xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนอย่างนักกอล์ฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
พิชา เลียงเจริญสิทธิ์ (กอล์ฟ)

เมื่อคืนก่อน กำลังจะนอนอยู่แล้วเชียว ผมได้การบ้านจากพี่ตู่ CEO กองทุนบัวหลวง โดยการบ้านคือให้อ่านเรื่องกีฬากอล์ฟกับการลงทุน ผมแอบคิดว่าทำไมต้องเป็นผมอีกแล้ว สงสัยเป็นเพราะผมมีอีกชื่อคือกอล์ฟ เลยแจ๊คพ็อตมาแตกที่ผม ทั้งๆ ที่ผมเล่นกอล์ฟไม่เป็นเลย ง่วงก็ง่วง ทำงานทั้งวันแล้วยังมีการบ้านแถมมาให้อ่านที่บ้านอีก

แต่อ่านไปแล้ว ผมว่ามันเข้าท่า และน่าจะมีประโยชน์ต่อทั้งผมและผู้ลงทุนทั่วไป ยิ่งนักกอล์ฟ หากมาอ่านเข้า น่าจะเข้าใจได้มาก ผมเลยทำการบ้านเลยคำสั่งไปหน่อย คือสรุปมาให้อ่านกันครับ และก็ต้องขอบคุณ คุณ Shauna Carther ผู้เป็น Vice president ของ Investopedia ไว้ก่อน เพราะผมสรุปเนื้อหาหลักๆ มาจากบทความของเธอแล้วปรับปรุงเพิ่มเติมให้เข้ากับบรรยากาศบ้านเรา

พูดถึงกอล์ฟแล้ว ผมคิดว่าผู้ที่ชื่นชอบกีฬากอล์ฟคงจะชอบเพราะมันเป็นเกมส์การแข่งขันที่สบายๆ ได้ออกไปสูดอากาศนอกบ้าน ได้ความรู้สึกดีเมื่อได้ตีลูกสวยๆ ได้แข่งขันกับตัวเอง ได้พบปะเฮฮากับเพื่อนฝูง และอาจชื่นชอบเป็นพิเศษที่ได้หนีภรรยาไปหาน้องแคดดี้

เอ่อ .... อย่างหลังนี่ผมถือว่าเป็นมหันตภัยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่นะครับ

แต่รู้หรือไม่ว่า กอล์ฟกับเกมการลงทุนซึ่งดูเป็นคนละเรื่องนั้น กลับมีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้าน และข้อคิดจากกีฬากอล์ฟสามารถเป็นข้อคิดต่อการลงทุนได้ด้วยเช่นกัน

Shauna Carther บอกให้เราพิจารณา ในความเหมือนกันอยู่ 10 ข้อ ดังนี้ครับ

1.อย่าปล่อยให้จิตใจมีผลต่อเกม

เมื่อใดที่นักกอล์ฟตีไม่ได้ดังใจ แล้วไม่สามารถควบคุมอารมณ์ในขณะที่เล่นได้ จะยิ่งทำให้การตีครั้งต่อๆ ไป ‘ห่วย’ ยิ่งขึ้นไปอีก เช่นเดียวกันกับนักลงทุน ที่มีอารมณ์โลภ ความกลัว และความเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป ล้วนแต่ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะจะทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่ายๆ

ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนที่กลัวความเสี่ยงมากๆ อาจจะขายหุ้นที่ราคาร่วงลงมา 10% ในช่วงเวลาสั้นๆ ทิ้งไป (เพียงเพราะความกลัว โดยไม่ดูความเหมาะสม) ซึ่งเพียงไม่นานราคาหุ้นก็จะดีดตัวกลับขึ้นไป อีกกรณีหนึ่งก็คือนักลงทุนที่เชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไปว่าจะลงทุนให้ชนะตลาดได้ตลอดเวลา ทำให้เขาซื้อขายบ่อยครั้งมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย เลยเสียค่าธรรมเนียมมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

2.เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ

นักกอล์ฟไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพสามารถเรียนรู้เทคนิคการตีจากโปรกอล์ฟชื่อดังอย่าง Tiger Woods หรือ Phil Mickelson

เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่หรือนักลงทุนที่มีประสบการณ์แล้ว ล้วนแต่สามารถเรียนรู้ได้อีกมากจากนักลงทุนระดับปรมาจารย์ ไม่ว่าจะเป็น Warren Buffet, Peter Lynch หรือ George Soros ซึ่งแม้ว่ากลยุทธ์การลงทุนของนักลงทุนชั้นแนวหน้าเหล่านี้จะแตกต่างกัน แต่คุณก็สามารถเลือกใช้หรือเลียนแบบแนวทางที่เหมาะสมกับเป้าหมายและระดับการยอมรับความเสี่ยงของตนเองได้

พอสรุปบทความของ Shauna Carther มาถึงตรงนี้ ผมเหมือนได้ยินเสียงพี่ตู่ก้องอยู่ในหูเลยว่า

“ให้ศึกษาแนวทางของปรมาจารย์หลายๆ คน แต่อย่าศึกษาเฉพาะเรื่องที่เขาทำสำเร็จ ให้ดูเรื่องที่เขาผิดพลาดด้วย จะได้รู้สาเหตุที่ทำให้พลาด และต้องไม่ลืมว่าวงสวิงเป็นของใครของมัน หาวงสวิงที่เราถนัดและทำได้ดีที่สุดจะดีกว่าไปฝืนทำตามคนอื่น การร้องเพลงได้อย่าง เอลวิส เพรสลีย์ เป๊ะๆ การแต่งตัวอย่าง เลดี้ กาก้า ได้เหมือนเปี๊ยบ มันก็น่าทึ่งอยู่ แต่มันไม่ทำให้เราเป็น เอลวิส หรือ เลดี้ กาก้า ไปได้หรอก ที่สำคัญคือการลอกเลียนแบบจะไม่ทำให้เราได้ผลตอบแทนเท่า เอลวิส และกาก้า ตัวจริง”

3.จงฟังคำแนะนำอย่างระมัดระวัง

เมื่อเพื่อนของคุณเชียร์หุ้นซักตัวให้คุณฟัง มันก็เหมือนกับฟังเทคนิคการตีกอล์ฟจากเพื่อนที่เล่นในระดับเดียวกัน คือคุณไม่สามารถจะรู้ได้หรอกว่าสิ่งที่เพื่อนคนนั้นบอกคุณมันมั่วหรือเปล่า บ่อยครั้งที่คุณมักจะได้ยินหุ้นที่มีเพื่อนแนะนำว่า “ซื้อสิ มันจะต้องขึ้นเยอะแน่นอน”

เพราะการเชื่อโดยขาดการไตร่ตรองอาจจะพาให้คุณขาดทุนได้ ถ้าคุณไม่ได้ไปศึกษาหุ้นตัวนั้นเพิ่มเติม

4.หาที่ปรึกษาดีๆ เอาไว้ซักคน

นักกอล์ฟระดับโปรนั้นไม่ได้ใช้แคดดี้ทั่วๆ ไปเมื่อเขาต้องลงแข่งในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ แคดดี้ที่ดีนั้นจะมีความเข้าใจในเกมกีฬากอล์ฟอย่างมาก และเข้าใจพื้นที่สนามที่เข้าไปแข่ง ซึ่งจะช่วยแนะนำผู้เล่นให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเล่นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ แคดดี้ที่ดีจะเข้าใจบุคลิกลักษณะนิสัยใจคอของผู้เล่น และจะช่วยเตือนสติให้ผู้เล่นควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น

ที่ปรึกษาการลงทุนที่ดีก็เช่นกัน เขาจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดหุ้นและการลงทุนเป็นอย่างดี และสามารถเลือกกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคนที่เขาเข้าใจอุปนิสัยใจคอได้มากที่สุด

5.คำนึงถึงความเสี่ยงเข้าไว้

ในการตีกอล์ฟนั้นย่อมมีสิ่งที่นักกอล์ฟควรหลีกเลี่ยง การลงทุนที่ประมาทเลินเล่อก็เช่นกัน เพราะมันจะพาให้ผลตอบแทนของการลงทุน ‘ลงเหว’ ไปได้ ดังนั้น ก่อนที่จะใช้เงินที่ได้มาอย่างยากลำบากไปลงทุนกับอะไรสักอย่าง คุณต้องศึกษาการลงทุนนั้นให้ดีเสียก่อน ต้องหัดทำการบ้านให้ดีนะครับ

6.เดินอย่างค่อยไปค่อยไป

ในกีฬากอล์ฟ การค่อยๆ ตีไปทีละขั้นมักจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าจะไปตั้งเป้าเหวี่ยงไม้เดียวให้ได้โฮลอินวัน การลงทุนก็เช่นกัน การเล่นหุ้นตัวเล็กๆ เพื่อหวังจะได้กำไรเป็น 10 เท่าในเวลาสั้นๆ อาจจะไม่ได้ผลดีอย่างที่หวัง เพราะการเลือกหุ้นขนาดเล็กให้ถูกตัวและถูกเวลานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องด้วยการเปิดเผยข้อมูลนั้นค่อนข้างจะจำกัด และหุ้นมักจะถูกแรงเก็งกำไรค่อนข้างมาก ในขณะที่การลงทุนในหุ้นที่เติบโตแข็งแกร่งอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นก็สามารถให้ผลตอบแทนเป็น 10 เท่าได้เหมือนกัน แต่เสี่ยงน้อยกว่า

7.ไม่มีการ ‘ตีผิดขอตีใหม่’

เวลาไปเล่นกอล์ฟกับเพื่อน เพื่อนอาจจะยอมให้คุณตีใหม่เป็นครั้งที่สองได้ แต่ในการแข่งขันจริงจะไม่มีการยอมให้ตีใหม่แบบนั้น เช่นเดียวกับการลงทุน เมื่อตัดสินใจลงทุนผิดพลาดจนขาดทุนไปแล้ว จะไม่สามารถขอคืนเงินกลับมาที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ดังนั้น นักลงทุนต้องศึกษาการลงทุนให้ดีก่อนที่คิดจะลงทุน แต่ถ้าหากยังไม่มีความแน่ใจมากพอ ก็ควรจะหาที่ปรึกษาดีๆ ที่จะสามารถแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมได้

8.ฝึกซ้อม ฝึกซ้อม ฝึกซ้อม

Tiger Woods ไม่ได้อยู่เฉยๆ ก็เป็นโปรกอล์ฟขึ้นมาได้ เขาต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก ซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังมีการปรับปรุงข้อผิดพลาดตนเองอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกัน นักลงทุนก็ต้องหมั่นฝึกฝน หาความรู้ในการลงทุนอยู่ตลอดเวลา เก็บข้อผิดพลาดของตนเองไว้เป็นบทเรียนต่อไป และอย่าทำผิดซ้ำซาก

9.การถูก (หรือผิด) แค่ครั้งเดียวไม่ได้บ่งบอกถึงความสำเร็จ (หรือล้มเหลว) ในอนาคต

การออกรอบแย่ๆ แค่ครั้งเดียวไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ใช่นักกอล์ฟที่ดี การผิดถูกครั้งเดียวไม่สามารถชี้ชะตาชีวิตของคุณได้ การพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ต่างหากที่เป็นตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จ

ในการลงทุนนั้น แม้แต่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกก็ยังยอมรับว่าเขายังมีข้อผิดพลาดอยู่เสมอ นอกจากนี้ ควรตัดสินใจการลงทุนบนพื้นฐานของแนวโน้มในอนาคตมากกว่าไปยึดติดกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต ไม่ว่าอดีตจะดีหรือร้ายก็ตาม

Peter Lynch เล่าว่า ถ้าเขาเมินเฉยต่อหุ้น Subaru เพียงเพราะราคาหุ้นมันขึ้นมาแล้ว 20 เท่า เขาก็คงไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนี้จนได้กำไรไปอีก 7 เท่าหรอก เขาไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดที่เขาไม่ได้ซื้อหุ้นในอดีตมาบดบังโอกาสในอนาคต

10.การใช้เครื่องมือแพงๆ ไม่ได้รับประกันความสำเร็จ

การที่นักกอล์ฟเลือกใช้อุปกรณ์ราคาแพง ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเอาชนะในการแข่งขันได้ และมันก็ไม่ช่วยคุณตีโฮลอินวันได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกัน เครื่องมือหรือโปรแกรมลงทุนที่แปลกใหม่เช่นโปรแกรมเทรดหุ้นอัตโนมัติที่จะบอกว่าทำตามแล้วจะให้ผลตอบแทนได้เท่านั้นเท่านี้ ที่มักจะต้องซื้อมาด้วยราคาแพงก็อาจไม่ช่วยให้คุณลงทุนได้ดีขึ้น เครื่องมือพื้นฐานอย่างการดูปัจจัยพื้นฐานหรือเทคนิคทั่วๆ ไปอาจจะบอกอะไรได้ดีกว่า ถ้าคุณรู้จักใช้มันให้เป็น

แฟนนิยายกำลังภายในอาจจะเข้าใจได้ลึกซึ้งถ้านึกถึงคำว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ” หรือ “กระบี่อยู่ที่ใจ” เพราะปรมาจารย์ชั้นเซียนของบู๊ลิ้มเขาใช้ไม้กิ่งเดียวแทนกระบี่วิเศษได้เสมอๆ

เอาละครับ ครบ 10 ข้อแล้ว สำหรับผู้ที่ตีกอล์ฟ ถ้ามีโอกาสได้ไปออกรอบครั้งต่อไป ลองพิจารณาดูว่าจะใช้ข้อคิดสำหรับการตีกอล์ฟมาประยุกต์กับการลงทุนได้ไหม อย่างไร และมันอาจจะช่วยให้คุณเข้าใจการลงทุนมากยิ่งขึ้น

และเมื่อได้แผนการลงทุนที่เหมาะสมกับคุณแล้ว ผมว่าลองให้มืออาชีพที่มีเวลาเต็มที่อย่างกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล มาบริหารเงินให้คุณบ้าง

เพราะคุณจะได้มีเวลาไปออกรอบได้โดยไม่ต้องคอยกังวลกับความผันผวนในตลาดให้เสียวงสวิงไงครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น