จากธุรกิจห้องเย็นขายปลาทะเลแช่แข็งในจังหวัดศรีสะเกษ ที่รับช่วงต่อจากพ่อแม่ในปี 2549 มูลค่าธุรกิจในตอนนั้น 68 ล้านบาท เพียงแค่ 7 ปี สามารถขยายสาขาได้แล้ว 6 แห่ง ครอบคลุมตลาดภาคอีสานตอนกลางและล่าง กับมูลค่าธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยล้าน และในอนาคตน่าจะมีโอกาสใกล้ๆพันล้านได้
“รมิดา พวงศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญศิริ โฟรเซ่นโปรดักส์ ทำได้อย่างไร และด้วยกลยุทธ์ไหน รมิดา ออกตัวก่อนเลยว่า ที่เห็นมูลค่าธุรกิจเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ได้มาง่ายๆ ต้องก้าวข้ามอุปสรรคมากมาย ทั้งยังต้องขยันเต็มสูบ เหมือนวิ่ง 100 เมตรตลอดเวลา เพราะทำงาน7 วัน ต่อสัปดาห์ วันละกว่า 18 ชั่วโมง
ก่อนจะเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นในการเข้ามารับไม้ต่อมาจากพ่อแม่ ในขณะที่ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง และอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ หากยังคงย่ำอยู่กับที่ต่อไป
“พ่อกับแม่เป็นคนขยันและค้าขายแบบแฟร์ๆซื่อสัตย์ จนทุกคนไว้ใจ ทำให้เราได้ดีเอ็นเอความขยันมาจากพวกท่านเต็มเปี่ยม ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นพ่อแม่ตื่นสายแม้แต่วันเดียว ท่านมีวินัยเรื่องเวลาสูงมาก ทำงานหนักมาตลอดชีวิตแทบไม่เคยได้พักผ่อน หรือใช้ชีวิตแบบชิลๆ ไปเที่ยว ทานอาหารหรูๆ แพงๆแต่กลับเก็บหอมรอมริบ ส่งลูกทุกคนเรียนหนังสือสูงๆ
เราเป็นน้องคนสุดท้อง เห็นพี่ๆเรียนหนังสือเก่งมากๆ จบแพทย์จุฬาฯเกียรตินิยม ทำงานเก่ง ประสบความสำเร็จ เลยกลายเป็นคนตั้งใจเรียนหนังสือมาก เพราะรู้ตัวว่าไม่ได้เป็นอัจฉริยะแบบพี่ๆ เมื่อเรียนจบบัญชีธรรมศาสตร์ได้ไม่นาน ก็ไปเรียนปริญญาโท MBA ต่อ ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย อเมริกา
หลังจากเรียนโทจบ ก็กลับไทยมาทำงานประจำอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ดูแลและพัฒนาระบบต่างๆ จนโรงงานแห่งนั้นได้รับทั้งมาตรฐาน ISO และสามารถนำระบบ ERP หรือโปรแกรมสำเร็จรูปที่ช่วยวางแผนบริหารธุรกิจขององค์กร ครอบคลุมการวางแผนงานผลิต งานขาย ทรัพยากรมนุษย์ งานบัญชี และการเงิน เข้ามาใช้ในการบริหารงานได้
เมื่อพัฒนาระบบต่างๆเสร็จ เรารู้สึกเหมือนงานจบ มันไม่มีความท้าทายอะไรแล้ว ก็เลยลาออก ตั้งใจจะกลับไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่อเมริกา จึงไปเรียนภาษาเพิ่มเติม เตรียมความพร้อมทุกอย่างไว้หมด แต่ก่อนที่จะบินไปเรียนไม่นาน ก็ได้รับโทรศัพท์จากพ่อและแม่ ซึ่งกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของเรา”
รมิดา เล่าว่า พ่อและแม่ได้เล่าถึงสถานการณ์ทางธุรกิจห้องเย็นที่เริ่มนิ่ง เพราะมีคู่แข่งในจังหวัดเพิ่มขึ้น หากไม่ขยับขยาย อีกไม่นานคงแข่งต่อไม่ไหว
“แต่ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส คือ มีเถ้าแก่คนหนึ่งลงทุนสร้างห้องเย็นขนาดใหญ่เอาไว้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ลงมือทำธุรกิจ จึงอยากจะขายห้องเย็นนี้ต่อให้พ่อกับแม่ แต่ถ้าหากปฏิเสธ ก็จะไปเสนอขายให้แก่คู่แข่งต่อไป
ห้องเย็นที่เถ้าแก่สร้างเอาไว้ มีขนาดบรรจุใหญ่กว่าของที่บ้าน และอยู่ในทำเลที่ดี เพราะเขาตั้งใจจะให้ห้องเย็นแห่งนี้เป็นจุดศูนย์กลางในการกระจายสินค้าปลาทะเลแช่แข็งของภาคอีสาน
ใจเราตอนนั้น เรื่องที่จะกลับไปทำธุรกิจต่อจากที่บ้าน ไม่เคยมีอยู่ในหัว และเราก็เตรียมจะไปอเมริกาแล้วด้วย
แต่ด้วยความที่สงสารพ่อกับแม่ เรารู้ว่าธุรกิจนี้เป็นเหมือนชีวิตของพวกท่าน ที่มีกินมีใช้ ได้ร่ำเรียนสูงๆก็เพราะธุรกิจที่พวกท่านสร้างเอาไว้ ถ้าไม่ลงไปสานต่อ พ่อกับแม่คงทำต่อไปไม่ไหว เพราะในตอนนั้นปี 2549 พ่ออายุเต็ม 70 ส่วนแม่ก็ 62 เรียกว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่งกันทั้งคู่ หมดแรงที่จะฮึดสู้ทำกัน 2 คนตายายแล้ว จึงตัดสินใจทิ้งความฝันของตัวเอง กลับไปสานต่อธุรกิจที่พวกท่านก่อร่างสร้างเอาไว้นานกว่า 30 ปี
มาทำงานวันแรก อะไรก็เป็นเรื่องยากไปหมด เพราะห้องเย็นที่บ้านจะเป็นแบบเก่ามาก ไม่ได้ยกพื้น พนักงานต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงขนสินค้า หน้าห้องเย็นจะมีโต๊ะหินอ่อนกลมๆตั้งอยู่ตัวหนึ่ง ไม่มีออฟฟิศ ไม่มีอะไรเลย นอกจากลูกน้อง 7 คน และรถกระบะเก่าๆ 2 คัน คนขับก็มาบ้างไม่มาบ้าง ถ้าวันไหนคนขับไม่มา เราก็ต้องขับรถไปส่งของให้ลูกค้าเอง
แต่ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง ตรงที่คู่ค้าทุกคนเขารู้จักเรา พอรู้ว่าเข้ามาทำงานต่อจากพ่อแม่ ก็ให้ความช่วยเหลืออย่างดี จึงมีฐานลูกค้าที่ดีอยู่แล้วในมือ ไม่ต้องเริ่มต้นหาลูกค้าใหม่ทั้งหมด
เรื่องที่น่าหนักใจที่สุด คือ การทำงานที่ไม่มีระบบ ไม่มีการจัดการสต็อกสินค้า ไม่มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เวลาออกบิลให้ลูกค้าก็ยังใช้ปากกาเขียนใส่กระดาษอยู่เลย จึงเริ่มต้นจากการไปหาซื้อโปรแกรมสำเร็จรูปถูกๆมาใช้ในการจัดทำสต็อก และคำนวณบัญชีรายรับ-รายจ่ายก่อน
เชื่อไหมว่าเราเข้ามาทำงานแค่เดือนเดียว คนงาน 7 คนที่มีอยู่ลาออกพร้อมกันหมดเลย เพราะเขารับไม่ได้กับระบบต่างๆที่เราวางไว้ให้ เขาเคยอยู่กันอย่างสบายๆ อยากจะมาทำงานกี่โมงก็มา อยากจะหยุดก็หยุด จึงต้องรับพนักงานใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อเสีย ก็คือ เราจะไม่มีคนเก่าแก่ที่เป็นงาน ต้องมาเริ่มต้นเทรนกันใหม่หมด ทำให้เราเหนื่อยมากในช่วงแรก แต่ถ้ามองในแง่บวก ก็เท่ากับเราตัดเลือดเก่าที่หัวแข็ง ปรับตัวได้ยากทิ้งไป และสร้างเลือดใหม่ๆที่มีความเข้าใจในระบบงาน และมองทิศทางการทำงานไปในมุมมองเดียวกันกับเรา”
ผ่านไป 1 ปี เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าระบบ ก็ถึงเวลาที่จะต้องลงไปพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจในการขาย รวมถึงการขยายตลาดออกไป เพื่อให้ได้ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น เพราะจะช่วยให้ธุรกิจเข้มแข็ง และแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการลงทุนเพิ่มจำนวนมาก
“ช่วงปีแรกพ่อแม่ยังเข้ามาช่วยดูเวลาเราสั่งของ จนมั่นใจว่าลุยต่อเองได้ ท่านก็เกษียณตัวเองทันที ยกธุรกิจให้เราเลย โดยแบ่งทรัพย์สินให้ลูกทุกคน ไม่มีระบบกงสีให้เราเกาะ พี่สาวทั้ง 3 ที่รับราชการเป็นพยาบาล นักกายภาพ และแพทย์ พ่อแม่ก็แบ่งให้ทุกคนพร้อมกันแบบเท่าเทียม
พ่อแม่เลี้ยงเราให้เป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ลูกแหง่ ถ้าอยากขยายกิจการต่อไปก็ให้เป็นหนี้แบงก์เอง หมุนเงินเอง ท่านยกธุรกิจให้เราลุย ถ้าล้มก็ล้มเอง เจ็บเอง เลียแผลตัวเอง หรือถ้าสำเร็จ ก็สำเร็จได้เพราะตัวเราเอง ไม่เกี่ยวกับท่านแล้ว
ตอนนั้นเรามีห้องเย็นอยู่ 2 แห่ง คือ ที่เดิมพ่อแม่สร้างไว้ กับที่ใหม่ที่ซื้อต่อมาจากเถ้าแก่ ตอนแรกก็ทำควบคู่กันไปแต่พอดีไปเจอที่ดินว่าง 4 ไร่ ทำเลดีมาก อยู่ใกล้ตลาด เป็นจุดศูนย์กลางของศรีษะเกษ ลูกค้าไปมาสะดวกกว่า
เลยตัดสินใจทุบห้องเย็นที่เก่าทิ้ง พร้อมกับเอาห้องเย็นที่ซื้อต่อมาไปจำนองแบงก์ เพื่อนำมาเป็นต้นทุนในการสร้างห้องเย็นแห่งใหม่ขึ้น รวมถึงนำมาเป็นทุนในการหาซื้อวัตถุดิบปลาทะเลแช่แข็ง เพื่อให้สินค้ามีความหลากหลาย และมีปริมาณที่มากขึ้น รองรับการขยายตัวของห้องเย็นแห่งใหม่ ที่มีถึง 5 ห้อง ปลูกเต็มพื้นที่ 4 ไร่”
ต้องบอกว่าห้องเย็นที่ใหม่นี้ รมิดาเป็นแม่งานเองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การเขียนแปลน เลือกวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง และแน่นอนว่าได้นำระบบ ERP โปรแกรมสำเร็จรูปที่ช่วยในการวางแผนบริหารธุรกิจขององค์กรเข้ามาใช้ตั้งแต่ต้นมือ
“กว่าจะมาถึงวันนี้ใช้เวลากว่า 6 ปี ทำในสิ่งที่ไม่เคยคาดคิด แน่นอนว่าไม่ได้มาจากความบังเอิญ หรือความโชคดี เรารู้ดีว่าความขยันกับความซื่อสัตย์คงไม่เพียงพอ ที่จะช่วยให้ห้องเย็นของเราได้เปรียบทางการแข่งขัน ถึงแม้จะเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป แต่ก็ต้องทำให้มีนวัตกรรม เราจึงสร้างโมเดลธุรกิจที่แตกต่างแยบยล เลียนแบบยาก มีระบบควบคุมภายใน ที่ช่วยให้ธุรกิจปลอดภัย และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในจุดที่เราอยู่
แรกเริ่มเลยเราวางตำแหน่งของธุรกิจใหม่ เพราะรู้ว่าในตลาดเป็นอย่างไร ทุกคนทำในแนวทางเดียวกัน ใช้กลยุทธ์
เดียวกันหมด จึงพยายามหาความแตกต่าง เรามองว่า Scale of business เป็น key success factor
ถ้าเราทำเล็กๆ เน้นกำไรสูงๆ แบบเดิม ฐานลูกค้าก็ไม่กว้าง ในขณะที่ตลาดกำลังเติบโต มีความต้องการเหลือเฟือ พอเราเล็ก เราก็จับได้แค่นี้ เราเลยเน้นทำธุรกิจ Scale ใหญ่กว่าเดิมหลายเท่าตัว
จากนั้นก็เริ่มปรับกระบวนการในการทำงานใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เราสามารถดูแลเรื่องต้นทุนได้อย่างชัดเจน ซึ่งแต่ก่อนพ่อแม่จะทำงานแบบวันต่อวัน ดูรวมๆว่ามีเงินเหลือในกระเป๋าก็โอเคแล้ว
แต่เราคิดว่าทำไมต้องทำเหมือนคนอื่น เดิมทีธุรกิจนี้เป็นเรื่องของเงินเชื่อ แต่เราจะค้าเงินสด โดยการลดราคาให้ลูกค้าซื้อของได้ถูกลง เราเอากำไรน้อยลง แต่ขายได้ปริมาณมากขึ้น รวมถึงขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้นอีกด้วย
คุณขายเงินเชื่อก็ขายไป ถ้าอยากให้ลูกค้ามีความภักดี แต่วิธีการของเรา คือ ขายเงินสด เพราะมันช่วยให้สามารถควบคุมการเงินได้ เราจะมีวินัยในการใช้เงินด้วย เพราะได้เงินสดจากลูกค้ามา ก็เอาไปจ่ายซัพพลายเออร์ได้เลย
ถ้าเราขายเงินเชื่อแล้วลูกค้าไม่จ่ายเรา จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเรื่องจริง เพราะเรามีหลายสาขา ถ้าผู้จัดการบอกว่าสาขานี้ลูกค้าไม่จ่าย แต่ว่าความจริงแล้วลูกค้าจ่าย แต่ผู้จัดการแอบเอาเงินไปใช้ก่อนล่ะ อะไรคือสิ่งที่ควบคุมตรงนั้น เรามองว่าปัญหามันเยอะ ควบคุมการทำงานได้ยาก
อีกทั้งการขายเงินสด จะสามารถคำนวณต้นทุนได้เลย พี่ซื้อปลากับหนูก้อนนี้พี่ได้กำไร 700 ถ้าพี่เอาไปนึ่งขาย แต่ถ้าพี่ซื้อกับอีกเจ้าหนึ่งพี่ได้กำไรแค่ 400 นะ เพราะเขาขายแพงกว่า บางคนขายแพงแล้วยังทำน้ำหนักไม่เต็ม ปลาหนูพี่ซื้อไปนึ่งขายได้ 50 เข่ง พี่ซื้อปลาคนอื่นทำได้แค่ 45 เข่งนะ
พูดความจริงให้เขาเห็นภาพ สอนให้เขาดูปลา ให้เขารู้ต้นทุน ไม่ใช่สักแต่ว่าขายของ แต่เราจะให้ความรู้กับลูกค้า คำนวณต้นทุน กำไร ให้ลูกค้าดูเลยว่าซื้อไปแล้วลองดูนะว่าออกเข่งต่างกันไหม ได้จำนวนตัวต่างกันไหม คุณภาพต่างกันไหม ลูกค้าก็ค่อยๆบอกต่อปากต่อปาก
และถึงแม้ลูกค้าจะบอกปากต่อปาก ทำให้ได้ลูกค้าใหม่ๆเข้ามาเยอะมาก การตลาดเราไปได้สวยทุกที่ แต่ก็ไม่ได้นอนใจ เพราะคิดว่าถ้าคู่แข่งทำตามล่ะ จึงมานั่งคิดต่อไปอีกว่า จะทำธุรกิจอย่างไรให้คนเลียนแบบได้ยาก”
นอกจากเปลี่ยนระบบการชำระเงินจากเงินเชื่อมาเป็นเงินสดแล้ว รมิดา ยังมองเห็นช่องว่างทางการตลาดจากธุรกิจห้องเย็นอีกอย่าง นั่นคือการที่กลุ่มเป้าหมายจะมีแต่ลูกค้ารายใหญ่เท่านั้น
ส่วนลูกค้ารายย่อย จะรับสินค้าจากพ่อค้าคนกลาง ที่มารับสินค้าจากห้องเย็นแล้วเอาไปบวกกำไรเพิ่มอีกต่อหนึ่ง
“ตรงนี้เป็นโมเดลธุรกิจที่ทำกันมานาน คือ ถ้าลูกค้าซื้อปลาไม่ถึง 100 กิโลกรัม ไม่มีห้องเย็นที่ไหนขับรถไปส่งหรอก แล้วบ้านแต่ละคนก็อยู่ไกลกันมาก เขาจะมองแต่ลูกค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน
ทีนี้ลูกค้ารายเล็ก ก็ต้องไปซื้อเอาจากรายใหญ่อีกที ต้นทุนมันก็เปลี่ยน คนที่ได้เปรียบกลายเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ เพราะสามารถบวกเอากำไรได้ เราเองก็เหนื่อยในการที่ต้องดีลกับรายใหญ่ๆแบบนี้ เพราะเขารู้ต้นทุนของเรา บีบให้เราขายของในราคาที่ต่ำ กลายเป็นคนกำหนดราคา แถมยังมีเงื่อนไข มีข้อกำหนดต่างๆมากมาย ห้ามไม่ให้เราไปขายเจ้านั้นเจ้านี้
เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าเราตัดตอนตรงนี้ออกไปได้ และวิ่งส่งสินค้าเองให้ถึงมือลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อลดอำนาจการต่อรองของซัพพลายเออร์รายใหญ่ ไล่ไปตั้งแต่ลูกค้าขนาดกลาง ไปจนถึงการค้าปลีกกับลูกค้ารายย่อย ก็จะช่วยให้เรามีอำนาจการต่อรองมากขึ้น และยังขยายฐานลูกค้าออกไปได้อีก”
รมิดา จึงเริ่มจัดระบบใหม่ นำ ERP (Enterprise Resource Planning program) มาใช้ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบลอจิสติกส์ เริ่มจากการสั่งซื้อ,การบริหารคลังสินค้า และการบริหารระบบการขนส่งที่ทันสมัย
โดยมีคู่คิดและคู่ชีวิต “นพคุณ ตรีโรจน์พร” มาคุมหางเสือดูแลระบบ TMS (Transportation Management System) ที่จ้างคนมาพัฒนา จนกลายเป็นSoftware ของบริษัทเอง
มุ่งเน้น ระบบDelivery Management , GPS tracking, Navigation system ที่ได้นำมาใช้ในบริษัทได้หลายปีแล้ว และก็ช่วยบริหารจัดการในเรื่องของลอจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้มีแต้มต่อที่เหนือกว่าคนอื่น
“ในส่วนของระบบลอจิสติกส์ เราทำใหม่หมด ตั้งแต่การนำของเข้าคลังสินค้า การขนถ่ายที่ดี นำแมททีเรียลทุกอย่างที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ แล้วก็วางแผนในการขนส่ง เอา GPS มาติดตั้งในรถกระบะที่ใช้ส่งสินค้า สามารถติดตามได้ว่าในขณะนี้รถอยู่ที่ไหน มีระบบนำทาง คนขับรถบางคนไม่เคยทำงานมาก่อน มาวันแรกก็สามารถไปส่งของได้โดยไม่หลงทาง เพราะมีระบบคอยบอกเส้นทาง และคำนวณระยะทางที่ใกล้ที่สุด หรือบอกได้ว่าควรไปส่งของที่ไหนก่อน นอกจากวิเคราะห์เรื่องเส้นทางได้แล้ว ยังช่วยในเรื่องประหยัดน้ำมัน และประหยัดพลังงาน
หลายคนอาจจะมองว่ากล้าลงทุนเกินไปหรือเปล่า แต่เรามองว่าเม็ดเงินตรงนี้ไม่ได้เอาไปเล่นการพนันหรือเอาเงินไปเที่ยวเมืองนอกทีเดียวหลายๆแสน แต่เป็นการลงทุนที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์กับบริษัท การที่เรากล้าลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี สุดท้ายแล้วในระยะยาว มันจะส่งผลให้ต้นทุนต่ำลงอย่างแน่นอน
ไม่เคยคิดว่า ต้องรอให้คนอื่นทำก่อน เขาทำสำเร็จแล้วค่อยทำตาม ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องเป็นผู้ตามคนอื่นตลอดไป
พ่อสอนให้เราเป็นคนไม่เอาเปรียบใคร ยอมเสียเปรียบคนอื่นบ้าง แล้วเราจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สบายใจ อาจดูเหมือนคนไม่ค่อยฉลาด แต่เราก็ได้ความนับถือตัวเอง และมันก็ขยายผลไปถึงวิธีทำการค้าของเราด้วย ทำให้คู่ค้าอยากเป็นพาร์ทเนอร์กันระยะยาว เพราะเราเป็นคนซื่อ รู้คุณคน ขายของเก่ง ยอดขายโตทุกปี แถมยังไม่เอาเปรียบเขา
เรามีโนว์-ฮาว เรื่องความสามารถในการจัดซื้อปลาทะเลแช่แข็ง ที่พ่อแม่สอนมา เหมือนเป็นสูตรลับทางการค้า ทำให้รู้จังหวะในการสั่งซื้อสินค้าได้แม่นยำกว่าคนอื่น รู้ว่าสินค้าไหน ควรซื้อหรือไม่ ควรซื้อที่ราคาเท่าไหร่ ราคาที่ผู้ขายเสนอมาเราจะรู้ว่าเหมาะสมไหม ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่กว่า 30 ปี
นอกจากฝั่งซัพพลายเออร์ที่เราทำได้ดีขึ้นทุกวัน สามารถบริหารจัดการลูกค้า เพื่อลดแรงกดดันจากลูกค้ารายใหญ่ เราเริ่มเรียนรู้ว่าลูกค้าเราคือใคร ระหว่างลูกค้าที่เป็น wholesellers กับ retailers ถ้าเราเรียนรู้ลูกค้าที่เป็นรายใหญ่ แล้วเริ่มถูกบีบจาก Wholesellers ไปเรื่อยๆเราคงอยู่ไม่รอด จึงจำเป็นต้องมีลูกค้าปลีกที่เป็น retailers มาปนด้วย เป็นการกระจายพอร์ทของลูกค้า เพื่อกระจายความเสี่ยง เลี่ยงการอยู่รอดได้จากลูกค้าเพียงไม่กี่ราย
และเน้นการเอ้งชิ้ว ยืนราคาเก่าให้ลูกค้า เมื่อเวลาของจะขึ้น ช่วยให้เขามีโอกาสทำกำไรมากขึ้น เพราะไม่ฉวยโอกาส เขาจึงไว้ใจ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การรักษาฐานลูกค้าเดิม คือ ยอดเดิมห้ามตก และพยายามเพิ่มยอดซื้อลูกค้า ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้าซื้อสินค้าตัวใหม่ ให้ฝ่ายขายเชียร์ให้ลูกค้าลองเอาไปขายต่อ และส่งเสริมลูกค้าที่ซื้อสินค้ากับเราแบบรักเดียวใจเดียว อย่างตอนนี้ก็มีการทำระบบสะสมแต้มให้ลูกค้าใช้แต้มแลกซื้อสินค้าเจ๋งๆต่างๆได้”
ด้วยกลยุทธ์ในการบริหารงานที่สร้างสรรค์ และคลอบคลุมครบทุกด้าน ธุรกิจห้องเย็นขายปลาทะเลแช่แข็งภายใต้การบริหารงานของรมิดา ขยายสาขาไปแล้ว 6 จังหวัดทั้งบุรีรัมย์, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, มุกดาหาร,ร้อยเอ็ด, สุรินทร์
และกำลังจะเปิดสาขา 7 อุดรธานี ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอีสานตอนเหนือจังหวัดแรก หลังจากที่ครองมาร์เก็ตแชร์กว่า 40% ของทุกสาขา ที่อยู่ในเขตอีสานตอนกลางและล่างได้สำเร็จไปแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดตะเข็บชายแดน จะมียอดขายที่ดีเป็นพิเศษ
“จากนี้ไป นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนในระยะยาวแล้ว ยังเตรียมตั้งรับการมาของ AEC อาศัยความได้เปรียบของลอจิสติกส์ในเส้นทาง East-West corridor วางแผนการสร้างศูนย์กระจายสินค้า เพิ่มความแข็งแกร่งและมองหาพันธมิตรทางการค้า มุ่งเน้นการค้าแนวตะเข็บชายแดน ที่เรามีความได้เปรียบอยู่แล้วในเขตการขายหลักปัจจุบัน
และเดินหน้าส่งทีมทำวิจัยตลาดลูกค้าในกลุ่ม AEC อย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาความต้องการของลูกค้า,ไลฟ์สไตล์, การใช้ชีวิตของเขา เพื่อจะได้หาสินค้าที่ถูกใจ และตรงกับความต้องการของลูกค้าลูกกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด”
ส่วนความยากของธุรกิจ รมิดากล่าวติดตลกว่า อยู่ที่ความอึด ความอดทนของเจ้าของ เพราะต้องลงทุนสูง ใช้เวลานานกว่าจะคืนทุน แถมยังเป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ ต่างจากการเล่นหุ้น ที่ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งได้กำไร
อุปสรรคมักทำให้ผู้ประกอบการหลายรายถอดใจและทิ้งธุรกิจไปกลางคัน แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้ประกอบการอย่างเธอ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คำว่ายอมแพ้ไม่เคยมีอยู่ในพจนานุกรม แถมยังกล้าที่จะแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ จนสามารถก้าวขึ้นมายืนเป็นฮับในการกระจายสินค้าปลาทะเลแช่แข็งอีกแห่งในภาคอีสานได้อย่างภาคภูมิ
@@@@ ข้อมูลโดยนิตยสาร SMEs Plus @@@@
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *