xs
xsm
sm
md
lg

พลิกความเศร้าให้เป็นโอกาส...บอกลูกอย่างไรเมื่อสัตว์เลี้ยงตาย​​​

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัตว์ฟันแทะหรือกลุ่มกระต่ายและหนูเป็นสัตว์เลี้ยงราคาถูก หาซื้อง่าย และดูแลง่ายกว่าสัตว์ใหญ่ แต่ข้อเสียของสัตว์กลุ่มนี้ คือมักจะตัวเล็ก ตื่นตกใจง่าย และมีฟันคม บางชนิดเช่น แฮมสเตอร์ หนูถีบจักร และหนูเจอบิลมักมีอารมณ์แปรปรวนเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ หากเด็กสนใจควรเลือกสายพันธุ์ที่ไม่ก้าวร้าวและมีขนาดไม่เล็กมากนัก เช่น กระต่ายพันธุ์มินิเร็กซ์ หรือหนูตะเภา พ่อแม่ต้องยอมรับว่า การเลี้ยงสัตว์คือภาระของพ่อแม่ การฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบเป็นเรื่องที่ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปและต้องทำใจว่าอาจไม่สำเร็จ ดังนั้นเด็กควรมีอายุ 6 ขวบขึ้นไปก่อนมีสัตว์เลี้ยงตัวแรก อาจลองชักชวนเด็กคุยเรื่องสัตว์ หรือทยอยซื้ออุปกรณ์การเลี้ยงมาทีละนิด เพื่อค่อยๆ เพิ่มความสนใจของเด็กก่อนการเลี้ยงจริง
สำหรับเด็กแล้วความใกล้ชิดทำให้สัตว์เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและพัฒนาการด้านอารมณ์ ความรู้สึก เมื่อถึงเวลาที่สัตว์เลี้ยงจากไป พ่อแม่ควรสื่อสารอย่างไร ให้เปลี่ยนการสูญเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักให้เป็นโอกาสให้ลูก ได้เรียนรู้วิถีของธรรมชาติที่ไม่จีรัง

ไม่นานมานี้ นายปรี๊ดตัดสินใจให้กระต่ายสุดหล่อตัวโปรดกับหลานชายไป...แต่เมื่อให้ไปแล้ว ก็เริ่มคิดถึงว่าวันหนึ่งถ้ากระต่ายขนนุ่มตัวนั้นถึงเวลาไปยมโลก คุณแม่จะอธิบายให้เด็กๆ ฟังอย่างไรให้เรื่องร้ายๆ กลับเป็นการส่งเสริมความเข้าใจวิถีธรรมชาติ และทำให้คนตัวเล็กเข้าใจอารมณ์เศร้า ที่เกิดจากการสูญเสียสิ่งที่รัก

แม้จะดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์นัก แต่เรื่องการอธิบายให้เด็กเข้าใจ “ความตายและการสูญเสียสัตว์เลี้ยง” นั้นไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่นักจิตวิทยาเด็กและนักการศึกษาต่างปะเทศ ให้ความใส่ใจกับประเด็นนี้มาก เพราะเป็นการสื่อสารที่สำคัญทำให้เด็กก้าวพ้นความเศร้า และเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งจะมีผลต่อบุคลิก การควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมในอนาคต

หลายครั้งที่ได้ยินพ่อแม่ดุเด็กที่อยากเลี้ยงสัตว์ว่า "จะเลี้ยงทำไม...เป็นภาระ...เลี้ยงไปก็ตาย...ร้องไห้เสียใจกันอีก...บาปกรรม..." เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าผู้ใหญ่หลายคนรู้ว่าสัตว์เลี้ยงมักมีอายุสั้น และต้องการตัดปัญหาหากสัตว์เลี้ยงต้องตาย เกรงจะทำให้เด็กเสียใจ (รวมทั้งตัวเองด้วย) จึงอาจพลาดโอกาสบางอย่างไป เช่น การฝึกความรับผิดชอบ เพิ่มความอ่อนโยนเด็ก และการเลี้ยงสัตว์ถึงว่าเป็นการเพิ่มทักษะทางธรรมชาติและการสังเกตที่ดีอย่างหนึ่ง ตามทฤษฏีอัจริยภาพซึ่งมีหลายด้าน หลากมิติ

เมื่อสัตว์เลี้ยงตาย...ถือเป็นเวลาเศร้าสุดใจของเด็กๆ และเป็นโอกาสทองที่พ่อแม่จะต้องทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่า "การเสียของรัก" คืออะไร เพื่อความเข้าใจวิถีทางของธรรมชาติ นักจิตวิทยาเด็กแนะนำว่า ควรบอกเมื่อเด็กอยู่ในอารมณ์สงบ ควรชวนไปนั่งคุยสองต่อสอง ในที่ที่สงบ และเค้ารู้สึกว่าปลอดภัย พ่อแม่เองไม่ควรฟูมฟายจนเกินเหตุ หรือตำหนิใครในข้อบกพร่องหรือเป็นสาเหตุให้สัตว์เลี้ยงตาย

ที่สำคัญที่สุดคือ "ต้องไม่โกหก" การบอกว่า "มันหนีไปไหนไม่รู้ แม่ตามหาไม่เจอ" หรือ "มันไปเที่ยว เดี๋ยวก็กลับ" ไม่ใช่การแนะนำถึงความตายที่ถูกต้องสำหรับเด็ก เพราะนอกจากจะเป็นการโกหกแล้วยังทำให้เด็กสับสนและรอคอย ควรบอกเด็กว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตามความจริง แต่ต้องคำนึงถึงวุฒิภาวะตามอายุของเด็ก หากเล่าฉากหมารุมฟัดแมวเลือดสาดให้เด็ก 3 ขวบฟัง อันนี้แม่ควรไปเช็คประสาทก่อน ควรคิดให้ดีก่อนว่าควรใช้คำพูดอย่างไรให้ตรงความจริง แต่ไม่โหดร้ายรุนแรงเกินไป
สัตว์เลี้ยงในขั้นเริ่มต้นเป็นสัตว์พื้นๆ เช่น ปลา หมา แมว กระต่าย หนูตะเภา ฯลฯ เนื่องจากมีการคัดสรรพันธุ์มานานทำให้มีอุปนิสัยเข้ากับคนได้ดี แต่บางสายพันธุ์ก็มีอุปนิสัยเฉพาะที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก การเลือกสัตว์เลี้ยงจึงควรเป็นการตัดสินใจร่วมของครอบครัว โดยอาจจะชวนกันหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก่อนตัดสินใจเลือก และเป็นโอกาสเรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ
ในต่างประเทศมีการ "put to sleep" เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยจนทรมาน ในบ้านเราแม้จะไม่ค่อยเกิดเหตุนี้ แต่โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการตัดสินใจให้สัตว์เลี้ยงตายเมื่อหมดทางรักษาทุกๆ ทาง เพราะการอยู่ต่อกับสภาววิฤกตของสัตว์เลี้ยงนั้น ทรมานกว่าคนมากเนื่องจากไม่สามารถสื่อสารได้โดยตรง หรือมีข้อจำกัดทางการรักษาต่างๆ หากเกิดเหตุการณ์นี้จริง พ่อแม่ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจ ว่าเป็นการตัดสินใจร่วมกันของครอบครัว เพราะสัตว์เลี้ยงไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้วในทุกๆ วิธี การทำให้สัตว์เลี้ยงจากไปอย่างสงบเป็นทางออกที่เหมาะสมและไม่ทรมาน

ไม่ควรโยนความผิดไปที่สัตวแพทย์ เช่น "หมอจะทำให้มันตาย" “หมอฉีดยาแล้วมันตาย” ควรหลีกเลี่ยงคำว่า "ฉีดยาให้หลับ" "ฉีดยาให้ตาย" หรือ "ทำให้สลบ" เพราะอาจทำให้เด็กๆ ฝังใจ กลัวการหลับ กลัวการฉีดยา หรือการวางยาสลบเพื่อผ่าตัดในอนาคต ควรใช้คำอื่น เช่น "มันจะหลับไปอย่างสบาย" แทน

เมื่อพ่อแม่ถูกถามว่า “ทำไมสัตว์ป่วยแล้วต้องตาย” ควรอธิบายให้เด็กรู้ว่า ความตาย คือเรื่องธรรมชาติ เช่น "ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตอะไร หากป่วยและไม่แข็งแรงก็อาจจะถึงตายได้" อาจสอดแทรกได้ว่า ดังนั้นลูกต้องกินอาหารที่ดี ออกกำลังกาย รักษาความสะอาด ถ้าลูกป่วยเราจะเป็นห่วงและเสียใจมากเช่นกัน หรือการที่ผู้ใหญ่ตอบว่า "แม่ก็ไม่รู้ ไม่ว่าคนหรือสัตว์บางทีก็ตายไปเฉยๆ ไม่มีใครรู้ว่าเพราะอะไร" ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน ก็อาจเป็นทางออกที่ดี เพราะนักจิตวิทยาแนะนำว่า การปล่อยให้ความตายเป็นเรื่อง "ลึกลับ ไม่สามารถคาดเดา หรือเรื่องที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า" ก็อาจเป็นคำตอบที่ดีสำหรับเด็ก

ข้อนี้ก็สำคัญเช่นกัน...พ่อแม่ไม่ควร "ซ่อนความเสียใจ" แต่ก็ไม่ควรแสดงออกจนเด็กตกใจ ควรชวนเด็กพูดคุยเพื่อให้เรียนรู้ว่าอารมณ์ของเค้าในตอนนี้คือ “ความเศร้า” และมันทำให้คนเราไม่สบายใจต้องทำให้เบาบางไปตามเวลา ด้วยการแชร์ว่าผู้ใหญ่เองก็เสียใจเช่นกัน แล้วชวนเด็กๆ อธิบายว่าเค้าเองเสียใจมากแค่ไหน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า "ความเศร้าเป็นเรื่องเปิดเผยได้" และเด็กๆ จะไม่ต้องเศร้า หรือเก็บเรื่องที่ตนเองเสียใจอยู่คนเดียว พ่อแม่จะมีส่วนรับรู้และเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ กับอารมณ์เศร้าของเค้าด้วย ในทุกๆ เรื่อง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การเล่าเรื่องเก่าๆ ของสัตว์เลี้ยงอย่างเป็นธรรมดา และสนุกสนาน เป็นการรำลึกความทรงจำที่ดี ไม่ควรกลบความเศร้าของลูกด้วย "การห้ามพูดถึงความตายหรือสัตว์เลี้ยงที่ตาย" การที่เด็กยังพูดหรือเล่าเรื่องนั้นให้คนอื่นๆ ฟังได้ตามปกติ แสดงว่าเด็กเข้าใจว่าเมื่อสัตว์เลี้ยงจากไป เรายังมีความทรงจำดีๆ เหลืออยู่ได้ เรารำลึกถึงมันได้ ไม่ใช่เรื่องผิด เราระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงและการจากไปของสัตว์และคนได้เสมอ

การขุดหลุมฝัง โรยดอกไม้ไม่ใช่เรื่องตลก การสูญเสียสัตว์เลี้ยงสุดรัก สุดหัวใจของเด็กๆ แทบไม่ต่างกับการเสียคนในครอบครัว การชักชวนให้เด็กๆ วาดภาพ เขียนคำอวยพร เล่าถึงช่วงเวลาดีๆ ที่เคยมีสัตว์เลี้ยงอยู่ด้วย เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะทำให้เค้าก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็ง และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชีวิต พร้อมจะรับรู้เมื่อมีสมาชิกในบ้านที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง จากไปในอนาคต

เขียนแล้วนึกย้อนดูตัวเอง กว่าผมจะได้ตู้ปลาตู้แรก ผมต้องทำตามสัญญาหลายข้อและใช้เวลานานกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความรับผิดชอบมากพอจะดูแลสัตว์ได้ด้วยตนเอง เพราะหากทิ้งขว้างจะถูกริบคืน (แม่ผมทำจริงๆ เธอไม่เคยขู่เฉยๆ) แต่การเลี้ยงสัตว์กระตุ้นความสนใจสิ่งมีชีวิตของผมมาก ผมเรียนรู้พฤติกรรม ชนิด ความแตกต่างของวิธีเลี้ยงปลา ต่อยอดมาเป็นสัตว์เลี้ยงอีกสารพัด จนลากตัวเองมาเรียนสัตววิทยาได้ โดยที่ผมไม่แน่ใจว่าพ่อกับแม่วางแผนไว้แบบนี้หรือเปล่า

แต่แน่นอนว่าผมเรียนรู้ “การสูญเสียสิ่งที่รัก และความไม่ยั่งยืนของชีวิต” จากสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน ลองนำไปปรับใช้กันดูเมื่อถึงเวลาจำเป็นครับ

อ้างอิง D'Arcy Lyness, when a pet dies, http://kidshealth.org/parent/emotions/feelings/pet_death.html?tracking=P_RelatedArticle#

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์







กำลังโหลดความคิดเห็น