xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : การบริหารเงินของผู้เกษียณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips

โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
และเสกสรร โตวิวัฒน์
บลจ.กองทุนบัวหลวง

สิ่งที่ต้องระมัดระวัง 

1. การจ่ายเงินก้อนให้ลูกหลาน หรือเพื่อนฝูง เช่น เพื่อนขอยืม ซื้อรถให้ลูกหลาน ต้องมั่นใจว่าไม่กระทบต่อเงินออมเพื่อดำรงชีพหลังเกษียณของเรา จะให้ดีก็อย่าไปให้เลยเพราะนี่คือเงินก้อนสุดท้ายของเรา

2. ระวังอาชีพใหม่ที่ต้องลงทุนสูง เช่นหลายคนมีความฝันจะไปทำสวนทำไร่ ซื้อที่ลงทุน ปลูกบ้านในต่างจังหวัด ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กๆ แต่ลืมไปว่าตนเองไม่มีประสบการณ์มาก่อน และไม่มีแรงเท่าวัยหนุ่มสาว อาจทำให้เงินที่ทำงานมาทั้งชีวิตหดหายไป

3. ระวังการต้มตุ๋น โดยเฉพาะเวลามีคนเข้ามาเยินยอความสำเร็จในอดีต ทำให้หลงเชื่อ ถูกหลอกให้จ่ายเงินได้ มารเหล่านี้มักพุ่งเป้าหมายที่คนสูงอายุเพราะมีเงินก้อนในมือ และไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมโจร ทางที่ดีแล้วอย่าไปเป็นพ่อยกแม่ยกให้ใคร

เรื่องที่ต้องพิจารณาและเตรียมการทันที

1. เกษียณแล้วจะว่างจัด ความว่าง + เงินก้อนในมือ เสี่ยงต่อการใช้จ่ายอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง

2. ตรวจสอบสวัสดิการด้านสุขภาพของตัวเองว่ามีอะไรอยู่บ้าง สิทธิข้าราชการ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ เพราะจะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของคนวัยนี้

3. ตรวจสอบหนี้สินที่คงเหลือ วางแผนหาวิธีจัดการให้ได้เร็วที่สุด

4. คำนวณให้มั่นใจว่าเงินที่มีอยู่และจะได้ระหว่างเกษียณ เช่น บำนาญ เงินคืนจากประกันแบบบำนาญ เพียงพอต่อการใช้จ่ายในช่วงชีวิตที่เหลือหรือไม่

5. ทำบัญชีทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทรัพย์สินทางการเงิน อย่างเช่นที่ดิน บ้าน เครื่องประดับมีค่า ของโบราณที่มีค่า รวมถึงระบุรายละเอียดสถานที่ แผนที่ ที่เก็บรักษา ราคาทุนที่ได้มา ฯลฯ และทำพินัยกรรมไว้ล่วงหน้า

6. ทำบัญชีเงินสดรับจ่ายในแต่ละเดือนล่วงหน้าไปเป็นปี คำนวณไปจนอายุ 80

หากคำนวณแล้วทรัพย์สินทางการเงินไม่พอใช้

1. ปัญหาสถานเบา คือเงินพอใช้พอดีๆ ไม่เหลือ 

1) หาวิธีลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีขึ้นในความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น ขยับจากฝากธนาคารไปกองทุนตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนผสมที่เน้นตราสารหนี้

2) เกษียณแล้วรายได้มักไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ดังนั้นให้ขอคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้

2. ปัญหาสถานหนัก คือเงินออมไม่พอเหลือใช้จ่ายสำหรับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ 

1) ลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าที่พักอาศัย ค่าใช้จ่ายครอบครัว โดยไปอยู่ร่วมกันกับญาติ ลูกหลาน ขายบ้านไปได้ก็จะได้เงินก้อนเพิ่ม

2) สำรวจทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นและแปลงเป็นเงิน เช่น ของสะสมของสาวๆ เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า

3) หารายได้เสริม ใช้ความสามารถสร้างรายได้ได้อยู่ เช่น ทำอาหาร เป็นผู้บรรยาย เขียนหนังสือ เป็นที่ปรึกษาบริษัท ฯลฯ

การออมการลงทุนในวัยนี้ 

1. ต้องจัดสรรเงินให้ดี แบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ ต้องไม่ลงทุนเกินความเสี่ยงที่รับได้

2. คนที่รับความเสี่ยงได้ การเล่นหุ้นเอง ซื้อกองทุนเองในเงินที่จัดสรรแล้ว ทำให้คนสูงอายุมีงานทำ มีสังคม ฝึกคิดเลข ฝึกสมอง เขาว่าช่วยลดปัญหาความจำเสื่อมได้

พอร์ตการออมการลงทุนของคนวัยเกษียณ 

1. ควรเป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงโดยรวมอยู่ในระดับต่ำหรือปานกลางถึงต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาหากพอร์ตการลงทุนเกิดความเสียหาย

2. เน้นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอจากการลงทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ลดการดึงเงินต้นออกมาใช้ให้มากที่สุด เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ต่างๆ เช่น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารหนี้ที่จ่ายเงินคืนระหว่างการลงทุน กองทุนหุ้นที่จ่ายปันผล กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ เป็นต้น

3. เน้นที่การฝากธนาคาร กองทุนตราสารหนี้ หุ้นกู้ พันธบัตร ที่มีความเสี่ยงต่ำ

4. การลงทุนในหุ้น ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สามารถทำได้ในส่วนที่เป็นพอร์ตที่ต้องการผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งต้องกำหนดสัดส่วนให้ชัดเจน

ตัวอย่างสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำ 

- เงินฝาก หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารหนี้ 50-75%

- หุ้น กองทุนหุ้น 10-30%

- ทองคำ กองทุนทองคำ 5-15%

- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 10-20%

ที่สำคัญการลงทุนนั้นต้องสะดวกและมีสภาพคล่องในการไถ่ถอนมาใช้จ่ายด้วย

B-Senior กองทุนสำหรับคนวัยเกษียณ

ถ้าการจัดสรรกำหนดสัดส่วนลงทุน และการเบิกจ่ายรับเงินมาใช้จ่ายรายเดือนที่เป็นปัญหายุ่งยากของผู้สูงวัยหลายคนนั้น กองทุนบัวหลวงมีกองทุน B-Senior ซึ่งมีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ในสัดส่วนที่สูงไม่ต่ำกว่า 70% เพื่อเน้นความมั่นคง และมีสัดส่วนของการลงทุนในหุ้น ทองคำ กองทุนที่เน้นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ รวมกันไม่เกิน 30% เพื่อเพิ่มโอกาสเพิ่มผลตอบแทนของกองทุนตามจังหวะที่เหมาะสม

ที่สำคัญคือ กองทุนยังมีบริการให้ผู้ลงทุนสามารถกำหนดวันขายคืนเป็นประจำทุกเดือนไว้ล่วงหน้า ผู้ลงทุนจึงสะดวกสบายในการรับเงินไปใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งน่าจะช่วยตอบโจทย์ปัญหายุ่งยากของผู้เกษียณได้


กำลังโหลดความคิดเห็น