xs
xsm
sm
md
lg

101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 51 "ออมเพื่อเกษียณ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

      เป็นเรื่องน่ายินดีนะครับ ที่มีผู้คนจำนวนมากที่เดียวที่สนใจในเรื่องของการวางแผนเรื่องเงินๆทองๆเพื่อการเกษียณกันมากพอสมควร สังเกตได้จาก คำถามที่ส่งเข้ามาสอบถาม และปรึกษาขอคำแนะนำผ่านรายการวิทยุทาง FM 101 “ปฏิบัติการพลิกชีวิต” และ ผ่าน www.moneymartthai.com
 
      คุณพีเล่าให้ฟังว่า เธอและสามี มีอายุ 50-51ปีตามลำดับ ทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 แสนบาท โดยรายได้จำนวนนี้หักเงินสะสม (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ไปแล้ว 5% โดยคาดว่าเมื่อเกษียณจะได้เงินสะสมรวมกันประมาณ 3 ล้านบาท
 
     นอกจากนี้ทั้งคู่ยังลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF-Retirement Mutual Fund) และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF-Long Term Equity Fund) เพื่อช่วยลดหย่อนภาษี และเป็นการลงทุนเพื่อวัยเกษียณฯไว้รวมกันปีละประมาณ 1 แสนบาท ตั้งแต่ปี 2549
 
     ขณะเดียวกันก็มีการออมเพื่อวัยเกษียณผ่านการประกันชีวิต ซึ่งจะเริ่มมีเงินทะยอยคืนตั้งแต่ปี 2557 ไปจนมีอายุ 63 ปี ปีละประมาณสองแสนบาท แต่ในปีที่มีอายุ 59 ปี จะได้รับคืนมากที่สุดคือประมาณ 1.8 ล้านบาท  
 
     ปัจจุบัน คุณพี มีลูก 2 คน อายุ 15 และ 11 ปี โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในเวลานี้นอกจาก ค่าใช้จ่ายจำเป็น และค่าผ่อนบ้าน ที่ยังคงมียอดหนี้คงค้างอยู่ 1.5 ล้านบาทแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการเรียนของลูก
 
     คุณพี ตั้งใจว่าจะเก็บเงินเพื่อซื้อกองทุนรวมต่อไป ปีละประมาณ 1 แสนบาท และฝากออมทรัพย์ไว้อีกประมาณปีละ 1 แสนบาท เช่นกัน
 
     คำถามก็คือ หากมีการเตรียมการไว้เพื่อวัยเกษียณอย่างที่เล่ามาให้ฟังนั้นจะเพียงพอหรือไม่
 
     ก่อนอื่นต้องขอชมทั้งคุณพีและสามีที่มองการณ์ไกลได้มีการเตรียมการไว้เพื่อวัยเกษียณรองรับไว้พอสมควร เพราะคาดว่าเมื่อถึงตอนเกษียณอายุของทั้งคู่ จะมีเงินรวมกันถึงราว 4.8 ล้านบาท จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ ผลตอบแทนจากประกันชีวิต โดยยังไม่นับเงินลงทุนที่สามารถจะทยอยไถ่ถอนออกมาจากกองทุน RMF และ LTF ที่ครบกำหนดในแต่ละปี
 
     ขณะเดียวกัน เม็ดเงินที่จะได้รับจากเงินสะสมที่คืนมาจากการประกันชีวิตตั้งแต่ปี 2557 ก็น่าจะช่วยลดภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษาของคุณลูกทั้งสองคนลงไปได้บ้าง และกว่าจะเกษียณอายุของทั้งคู่ ลูกๆทั้งสองคนก็น่าจะใกล้จบ และจบการศึกษากันไปแล้ว ทำให้ไม่มีภาระหนักมากนักหลังเกษียณ
 
     อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม ถ้าพิจารณาจากรายได้ และอายุที่อยู่ในวัย 50 ต้นๆของทั้งคู่ ยังน่าจะมีโอกาสที่จะสะสมความมั่งคั่งได้เพิ่มอีก เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถจะมีอิสรภาพทางการเงินได้อย่างดีเมื่อตอนเกษียณ
 
     ข้อแรก ทั้งคู่ยังมีโอกาสที่จะลงทุนเพิ่มเติมในกองทุน RMF และ LTF เนื่องจากสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้มากกว่าที่มีการลงทุนอยู่เพียงปีละ 1 แสนบาท เพราะนอกจากจะช่วยในการลดหย่อนภาษีเงินได้ในแต่ละปีแล้ว ยังเท่ากับเป็นการลงทุนระยะยาวไปในเวลาเดียวกันด้วย
 
     ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น หากคุณมีรายได้ต่อเดือนไม่เกินเดือนละสองหมื่นบาท ก็ทำใจให้สบายได้ เพราะไม่ต้องเสียภาษีในปีนั้นๆ แต่หากมีรายได้สุทธิ(รายได้รวมหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน) รวมกันเกินกว่า 1.5 แสนบาทเมื่อไรก็จะเริ่มเสียภาษีตามขั้นบันไดไปเป็นลำดับ
     อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรสามารถให้เรานำค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่เราสามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ เช่น หักค่าใช้จ่าย 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบุพการี ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต (ไม่เกินหนึ่งแสนบาท) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย และเงินบริจาค (ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนอื่นๆ)
 
     นอกเหนือจากที่เราได้รับค่าลดหย่อนในส่วนแรกแล้ว เพื่อการส่งเสริมการออมเพื่อเกษียณอายุ กรมสรรพากรยังให้สิทธิลดหย่อน เงินที่เราจ่ายภาคบังคับให้กับกองทุนประกันสังคม และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปีอีกด้วย
 
     ที่สำคัญคือ สิทธิ์ลดหย่อนการลงทุนใน กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งคุณพีและสามีน่าจะใช้สิทธิในการลงทุน ในกองทุน LTF ซึ่งลงทุนในหุ้นมากขึ้น ในช่วง 10 ปี สุดท้ายก่อนเกษียณ เพราะน่าจะสามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงกว่า กองทุน RMF ที่ปกติมักจะวางน้ำหนักการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงไม่สูงมากนัก
 
     จากแผนเดิมที่จะลงทุนในกองทุน RMF และ LTF เพียงปีละแสนบาท ก็อาจจะเพิ่มเป็นกองละแสนบาท หรือปีละ สองแสนบาท ซึ่งหมายความว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้าคุณพีและสามี จะมีต้นทุนของเม็ดเงินที่นำไปลงทุนในกองทุนฯทั้งสองกองรวมกันถึงประมาณ 2 ล้านบาท บวกกับที่ลงทุนไว้ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2549 ประมาณ 5 แสนบาท ไม่นับผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคตของเงินประมาณ 2.5 ล้านบาท
 
     อย่างไรก็ตาม ผมแนะนำให้ลงทุนในลักษณะทะยอยลงทุนหรือ โดยซื้อเฉลี่ยทุกๆเดือน (Dollar Cost Averaging) จากเงินเดือนในแต่ละเดือน เพื่อไม่ให้ต้องเป็นภาระหนักในช่วงปลายปี และยังช่วยเฉลี่ยต้นทุน เพราะหากไปซื้อในช่วงปลายปี มักจะเป็นช่วงที่ราคาหุ้นมักจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นหน่วยลงทุนก็อาจจะแพงตามไปด้วย
 
     นอกจากนี้ ผมอยากแนะนำให้คุณพีน่าจะลองกลับไปพิจารณาเม็ดเงินที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยอาจจะขอใช้สิทธิ์ปรับพอร์ตการลงทุนมาเน้นการลงทุนในรูปแบบที่สามารถให้ผลตอบแทนสูงในช่วง 5 ปีข้างหน้า และค่อยลดน้ำหนักการลงทุนที่มีความเสี่ยงลดลงในช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ เนื่องจากในปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่จะให้สิทธิ์พนักงานเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละคนได้ (Employee Choices)
 
     กรณีของคุณพี และสามี เป็นตัวอย่างที่ดีของ ครอบครัวที่รู้จักวางแผนเรื่องเงินๆทองๆ เพื่อชีวิตที่ดีของครอบครัวในอนาคต ซึ่งหากคนส่วนใหญ่เริ่มเตรียมวางแผนชีวิตกันตั้งแต่วันนี้ ผมรับรองว่า เมื่อถึงวัยเกษียณคุณจะสามารถใช้ชีวิตอย่างคนไม่ธรรมดาได้อย่างแน่นอน
 
     ข้อได้เปรียบที่สุดสำหรับคนที่อายุยังน้อยคือ “เวลา” ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่จะทำให้เงินทำงานให้เราได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่หากมาตั้งหลักเอาเมื่อตอนกำลังจะถึงวัยเกษียณ ถึงแม้จะยังไม่ถึงกับสายเกินไป แต่ก็ต้องเหนื่อยหนักหน่อยละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น