xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : เรื่องเด็กๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ บัวหลวง Money Tips
นรวีร์ วงศ์สมมาตร CFP
กลุ่มจัดการกองทุน กองทุนบัวหลวง

วันนี้เราจะมาพูดคุยกันเกี่ยวกับเด็กๆ ครับ ไม่นานมานี้มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกกับผมว่า มีลูก 1 คน จะจนไปหลายปี มีภรรยา 1 คน จนไปอีกหลายสิบปี ไม่แน่ใจเหมือนกันครับเรื่องนี้ว่าถูกต้องหรือเปล่า เพราะหาผู้กล้าออกมายืนยันได้ยาก  เข้าเรื่องกันดีกว่าครับ ช่วงนี้ใกล้จะปิดเทอมแล้วพ่อแม่ทั้งหลายคงมีการวางแผนที่จะพาเจ้าตัวน้อยไปเที่ยว ไปทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน  อาจจะในหรือต่างประเทศก็แล้วแต่ทุนทรัพย์ของแต่ละท่าน  ทำให้ผมนึกไปถึงบทความหลายๆ บทความที่เขียนถึงแนวทางการออมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตรเมื่อเปิดเทอม แต่    วันนี้ผมขอพูดคุยถึงการออมเงินเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายบุตรระหว่าง “ปิดเทอม” ครับ

น่าแปลกใจมากครับว่าค่าใช้จ่ายระหว่างปิดเทอม ไม่ว่าจะเป็นปิดเทอมใหญ่ ปิดเทอมกลาง ค่าใช้จ่ายช่วงนี้สูงใกล้เคียง หรือมากกว่าตอนเปิดเทอมเสียอีก เราลองมาประมาณการกันคร่าวๆ ครับว่ามีอะไรบ้าง เริ่มจากค่าเรียนพิเศษ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย กีฬาต่างๆ ศิลปะ ดนตรี ร้องเพลง ยังไม่รวม ภาษาจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น  เพื่อเตรียมความพร้อมบุตรหลานเข้าสู่ AEC อย่างเต็มภาคภูมิอีกครับ  เพราะพ่อแม่หลายๆ ท่านยึดคำกล่าวที่ว่า “มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน”  จึงอยากให้บุตรหลานได้มีความพร้อมเรื่องการเรียนมากที่สุด       

อย่างไรก็ตาม หลายครอบครัวเลือกที่จะให้บุตรหลานทำกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องเรียน เช่น วางแผนพาบุตรหลานไปท่องเที่ยว หรือดำเนินชีวิตที่เรียกว่า “เข้าค่าย” ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศเพื่อให้ได้ประสบการณ์ชีวิตแปลกใหม่  ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนหมายถึง “เงิน” ซึ่งควรมีการวางแผนทางการเงินที่ดีล่วงหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน  โดยผมมีขั้นตอนคร่าวๆ เพื่อวางแผนการออมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาแนะนำครับ

1. กำหนดเป้าหมายการใช้เงินล่วงหน้าเพื่อที่จะได้ประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนมากขึ้น  สำหรับกรณีนี้ท่านอาจกำหนดเป็นเป้าหมายการเงินระยะสั้น หรือประมาณ 1 ปี อาจแบ่งออกเป็น

a - กิจกรรมวิชาการ เช่น การเรียนพิเศษต่างๆ สำหรับข้อมูลค่าเรียนพิเศษ ท่านสามารถหาได้จากสถาบันกวดวิชาที่ท่านสนใจ ส่วนมากท่านจะต้องสมัครเรียนล่วงหน้าก่อนปิดเทอมเป็นเดือนๆ เลยครับ

b - กิจกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรี หรือกีฬาต่างๆ ที่สำคัญต้องกำหนดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย เป้าหมายใดต้องบรรลุให้ได้ เป้าหมายใดสามารถเลื่อนไปก่อนได้หรือยกเลิกได้ การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังจะช่วยให้สามารถจัดสรรเงินออมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. จัดทำแผนการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมาย เพื่อที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางที่จะทำให้ท่านบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น การจัดทำบัญชีรับจ่ายเพื่อตรวจสอบ และควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนสามารถจัดสรรเงินส่วนหนึ่งสำหรับเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้หลายท่านยังสามารถเลือกที่จะออมเงินรายเดือนๆ ละเท่าๆ กัน จะได้ไม่เป็นภาระหนักก้อนใหญ่เมื่อถึงเวลาดังกล่าว ซึ่งผมเองก็เลือกใช้วิธีนี้ครับ โดยจัดสรรเงินทุกเดือนๆ ละเท่าๆ กัน เช่น เดือนละ 10,000 บาททุกเดือน เพื่อที่จะออมให้ลูกไว้ใช้ช่วงปิดเทอมใหญ่ทุกปี  

สำหรับการลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายระยะสั้นๆ แบบนี้ ท่านควรลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะมีระยะเวลาลงทุนสั้น จึงไม่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงได้มากนัก หากประสบผลขาดทุนอาจทำให้เป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ไม่ประสบผลสำเร็จ

โดยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมก็เช่น เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ท่านควรกำหนดระยะเวลาลงทุนสอดคล้องกับแผน เช่น การลงทุนผ่านกองทุนเปิดตราสารหนี้ที่มีอายุโครงการประมาณ 1 ปี หรือน้อยกว่า เป็นต้น  

3. นำแผนมาปฏิบัติ  สำหรับขั้นตอนนี้ สิ่งที่อยากให้ระมัดระวังคือการไม่นำเงินเพื่อเป้าหมายดังกล่าวไป “ผสมปนเป” กับเป้าหมายอื่น หลายท่านมักขาดความเคร่งครัด หรือมักคิดว่าอีกนานกว่าลูกจะปิดเทอม เลยเอาเงินส่วนนี้ไปเก็งกำไรในตลาดหุ้น หรือทองคำ เผื่อได้กำไรจะได้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้นแถมยังมีเงินเหลือทำอย่างอื่นได้อีกด้วย แต่ถ้าขาดทุนเงินต้นสูญหายจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายนี้ได้นะครับ

4. สุดท้าย คือ การติดตาม ตรวจสอบ และปรับปรุงแผนให้เหมาะสม กับสภาวะเศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม รวมถึงความต้องการของคุณ และครอบครัว กล่าวคือเมื่อเวลาผ่านไปแผนของท่านยังสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ หากไม่แล้วท่านอาจต้องปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสม หรือปรับเป้าหมายลงมา หรือเลื่อนระยะเวลาออกไป เช่น ท่านวางแผนจะเก็บเงินส่งลูกไปเรียนคอร์สภาษาอังกฤษช่วงปิดเทอมเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ระยะเวลาเก็บเงินอยู่ที่ 1 ปี ปรากฏว่าเวลาผ่านไป 6 เดือน ท่านเก็บเงินได้เพียง 70,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายอยู่พอสมควร แม้ว่าท่านได้ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และรัดเข็มขัดอย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้น หากทำไม่ได้จริงๆ ท่านอาจเลื่อนเป้าหมายไปอีก 1 ปี หรืออาจปรับเปลี่ยนเป้าหมาย โดยพิจารณากิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมเข้ามาแทนที่ เป็นต้น

ทั้งนี้ การที่ท่านได้มีการวางแผนการเงินไม่ว่าจะเรื่องนี้ หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม  ข้อดี หรือผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างหนึ่งก็คือ ช่วยสร้างวินัยทางการเงินให้กับตนเองครับ   


กำลังโหลดความคิดเห็น