สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเผย ลูกจ้างลงทุนกองทุนมากขึ้น ปัจจุบันมีทรัพย์สินรวมกัน 727,948 ล้านบาท มีกองทุนรวมทั้งสิ้น 433 กองทุน เตรียมวางแผนยกระดับให้ลูกจ้างชั่วคราวมีการออมเพื่อวัยเกษียณนอกจากกองทุนประกันสังคม ล่าสุดจัดประกวดโครงการประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นครั้งที่ 2 หวังเป็นแนวทางให้ผู้จัดการกองทุนพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกองทุนรวมทั้งสิ้น 433 กองทุน โดยแบ่งเป็นกองทุนเดี่ยว หรือ single fund จำนวน 165 กองทุน และกองทุนร่วม หรือ pooled fund จำนวน 268 กองทุน โดยมีลูกจ้างรวมกันเป็นจำนวน 2,466,000 ราย ขณะที่นายจ้างมีรวมกันทั้งสิ้น 12,800 ราย และมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกัน 727,948 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนที่มีแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการบริหารกองทุนยังไม่ครอบคลุมถึงลูกจ้างชั่วคราว เนื่องจากการบริหารกองทุนที่ผ่านมาจะบริหารและให้ความสำคัญต่อบุคคลที่มีจำนวนเงินมากๆ และเป็นลูกจ้างประจำ ขณะที่ลูกจ้างชั่วคราวเองที่ทำงานปีต่อปี หรือแม้กระทั่งอายุการทำงานเพียง 8 เดือนนั้นยังไม่มีการรองรับในส่วนนี้ ทางสมาคมฯ เล็งเห็นว่าเราควรที่จะให้ความสำคัญต่อลูกจ้างชั่วคราวเพื่อให้เกิดการยอมรับ เพราะลูกจ้างชั่วคราวต้องมีการเก็บเงินอย่างเป็นระบบเพื่อในวัยเกษียณที่ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้แล้ว ในปัจจุบันประเทศเรามีการเปิดกว้างมากขึ้น เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น คนมีอายุที่มากขึ้น ขณะที่เราต้องพึ่งพาจากหน่วยงานรัฐในกองทุนประกันสังคมเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัญหาต่างๆ มีให้เห็นเป็นบทเรียนในกรีซ และถ้าเงินออมไม่ได้มาจากหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว และทำให้เราสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ในวัยเกษียณอายุ เราต้องมีวินัยแบบกึ่งภาคบังคับ เช่นในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF เพื่อเป็นเงินออมในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงมีความจำเป็นต้องมีการวัดผลและมีการตรวจสอบผลการทำงานของผู้จัดการกองทุนในหลักธรรมาธิบาลมากกว่าการบริหารเงินที่ให้ได้ผลตอบแทนมากๆ เป็นหลัก และตรวจสอบการลงทุนของสมาชิกให้ตรงกับช่วงวัยที่เหมาะสมด้วย
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มีการพัฒนาก้าวหน้าทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีจำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น มีรูปแบบของกองทุนมากขึ้น มีปริมาณเงินของกองทุนสูงขึ้น เป็นที่ลงทุนของผู้ต้องการลงทุนจำนวนมากขึ้นด้วย”
ล่าสุดบริษัทได้มีการจัดโครงการประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นครั้งที่ 2 ขึ้น หลังจากที่ช่วงปีที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จจากการประกวดเป็นอย่างดี โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความนิยมด้านธรรมาภิบาลให้มีขึ้นในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตลอดจนสร้างมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนในการควบคุมและตรวจสอบการจัดการกองทุน โดยบริษัทจัดการลงทุนเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก
ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สมาชิกกองทุน คณะกรรมการกองทุน และนายจ้างตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และสิทธิประโยชน์ของตนต่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของทุกฝ่ายผ่านกระบวนการให้ความรู้ด้านต่างๆ และเพื่อเป็นการเผยแพร่รูปแบบการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นเพื่อเป็นแนวทางให้กองทุนดังกล่าวอื่นๆ นำไปเป็นแนวปฏิบัติต่อไปด้วย
ด้านสิงหะ นิกรพันธุ์ อุปนายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า ในการประกวดครั้งนี้ กองทุนที่ชนะทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ 1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีขนาดกองทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท 2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีขนาดกองทุนระหว่าง 1,000-5,000 ล้านบาท 3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีขนาดกองทุนต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และ 4. บริษัทจัดการกองทุนที่จัดการกองทุนร่วม หรือ pooled fund ดีเด่น โดยรางวัลชนะเลิศจะได้รับโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลชมเชยได้รับโล่จากกระทรวงการคลัง
“การจัดประกวดครั้งนี้ถือว่าเป็นปีที่ 2 เราได้นำประสบการณ์มาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากปีที่แล้วได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เรากำลังทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในเรื่องของการประกวดเราได้รวมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาเป็นคณะกรรมการในการตัดสินด้วย”
ทั้งนี้ กองทุนที่สนใจสามารถสมัครเข้าประกวดได้จนถึง 26 กรกฎาคม 2556 และจะทำการมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 นี้