xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : ความในใจของผู้เกษียณ “หากย้อนเวลากลับไปได้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยนรวีร์ วงศ์สมมาตร, CFPTM

ถ้าลองนึกถึงวันที่ต้องเกษียณ ภาพที่หลายท่านนึกไว้อาจเป็นภาพการเลี้ยงส่งของเพื่อนๆ น้องๆ ในที่ทำงาน หรือภาพของการมีเวลาว่างทุกๆ วันหลังจากวันเกษียณ ไร้ซึ่งความกังวล หรือความกดดันใดๆ หรือภาพของคนแก่ที่เงียบเหงา แต่ก็อาจมีบางท่านมองว่าวันที่เกษียณการทำงานคือภาพแห่งโอกาสของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่มีเสรีภาพมากที่สุด ยิ่งถ้าท่านใดที่มีการเตรียมตัว และวางแผนเพื่อการเกษียณมาเป็นอย่างดี รอบคอบ ผมเชื่อว่าท่านเหล่านั้นจะมีชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุขและเป็นไปตามแผนที่ท่านได้วาดภาพไว้

ทว่าบางท่านอาจยังไม่ได้เริ่ม หรือลังเลว่าจะเริ่มวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณเมื่อไร หลายท่านคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “Time flies and one day sooner than you think, you'll be retired - voluntarily or involuntarily” (เวลามันติดปีกบิน และสักวันหนึ่งที่เร็วกว่าที่คาด ท่านก็ต้องเกษียณ ไม่ว่าจะไปอย่างเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม)

และเมื่อถึงเวลานั้นท่านอาจจะอยากย้อนเวลากลับไปทำบางสิ่ง หรือขอย้อนเวลาไปเพื่อแก้ไขไม่ทำบางสิ่งเพื่อมีโอกาสอีกครั้งในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเกษียณอย่างมีความสุขได้ดียิ่งขึ้น

ผมขอนำบางส่วนจากข้อมูลของ Sharon O’Brien, A Professional Counselor in Portland, Oregon ที่เขียนไว้เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เกษียณอยากย้อนกลับไปจัดทำสิ่งต่างๆ เพื่อสามารถใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตนเองต้องการในวัยเกษียณได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน ตามนี้ครับ

5 อันดับแรกที่ผู้อยู่ในวัยเกษียณ (ชาวอเมริกัน) อยากจะย้อนกลับไปทำ

ร้อยละ 21 อยากกลับไปจัดทำประมาณการเงินได้ที่ต้องการเพื่อไว้ใช้จ่ายวัยเกษียณ

ร้อยละ 19 อยากกลับไปวางแผนการลงทุน และจัดทำพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม

ร้อยละ 18 อยากกลับไปกำหนดรูปแบบการได้รับผลตอบแทนหลังเกษียณ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตในวันดังกล่าวมากขึ้น

ร้อยละ 19 อยากกลับไปทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแหล่งเงินสะสมเพื่อการเกษียณอายุต่างๆ

ร้อยละ 17 อยากกลับไปเป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง หรืออยากกลับไปทำงานอีกครั้ง ไม่ใช่กลับไปหาสาวๆ หนุ่มๆ มาดูแลเรานะครับ แต่เพื่อกลับไปทำงานหาเงินมาเป็นทุนสำรองสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณให้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ Sharon O’Brien ยังพบว่าผู้ที่ยังไม่ถึงวัยเกษียณกว่าร้อยละ 81 ได้บอกกับตัวเองด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่าสามารถที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตัวเองต้องการได้หากเกษียณจากการทำงานแล้ว (ไม่ได้โม้) ขณะที่อีกหลายคนบอกว่ายังไม่ได้เริ่มแม้แต่จะคิด และยังไม่พร้อมที่จะเริ่มวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ เพราะมีภาระต่างๆ มากมาย โดย

สองในสามของผู้ที่ยังไม่ได้เกษียณ หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ยังไม่เคยทำประมาณการจำนวนเงินที่ต้องมีใช้ในวัยเกษียณ

สามในสี่ของผู้ที่ยังไม่ได้เกษียณ หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ยังไม่ได้เคยทำแผนการลงทุนเพื่อรองรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณ

ข้อมูลข้างต้นทำให้ผมได้ข้อคิดในสิ่งที่ควรทำหากต้องการใช้ชีวิตในรูปแบบที่ได้วาดภาพฝันไว้เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ผมจึงสรุปปัจจัยหลักๆ มาให้ใช้เป็นแนวทางที่จะทำให้แผนการดำเนินชีวิตในวัยเกษียณอายุนั้นบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ครับ

จัดทำประมาณการทางการเงินในวัยเกษียณให้เหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินชีวิตเมื่อเกษียณแล้ว เพื่อให้รู้ว่านับตั้งแต่วันแรกที่เราเกษียณจะต้องมีเงินในการดำรงชีวิตให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น มีบุตรหลานต้องเลี้ยงดู หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องรักษา มีแนวโน้มว่าจะมีอายุยืนยาวตามรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นต้น

เมื่อทราบจำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเริ่มเกษียณแล้ว ให้วางแผนการลงทุน จัดทำพอร์ตการลงทุน และจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่กำหนดไว้ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

กำหนดรูปแบบการได้รับเงินสดจากเงินก้อนที่จะได้รับในวันที่เกษียณให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตในช่วงหลังเกษียณ เช่นกำหนดการรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายเป็นแบบรายเดือน หรือรายไตรมาส เป็นต้น

ทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแหล่งเงินสะสมเพื่อการเกษียณอายุ ทั้งภาคบังคับ และภาคสมัครใจ เช่น สิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม หรือกฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

อย่าลังเลที่จะปรึกษากับนายจ้างหรือคนรู้จักที่เกษียณไปแล้ว รวมถึงนักวางแผนทางการเงินที่ได้รับการรับรองวุฒิ เพื่อหารือถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับเมื่อเกษียณจากการทำงาน และแนวทางการดำเนินชีวิต ตลอดจนการวางแผน และบริหารเงินออมเพื่อการเกษียณอายุอย่างถูกต้อง เหมาะสม

แน่นอนครับ ไม่มีใครย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งต่างๆ ในอดีตได้ แต่ก็ไม่ช้าเกินไปที่จะเริ่มทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง ผมจึงฝากเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ไว้ในหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ท่านนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับแผนการออมเงินสำหรับวัยเกษียณของท่านครับ

เหรียญย่อมมี 2 ด้าน “การเกษียณ” ก็เช่นกัน บางท่านหวั่นกลัวการเกษียณเพราะขาดการเตรียมการที่ดีจึงยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่วันเวลานั้นเนื่องจากไม่เคยสะสมเงินไว้รองรังในยามเกษียณ แต่บางท่านก็มีการเตรียมพร้อมและวางแผนการเงินที่ดีไว้ จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่มีเสรีภาพ และสามารถหาความสุขในช่วงเวลานั้นได้อย่างเต็มที่ครับ

อ่านแล้วโปรดเลือกด้านของเหรียญที่จะทำให้ท่านเป็นคนเกษียณสุขนะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น