xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปั่นหุ้น..บูมสุดขีด !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปี โดยยืนเหนือระดับ 1,500 จุด แม้ว่าจะไม่ทุบสถิติเดิมที่เคยไปสูงถึง 1,700 จุดก็ตาม แต่ข้อมูลการซื้อขาย ก็สร้างสถิติสูงสุดอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

โดยเฉพาะมูลค่าตลาดรวม หรือมาร์เก็ตแคป มีมากถึง 12 ล้านล้านบาท

นั่นทำให้เกิดความกังวลถึง “กระบวนการปั่นราคาหุ้น” และ “ฟองสบู่ในตลาดหุ้น”

จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เตือนนักลงทุนว่า “ขณะนี้มีสัญญาณความเสี่ยงฟองสบู่ในหลักทรัพย์บางตัว โดยพบว่า มี 120 หลักทรัพย์มีความเสี่ยง และในจำนวนนี้มี 70 หลักทรัพย์ ที่ราคาเพิ่มขึ้นสูง จนอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (พี/อี) เกิน 40 เท่า และอีก 50 หลักทรัพย์ มีผลตอบแทนติดลบ”

“ตลท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงได้มีคำเตือนไปยังนักลงทุนให้ลงทุนด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่อยากให้นักลงทุนขาดทุนจากการลงทุน ดังนั้น ขอให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยง หากต้องการเล่นหุ้นร้อนแรง ควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี เช่น หุ้นใน SET50 และขอให้ลงทุนด้วยเงินสด ไม่ควรลงทุนจากเงินกู้” จรัมพร ตอกย้ำ

แต่นักลงทุนไม่สนใจ เพราะหากการซื้อถูกขายแพง ยังทำกำไรให้พวกเขาได้ ไม่ว่าจะมีคำเตือนเช่นไร พวกเขาก็ไม่สน

ต่อให้มีการ “ปั่นราคาหุ้น” ทั้งตลาด พวกเขาก็ไม่สน

นักลงทุนเหล่านี้สนใจเพียงว่า เขาสามารถคว้าโอกาสในการสร้างกำไรใส่กระเป๋าตัวเองเท่านั้น

แต่ถ้าหากเมื่อไหร่ที่เกิดภาวะขาดทุน จนสิ้นประดาตัว

ข้อเรียกร้องต่างๆก็เกิดขึ้นตามมา

โดยไม่สนใจว่า พฤติกรรมในอดีตของเขา ล้วนสนับสนุนการปั่นราคา

ทั้งนี้ ดัชนีราคาหุ้นไทยในปี 2555 ปรับขึ้นร้อนแรงมาก โดยปรับสูงขึ้น 35.8% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย ทำให้มูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มขึ้นถึง 600,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านล้านบาท และเป็นการลงทุนจากรายย่อยถึง 300,000 ล้านบาท

ปัจจุบันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยืนที่ระดับกว่า 1,500 จุด

นั่นหมายความว่า หากนักลงทุนซื้อหุ้นอะไรก็ตาม เมื่อดัชนีต่ำกว่า 1,000 จุด สามารถขายแล้วได้รับกำไรทั้งสิ้น

โดยเฉพาะมูลค่าซื้อขายต่อวันที่มีมากกว่า 60,000 ล้านบาทในปัจจุบัน แสดงว่า มีการซื้อขายและขายหลายรอบในแต่ละวัน

ที่สำคัญคำอธิบายว่า ของ รมว.คลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่บอกว่า มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนมาก จนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า....นั้นเริ่มไม่จริงแล้ว

เนื่องจากแนวโน้มภาวะเงินทุนไหลเข้าในเดือน ก.พ. ชะลอลง ขณะเดียวกัน การไหลเข้าของเงินไปลงทุนในตลาดพันธบัตรระยะสั้นก็ลดลง และมีสัญญาณที่จะไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาวเพิ่มมากขึ้น

“การที่เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าลดลง และมาตรการผ่อนคลายของ ธปท. ในการสนับสนุนนักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างชาติ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในเดือนก.พ. มีเสถียรภาพมากขึ้น” ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล ผู้ว่าการธปท. อธิบายเนื้อแท้ของเงินทุนไหลเข้า

นั่นหมายความว่า การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เกิดจากนักลงทุนภายในประเทศเป็นสำคัญ

จนทำให้กระบวนการปั่นราคาหุ้นผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ในอดีตที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษบุคคลหลายประเภทที่มีพฤติกรรมปั่นราคาหุ้น

ล่าสุด ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ น.ส.โศภนา เจนบวร อดีตผู้จัดการกองทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย และบลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งทุจริตต่อหน้าที่ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเข้าข่ายเป็นความผิดตาม มาตรา 311 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พร้อมทั้งกล่าวโทษพระสุเทพ อาภสฺสโร (แป้นไผ่) และนางวัจฉละ พิสิฏฐ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนการกระทำผิดของน.ส.โศภนา

เนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าบริษัทหลักทรัพย์หลายราย ซึ่งมีพฤติกรรมการซื้อขายที่น่าสงสัยว่า อาจรู้เห็นกับบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน บลจ. ทำการซื้อหลักทรัพย์ดักหน้าการซื้อของกองทุนรวม

จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า ในช่วงเดือนพ.ย.2552 -พ.ย.2553 ซึ่งขณะนั้น น.ส.โศภนา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทย และในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.2554 น.ส.โศภนาได้ย้ายมาดำรงตำแหน่ง เป็นรองกรรมการผู้อำนวยการ บลจ. ไทยพาณิชย์ โดยทั้งสองช่วงเวลาดังกล่าว น.ส.โศภนา ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้จัดการกองทุนและกำกับดูแลกองทุนรวมส่วนตราสารทุนของทั้งสองบลจ. ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่โดยอาศัยประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลแผนการลงทุนของกองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ. ดำเนินการให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะดักหน้าการซื้อของกองทุนรวม เพื่อแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยใช้บัญชีของบุคคล 2 ราย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากพระสุเทพ และนางวัจฉละ

“ขณะกระทำผิดน.ส.โศภนา เป็นบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งปัจจุบันแม้นางสาวโศภนา จะมิได้ปฏิบัติงานที่ บลจ. แห่งใดแล้ว แต่การถูกกล่าวโทษในครั้งนี้ทำให้น.ส.โศภนา มีลักษณะต้องห้ามในการปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในตลาดทุน ก.ล.ต. จึงเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้จัดการกองทุนของน.ส.โศภนาด้วย” เอกสารของก.ล.ต.ระบุไว้

ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ กลไกการตรวจสอบของ ก.ล.ต.นั้น มีลักษณะ “วัวหายล้อมคอก” ทุกครั้ง เนื่องจากการกล่าวโทษ มักเกิดขึ้นหลังจาก การรู้ข้อมูลล่วงหน้า หรือปั่นราคา ดำเนินการเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว

บางเหตุการณ์ผู้กระทำผิด เลิกลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไปแล้ว หรือแม้กระทั่งแก่ตายไปแล้ว ก็ยังมี

แสดงให้เห็นว่า ผู้กระทำผิดเหล่านี้ร่ำรวยไปแล้ว จึงมีการกล่าวโทษในภายหลัง

นั่นจึงเป็น “มูลเหตุจูงใจ” ให้เกิดกระทำผิดเช่นนี้อีก...ไม่มีวันจบสิ้น

แต่กลับไม่มี “กลไก” การป้องกันหรือกล่าวโทษอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ก่อนเหตุการณ์ลุกลาม

ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.ได้ลงโทษเพิกถอน นายมาริศวน์ ท่าราบ ชื่อเดิม นายมาริษ ท่าราบ และ นายบุริม ชมภูพล จากการเป็นผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และจะรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ซึ่งรวมถึงกรรมการและผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ ครั้งต่อไปเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันที่ 14 ก.พ.2555

นั่นหมายความว่า มาริศวน์ ถูกแบนจากตลาดทุนเป็นเวลา 10 ปี

แต่ไม่มีผลสะเทือนต่อฐานะทางการเงินของมาริศวน์ แต่อย่างใด

แม้ ก.ล.ต.จะพิจารณาดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งสองต่อไป เนื่องจากพบว่าปฏิบัติงานบกพร่องอย่างร้ายแรงในการ จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ (กองทุน ที ยู โดม) เป็นเหตุให้กองทุนและผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับความเสียหายอย่างมาก

แต่กลับไม่มีความคืบหน้า

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า นายมาริศวน์ และ นายบุริม ซึ่งทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุน ที ยู โดม ในช่วงปี 2549-2552 และ 2551-2552 ตามลำดับ ทำการปกปิดอำพรางการทำธุรกรรมซึ่งขัดกับกฎหมายและเงื่อนไขการลงทุนที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุน ไม่วิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับของแต่ละทางเลือกก่อนตัดสินใจปรับเปลี่ยนแบบการก่อสร้าง คัดเลือกบริษัทเข้ามาดำเนินงานก่อสร้าง อย่างไม่โปร่งใส ไม่ตรวจตราทรัพย์สินให้ครบถ้วนก่อนรับมอบจากผู้ให้เช่า รวมทั้งไม่จัดให้มีเอกสาร หลักฐานหรือสัญญาเพื่อให้สามารถตรวจสอบความเหมาะสมของการทำธุรกรรมและเพื่อป้องกันความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นกับกองทุน

นอกจากนี้ ยังพบว่านายมาริศวน์ ได้อนุมัติการจ่ายเงินของกองทุนอย่างไม่สมเหตุผลและเงินได้ถูกโอนต่อให้แก่นายบุริม ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนเหตุในการรับเงิน การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง และมีการบริหารจัดการ กองทุนที่หละหลวม ซึ่งผิดวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพพึงกระทำเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของกองทุนเป็นอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2554 บริษัทจัดการได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยความเสียหายเนื่องจากการกระทำข้างต้นให้แก่กองทุน ที ยู โดม เป็นเงิน 100 ล้านบาทแล้ว

ทั้งนี้คณะกรรมการเปรียบเทียบได้มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ บลจ.ไอเอ็นจี 1,925,875 บาท ปรับนายมาริษ ในฐานะกรรมการผู้จัดการและบุคคลที่ได้รับมอบหมายจาก บลจ.ไอเอ็นจี ให้เป็นผู้จัดการกองทุนรวม TU-PF ซึ่งได้บริหารจัดการกองทุนรวมดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ บลจ.ไอเอ็นจี ปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นจำนวนเงิน 231,750 บาท และปรับธนาคารนครหลวงไทยในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม TU-PF ที่ไม่ดูแลให้ บลจ.ไอเอ็นจี ปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการจัดการกองทุนรวมโดยเคร่งครัด และมิได้รายงานการกระทำของ บลจ.ไอเอ็นจี ต่อ ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นจำนวนเงิน 421,650 บาท

นับเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับ “ผลประโยชน์” ที่ได้รับไปก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังเคยกล่าวโทษขบวนการปั่นหุ้นหุ้นบริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (METRO) หุ้นบริษัท ไทยยูนีคคอยล์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (TUCC) หุ้นบริษัท เอส.อี.ซี ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (SECC) หุ้นของบริษัททราฟฟิก คอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TRAF) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (MPIC)) ราคาหุ้นของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (RS)

แต่นั่นไม่ได้ทำให้ “ดาบอาญาสิทธิ์” ของก.ล.ต.ศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด

ด้วยเหตุที่กระบวนการปั่นหุ้นยังคงเดินเฉิดฉายอยู่ในสังคม และกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง !!


จรัมพร โชติกเสถียร
ประสาร ไตรรัตนวรกุล
 โศภนา เจนบวร
 นายมาริศวน์  ท่าราบ
กิตติรัตน์ ณ ระนอง
กำลังโหลดความคิดเห็น