% ของบุคคลล้มละลายในอเมริกามีสาเหตุมาจากไม่สามารถจ่ายบิลค่ารักษาพยาบาลได้ และเกือบ ¾ ของผู้ที่ล้มละลายนั้นมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว แต่ประกันนั้นไม่ครอบคลุม ทำให้ไม่สามารถจ่ายส่วนเกินกรมธรรม์ได้

ทั้งนี้ ObamaCare จะกำจัดปัญหาเหล่านี้ไป และช่วยคนอเมริกันจากการล้มละลาย โดยให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ไม่ใช่จนกระทั่งไม่มีเงินจ่าย โดยสำนักงบประมาณรัฐสภาคาดการณ์ว่า ในปี 2022 ObamaCare จะสามารถครอบคลุมประชาชนอเมริกันผู้ไม่มีประกันให้เข้าถึงประกันสุขภาพได้กว่า 33 ล้านคน

ในตอนนี้จะเล่าถึงสาระสําคัญของกฎหมายฉบับนี้โดยสังเขป และมุมมองของ บลจ.บัวหลวง ต่อธุรกิจในอุตสาหกรรม Health Care สาระสําคัญของกฎหมายปฏิรูปการประกันสุขภาพโดยสังเขป มีดังนี้

•บังคับให้คนอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพต้องซื้อประกันสุขภาพ มิเช่นนั้นจะถูกเก็บภาษี (Individual Mandate)

•บังคับให้นายจ้างทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพให้ลูกจ้างประจำทุกคน มิเช่นนั้นจะต้องเสียภาษี (Employer Mandate)

•บังคับให้บริษัทประกันสุขภาพจ่ายสัดส่วนการรักษาพยาบาล 85% สําหรับผู้ทําประกันที่เป็นกลุ่มที่มีมากกว่า 50 คนขึ้นไป และ 80% สําหรับกลุ่มที่น้อยกว่า 50 คน หรือผู้ทำประกันเป็นรายบุคคล

•บริษัทประกันสุขภาพไม่สามารถปฏิเสธการรับประกันคนที่ป่วยเป็นโรคเดิมอยู่ก่อน (Pre-existing conditions) และห้ามมิให้บริษัทประกันสุขภาพคิดเบี้ยประกันของผู้หญิงสูงกว่าของผู้ชาย

•มีการจัดตั้งตลาดประกันสุขภาพใหม่ (Health Insurance Marketplaces) สำหรับแต่ละรัฐ เพื่อให้บริษัทประกันต่างๆ เข้ามาแข่งขันกัน ซึ่งจะให้คำแนะนำและจัดเตรียมรูปแบบประกันสุขภาพที่หลากหลายให้ประชาชนได้สามารถเลือกซื้อตรงความต้องการและเหมาะสมกับงบประมาณ

•ครอบคลุมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Care) เช่น ตรวจสุขภาพประจำปี ฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

•ได้รับเครดิตภาษีคืน (Tax Credit) เป็นเงินอุดหนุน สำหรับบุคคล หรือครอบครัวที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง และธุรกิจขนาดเล็ก

ObamaCare ไม่ได้ไปแทนที่ประกันสุขภาพส่วนบุคคล แต่จะช่วยสนับสนุนและขยายความคุ้มครองให้แก่ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ดังนี้

Medicaid - ขยายเกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากเดิม ซึ่งจะช่วยให้คนอเมริกันสามารถเข้าถึงประกันสุขภาพได้เพิ่มขึ้นอีก 21.3 ล้านคน ภายในปี 2022 คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของคนไม่มีประกันสุขภาพทั้งหมดในปัจจุบัน โดยขอบเขตของการขยายสิทธิ์จะแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของครอบครัว ถิ่นที่อยู่อาศัย อายุของผู้ทำประกัน เป็นต้น

Medicare - มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเดิม เช่น ครอบคลุมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันฟรี (Preventive Care) เช่น ตรวจสุขภาพประจำปี ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และได้ส่วนลด 50% เมื่อซื้อยาตามใบสั่งแพทย์ สำหรับ Brand Name Drugs และ 14% สำหรับ Generic Drugs

อย่างไรก็ตาม ObamaCare ได้รับการคัดค้านจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยหลายฝ่าย ทั้งจากพรรครีพับลิกัน และกลุ่มหัวอนุรักษนิยม เพราะเห็นว่า ObamaCare เข้ามาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของตนในการตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ อีกทั้ง ObamaCare ทำให้รัฐต้องเก็บภาษีจากประชาชนมากขึ้นเพื่อนำเงินมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ประชาชนอเมริกันจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะคนที่มีฐานะร่ำรวยต้องเสียภาษีมากขึ้น ซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรม และอาจมีผลกระทบอย่างอื่นที่อาจตามมา เช่น การขาดแคลนแพทย์ เพิ่มหนี้ให้รัฐบาล ต้องรอการรักษาพยาบาลนาน เป็นต้น

แน่นอนว่า ประชาชนอเมริกันทุกคนจะได้รับประโยชน์จาก ObamaCare โดยคนที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองจะสามารถเข้าถึงประกันสุขภาพที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ผ่านตลาดประกันสุขภาพในรัฐของตน หรือการขยายผู้มีสิทธิ์ในโครงการ Medicaid ส่วนคนที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองใหม่ได้จากการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Care) ฟรี เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี การฉีดวัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น

แม้ว่า ObamaCare จะทำให้บริษัทผู้ผลิตยา และธุรกิจที่ให้บริการด้านสุขภาพต่างๆ เช่น โรงพยาบาล บริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์ มีภาระภาษีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ภาษี Brand Name Drugs ภาษีเครื่องมือแพทย์ (Medical Device Tax) เป็นต้น ทำให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่วง Patent Cliff ของอุตสาหกรรมยา คือช่วงที่สิทธิบัตรของตัวยาที่มีชื่อเสียงกำลังจะหมดอายุในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้มีคู่แข่งที่สามารถผลิต Generic Drugs ได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยาจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการขยายขนาดของผู้มีสิทธิเข้าถึงประกันสุขภาพและการบริการด้านสุขภาพอีกกว่า 33 ล้านคนในปี 2022 โดย London-based Global Data คาดการณ์ว่าจะทำให้อุตสาหกรรมยามีมูลค่าตลาดสูงขึ้นกว่า 33% ในปี 2020 เป็น 476 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 359 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2012

ทั้งนี้ กองทุนบัวหลวงยังเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรม Health Care ยังคงมีบทบาทสำคัญมากในระบบเศรษฐกิจโลก และมีส่วนสำคัญในการกำหนดงบประมาณภาครัฐของประเทศต่างๆ ที่พรรคการเมืองจำเป็นต้องสนับสนุนสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน ดังนั้น Health Care Sector จึงยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นว่าหุ้นในกลุ่ม Health Care จะเป็น “Super Sector” ในทศวรรษนี้ โดยมีความน่าสนใจในการลงทุนระยะยาว เนื่องจากได้รับประโยชน์จากสัดส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากกลุ่ม Baby Boomer ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ซึ่งคนกลุ่มนี้กำลังจะเข้าสู่ช่วงสูงวัยพร้อมๆ กัน และกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพต้องขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว อีกทั้งจะได้ประโยชน์จากโรคร้ายและโรคซับซ้อนที่มีมากขึ้น รวมถึงสภาวะแวดล้อมและสาธารณูปโภค เช่น มลพิษทางน้ำและอากาศ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนเป็นหนึ่งในประเด็นซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญมากที่สุด ดังที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนมากให้การสนับสนุนทางนโยบายประกันสุขภาพอย่างมาก เพื่อให้ประชากรมีโอกาสเข้าถึงและใช้บริการทางสุขภาพขั้นพื้นฐานได้


กำลังโหลดความคิดเห็น