บลจ.ไทยพาณิชย์แนะทยอยซื้อกองทุน LTF & RMF ชูกองทุน SCBLT3 และ SCBLTT ให้ผลตอบแทนสูงใน 1-2 ปีข้างหน้า จากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ขยายตัว
นายศรชัย สุเนต์ตา รองกรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดการลงทุนในกองทุน LTF & RMF ว่า กองทุน LTF (Long-Term Equity Fund) เป็นทางเลือกการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนิสัยการลงทุนในหุ้นแบบระยะยาว เพราะเมื่อลงทุนแล้วต้องถือยาว 5 ปีปฏิทินติดต่อกัน โดยมีการสร้างแรงจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ให้ผู้ลงทุนสามารถนำจำนวนเงินที่ลงทุนใน LTF ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร
โดยนอกจากประโยชน์ทางภาษี การลงทุนระยะยาวยังมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดี อย่างเช่น ผู้ที่ได้ลงทุนใน LTF เอาไว้ในช่วงปลายปี 2551 และครบกำหนด 5 ปีปฏิทินพอดีในปีที่แล้ว (2555) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ดัชนี SET Index ปรับตัวเพิ่มจากราว 450 จุด เป็นกว่า 1,350 จุด (3 เท่า) ดังนั้น ถ้าใครลงทุน LTF แบบที่ลงทุนในหุ้นเต็มจำนวนเงิน (เช่น Index tracking LTF) เป็นเงิน 100,000 บาทเมื่อปลายปี 2551 จะสามารถขายหน่วยลงทุนได้เงินถึงราว 300,000 บาทในปลายปี 2555 (5 ปีปฏิทิน) หรือคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมกว่า 30% ต่อปี
“จึงไม่น่าแปลกใจที่การลงทุนใน LTF จะได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดกองทุน LTF มีการเติบโตจาก 1.3 แสนล้านบาทในปี 2553 เพิ่มเป็น 2.1 แสนล้านบาท (พ.ย. 2556) หรือมีการเติบโตโดยเฉลี่ยสูงถึงราว 17% ต่อปี ส่วนการลงทุนใน RMF เน้นการลงทุนเพื่อการเกษียณ ผู้ลงทุนจึงต้องมีวินัยในการออมระยะยาว เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี นักลงทุนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปีต่อเนื่องกัน) และจะขายนำเงินมาใช้ได้เมื่อมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี”
นายศรชัย ยังกล่าวว่า แม้ RMF จะต้องลงทุนเป็นเวลาที่ยาวนานมาก แต่มีข้อดีคือทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายกว่า LTF เนื่องจาก LTF จะเน้นการลงทุนในหุ้นเท่านั้น (อย่างน้อยเฉลี่ยรอบปีบัญชีต้องมีน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65%) ในขณะที่ RMF มีนโยบายการลงทุนให้เลือกมากมาย เช่น เน้นตราสารหนี้ระยะสั้น (Money Market) ตราสารหนี้ในประเทศ ตราสารทุนในประเทศ รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอย่างเช่น ทองคำ
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสามารถปรับพอร์ตการลงทุน RMF ให้เหมาะสมกับภาวะตลาดหรือช่วงอายุได้ เช่น ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ นักลงทุนก็อาจสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกจากกองทุน RMF ที่เน้นลงทุนในหุ้น ไปยังกองทุน RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้เพื่อเลี่ยงความผันผวนของตลาดหุ้นได้ หรืออาจจัดพอร์ตการลงทุนตามช่วงอายุ
เช่น ช่วงที่นักลงทุนยังมีอายุไม่มาก (ต้องลงทุนอีกนานกว่าอายุจะถึง 55 ปี) สามารถรับความเสี่ยงได้ ก็อาจเน้น RMF ที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจมีความผันผวนในระยะสั้นแต่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวอย่างเช่นตราสารทุน แต่เมื่อเวลาผ่านไป นักลงทุนมีอายุเพิ่มขึ้น ใกล้เกษียณอายุ นักลงทุนอาจเลือกการลงทุนแบบที่เน้นรักษาความมั่งคั่ง มีความเสี่ยงไม่มาก โดยปรับพอร์ตการลงทุน RMF สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ การลงทุนใน RMF ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตลาดกองทุน RMF มีการเติบโตจาก 8 หมื่นล้านบาทในปี 2553 เพิ่มเป็น 1.3 แสนล้านบาท (พ.ย. 2556) หรือมีการเติบโตโดยเฉลี่ยสูงถึงราว 19% ต่อปี
สำหรับ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว SCBLT3 และ SCBLTT ทั้งสองกองทุนเน้นการลงทุนในหุ้นที่คาดว่าจะมีการขยายตัวของผลประกอบการสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดใน 1-2 ปีข้างหน้า ผลการดำเนินงานของกองทุนจึงมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นโดยรวม ในปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนของกองทุน SCBLT3 และ SCBLTT อยู่ในระดับที่สูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์อย่างมาก โดยผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง (ณ วันที่ 15 พ.ย. 2556) ของกองทุน SCBLT3 อยู่ที่ 15.9% และกองทุน SCBLTT อยู่ที่ 16.1% เทียบกับอัตราผลตอบแทนดัชนีเทียบวัด SET Index ซึ่งให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 11.5%
“ทั้ง 2 กองทุนนี้จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงสูงจากการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี”