ไชน่าเดลี่ - หลังจากที่รัฐบาลจีนงัดมาตรการต่างๆ ออกมา เพื่อหวังควบคุมราคาซื้อขายบ้าน และลดความร้อนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปรากฎการณ์อย่างหนึ่งก็เกิดขึ้นตามมา นั่นคือผู้คนบนแดนมังกรมีการแต่งงาน หรือหย่าร้างกันอย่างคึกคัก จนผิดสังเกต
รัฐบาลจีนได้ประกาศกฎข้อบังคับใหม่เมื่อต้นเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้ครอบครองบ้าน หรือห้องพักอาศัยมากกว่า 1 หลัง หากมีการขายออกไป จะต้องจ่ายภาษีเงินได้จากการขายร้อยละ 20 ของราคาขาย ซึ่งสูงกว่าเดิม ที่จ่ายเพียงร้อยละ 1 -2 เท่านั้น
เมื่อรัฐบาลออกกฎหฤโหดในความรู้สึกออกมา ชาวจีนหัวใสจึงจำเป็นต้องงัดกลยุทธ์แต่งหลอก-หย่าหลอก ออกมารับมือ
คู่สามีภรรยา ซึ่งครอบครองที่อยู่อาศัย 2 หลัง อาจหลีกเลี่ยงภาษีสูงลิ่วนี้ได้ ถ้าทั้งคู่แยกกันอยู่ และเป็นเจ้าของบ้านคนละหลัง
ช่องว่างนี้ส่งผลให้เกิดการหย่าร้างกันอย่างถล่มทลาย เช่น ที่นครเซี่ยงไฮ้ คู่สมรส ที่มาเซ็นทะเบียนหย่า รอเข้าแถวยาวเหยียด กระทั่งที่ว่าการเขตต้องจำกัดจำนวนผู้มาขอหย่าในแต่ละวัน
“ ผมไม่เคยลืมวันที่พ่อแม่หย่ากันได้เลย มันเป็นเพียงแค่การประชด ท่านรักกันมาก แต่ต้องหย่า เพื่อลูกชายของผมเอง “ ชาย ซึ่งอาศัยในกรุงปักกิ่ง ที่บอกชื่อแค่ว่า นายหวง เล่า
ครอบครัวของนายหวงก็เหมือนกับครอบครัวอีกมากมายในเมืองจีน พ่อแม่ของเขามีโครงการจะซื้อบ้านหลังหนึ่งในย่าน ซึ่งมีโรงเรียน ที่ดีตั้งอยู่ เพื่อเตรียมไว้สำหรับหลานชายที่กำลังจะเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา
ด้วยกลอุบายนี้เอง เมื่อขายบ้านหลังหนึ่งจากทั้งหมด 2 หลัง ที่มีอยู่ในชื่อของมารดาไป ครอบครัวนี้จึงสามารถเลี่ยงการจ่ายภาษีได้มากกว่า7 แสนหยวน
เขายอมรับว่า เป็นการหาทางออก ที่ไม่ฉลาดเลย แต่มันก็สามารถแก้ปัญหา ที่เกิดจากนโยบายใหม่ของรัฐบาลได้ และคู่สมรสอีกหลายคู่ ก็ทำแบบเดียวกันนี้
สำรับกรุงปักกิ่งนั้น ยังมีกฎระเบียบห้ามสตรีโสด ซึ่งมีบ้านถาวรในกรุงปักกิ่งแล้ว ซื้อบ้าน หรือห้องพักอาศัยหลังที่ 2
บางคนจึงหันมาใช้วิธีแต่งงานปลอม เพื่อเลี่ยงกฎข้อห้าม
นี่หาใช่ครั้งแรก ที่นโยบายเกี่ยวกับบ้านอาศัยได้ส่งผลกระทบต่อการแต่งงานของผู้คนบนแดนมังกร เมื่อหลายปีก่อนผู้คนในเมืองต่างๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และหนันจิง พากันแต่งงาน หรือหย่าร้างกันหลอก ๆ เพื่อเข้าเกณฑ์ได้รับค่าชดเชยเป็นบ้านหลังใหม่จากทางการ เมื่อบ้านหลังเก่าถูกเวนคืน
มีกรณีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมี.ค. นี้เอง เมื่อครอบครัวชาวเมืองหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง ทั้งพ่อแม่ ลูกชายและลูกสะใภ้เซ็นใบหย่ากันยกครัว
ต่อมา พ่อผัวก็จดทะเบียนสมรสกับลูกสะใภ้ เพื่อว่า ครอบครัวจะได้รับค่าชดเชยมากขึ้นกว่าเดิม
อุตสาห์วางแผนกันเสียดิบดี แต่สุดท้ายก็ต้มเจ้าหน้าที่ไม่สำเร็จ
การเลี่ยงภาษีอสังหาริมทรัพย์ด้วยวิธีดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป ซ้ำร้ายการแกล้งทำเป็นหย่ากันกลับกลายเป็นหย่าจริง และผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายช้ำใจแสนสาหัส อย่างที่เรียกว่า ได้ไม่คุ้มเสีย
“ บางคู่พยายามขอคำแนะนำเรื่องการหย่าหลอก ๆ จากเรา เพราะนโยบายจำกัดการซื้อบ้านและเก็บภาษี ที่สูงของรัฐบาล แต่ทางเราได้บอกเสมอว่า อย่าทำอย่างนั้นเลย เพราะแกล้งหย่า มันอาจกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้” หมิง หลี่ รองผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการสมรสและครอบครัวแห่งจีนกล่าว
เธอเล่าว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งอายุรุ่น 30 ปี มาขอคำปรึกษา แล้วทั้งคู่ก็จูงมือกันไปเซ็นใบหย่า ต่อมาอีกไม่นานฝ่ายชายก็ไม่กลับบ้านอีกเลย พอฝ่ายหญิงถาม ชายซึ่งกลายเป็นอดีตสามีไปแล้วในทางกฎหมายก็ตอบว่า ที่หย่ากันนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หรอกนะเธอ
ชายผู้นี้ฉวยโอกาสใช้อุบายแต่งปลอม หย่าปลอม พาเมียน้อย ซึ่งคบหากันมานาน มาอยู่กินกันอย่างออกนอกหน้า
หมิงเตือนว่า การแต่งงานเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติด้วยความเคารพ ไม่ใช่เรื่องค้าขาย อีกประการหนึ่งถ้าสามีเป็นผู้ชายที่ประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงานด้วยแล้ว ย่อมมีสาว ๆ คอยจ้องตะครุบ
เฉิน อี๋วิ๋น นักวิจัยด้านการสมรสของสถาบันสังคมศาสตร์จีนตั้งข้อสังเกตว่า ในวัฒนธรรมของคนจีนการเป็นเจ้าของบ้านถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก และทุกวันนี้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนที่มั่นคงมากกว่าการลงทุนอื่น ๆ เช่นการเล่นหุ้น ขณะที่เงินในธนาคารก็เสื่อมค่าลง
นายหยัง เสี่ยวหลิน หุ้นส่วนของบริษัทกฎหมายปักกิ่งเย่ว์เฉิง เตือนว่า ภายใต้กฎหมายของจีนนั้น ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนแต่งงานถือเป็นทรัพย์สินส่วนตัว มากกว่าจะเป็นสินสมรส ฉะนั้น หากคู่ที่แกล้งหย่า กลับมาแต่งงานกันอีกครั้ง ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่ยอมเปลี่ยนการจดทะเบียนทรัพย์สิน อีกฝ่ายก็ไม่มีทางทำอะไรได้
“ และถ้าฝ่ายหนึ่งเกิดอยากไปแต่งงานกับคนอื่นเข้า หลังจากเซ็นหย่าปลอม ๆ แล้ว อีกฝ่ายจะไปห้าม โดยบอกว่า เป็นแค่การแกล้งหย่ากันก็ไม่ได้อีก” เขาให้ข้อคิด และเคยพบกรณีเช่นนี้มาแล้ว ซึ่งภรรยาถูกทอดทิ้งอย่างสมบูรณ์แบบ และไม่สามารถแก้ไขในทางกฎหมายได้เลย
“ เราต้องเผยแพร่กรณีเช่นนี้ให้สังคมรับรู้ เพื่อจะได้ไม่เห็นการแต่งงานเป็นเรื่องตลก โดยทั่วไปแล้ว การหย่ากันหลอก ๆ ก็เป็นเรื่องเสี่ยงอยู่แล้ว และยังอาจมีผลเสียต่อลูก การให้ความเคารพต่อการแต่งงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ” นายหยังเตือนสติบรรดาคู่สามีภรรยา ที่คิดจะจูงมือกันไปเซ็นหย่าหลอก เพื่อหวังเลี่ยงภาษีในท้ายที่สุด