xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : เตรียมตัวก่อนเกษียณ (ชมกราฟิก)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยอติกานต์ พานิชเกษม
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
กลุ่มจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

ถ้าแบ่งช่วงชีวิตของคนตามช่วงอายุ 20 ปีแรกตั้งแต่เกิดเป็นวัยเรียน หลังจากนั้นเป็นวัยทำงานหาเงินเพื่อดำรงชีพ ซึ่งบางคนเรียนจบระดับหนึ่งแล้วก็ทำงานเลย ในขณะที่บางคนก็เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น วัยทำงานจึงมีระยะเวลาทำงานที่แตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง

แต่เคยถามตัวเองกันบ้างไหมว่าเราจะทำงานไปจนถึงอายุเท่าไหร่ และเคยคิดที่จะเลิกทำงานภายใน 5-10 ปีข้างหน้านี้หรือไม่ ซึ่งเหตุผลที่จะเลิกทำงานนั้นก็แล้วแต่บุคคล เช่น ฐานะการเงินเพียงพอแล้ว มีปัญหาสุขภาพ หรือเบื่องานที่ทำ แต่ก่อนที่เราจะเลิกทำงาน เราก็ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อให้ชีวิตหลังเลิกทำงานมีความสุขสบายตามที่เราต้องการ

วิธีที่ง่ายที่สุดในการเตรียมตัวคือเรียนรู้จากคนที่เกษียณไปแล้วว่าพวกเขาประสบความสำเร็จกับแผนเกษียณของตัวเองแค่ไหน และปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้แผนเกษียณที่เตรียมไว้ไม่เป็นตามที่หวัง

จากผลสำรวจของ Fidelity Investment ที่สอบถามคนที่เพิ่งเกษียณไปไม่นาน พบว่า คนที่เกษียณแล้วถึงกว่าร้อยละ 57 คิดว่าพวกเขาน่าจะเตรียมตัวกับแผนเกษียณให้มากกว่านี้ ทำให้ Fidelity Investment ได้จัดทำชุดคำถามเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณขึ้นมา โดยหวังว่าการตอบคำถามเหล่านั้นจะช่วยให้คนที่กำลังวางแผนเกษียณอยู่จะสามารถลำดับความสำคัญและสร้างกลยุทธ์การวางแผนเกษียณที่ตอบโจทย์ที่ตนเองต้องการได้ และแม้ว่าชุดคำถามดังกล่าวจะมาจากการสำรวจข้อมูลของคนอเมริกัน แต่ก็มีสาระที่เป็นประโยชน์และสามารถนำมาปรับใช้กับคนไทยได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

สิ่งที่เราควรพิจารณาก่อนวางแผนเกษียณ

1. รูปแบบการดำรงชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร เรายังอยากทำงานและใช้ชีวิตแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำงานไม่ไหว หรือตั้งเป้าว่าในอนาคตจะมีเวลาว่างและเงินเหลือพอที่จะใช้ไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ หรือทำกิจกรรมที่อยากทำหลายอย่างหรือไม่

2. เราต้องการเลิกทำงานเมื่ออายุเท่าไหร่ สำหรับคนที่ไม่อยากทำงานไปตลอดชีวิต เราต้องเลือกว่าอยากเลิกทำงานเมื่อไหร่ ซึ่งสำหรับคนไทยในกรณีทั่วไปก็อยู่ที่ 60 ปี หรือหากต้องการเกษียณเร็วขึ้นกว่าเดิม (early retirement) ก็อาจจะอยากเลิกทำงานเมื่ออายุ 50 ปี เป็นต้น และบางคนก็อยากจะทำงานไปจนกว่าจะ 65 ปีหรือมากกว่าก็มี

3. ประเมินความเสี่ยงด้านการเงินที่จะเกิดขึ้นหลังเกษียณ เรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจัยด้านล่างนี้จะมีผลต่อแผนเกษียณของเรา ลองพิจารณาดูกันว่าเรามีความเสี่ยงจากปัจจัยแต่ละข้อมากน้อยแค่ไหน

ก. ถ้าอายุยิ่งยืน เงินที่ต้องใช้ก็ยิ่งมาก เวลาทำงานหาเงินมาเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณก็จะนานตามไปด้วย

ข. เงินเฟ้อที่สูงขึ้น มีผลทำให้เงินจำนวน 100 บาท ณ ปัจจุบัน ซื้อของได้น้อยลงในอนาคต

ค. การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ มีผลต่อกระแสเงินสดของเราในอนาคต การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำในสัดส่วนที่มากจนเกินไปอาจทำให้เราพบกับปัญหาที่ผลตอบแทนในอนาคตไม่สามารถชดเชยกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ เงินเฟ้อมักจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ

ง. การถอนเงินออกมาใช้บ่อยๆ จะทำให้ทรัพย์สินที่สะสมไว้หมดเร็วกว่าคาด

จ. ค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น

4. ทำประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อหาส่วนต่าง ให้ทำประมาณการรายได้ และค่าใช้จ่าย รวมทั้งการลงทุนจากเงินออมในปัจจุบัน เพื่อจะได้ประมาณได้ว่ากระแสเงินสดที่จะได้รับในยามเกษียณแล้วนั้นจะเพียงพอในการดำรงชีวิตไปได้อีกกี่ปี หากไม่พอใช้เราก็ต้องกลับมาพิจารณาดูว่าควรปรับวิธีการออมเงิน เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย หรือยังต้องทำงานต่อไปสักระยะหนึ่งก่อน

5. สะสมเงินออมด้วยการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรื่องนี้แนะนำให้ทุกคนสะสมเงินออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ให้เต็มที่ก่อนที่จะเลิกทำงาน เพราะการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมที่ลูกจ้างออมเงินเท่าไหร่ นายจ้างก็จะช่วยลูกจ้างออมด้วยในจำนวนเงินที่เท่ากัน จึงเป็นวิธีการสะสมเงินออมที่ดีทางหนึ่ง

เมื่อประเมินทุกอย่างข้างต้นแล้ว ให้เราเริ่มวางแผนเกษียณอย่างจริงจัง โดย

1. เรียนรู้และทำความคุ้นเคยเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณ คือการวางแผนด้านรายได้และรายจ่าย รวมถึงแผนการลงทุน เรียนรู้การจัดทำงบประมาณ (Budget) กลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุน (Asset allocation strategy) เป็นต้น

2. ศึกษาว่าเมื่อเกษียณแล้วจะได้รับสิทธิผลประโยชน์จากหน่วยงานหรือองค์กรใดบ้าง และหากต้องการใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างไร ภายในเมื่อไหร่ เช่น กองทุนประกันสังคมที่เราจ่ายสมทบไปเป็นเวลานานนั้นเขามีสิทธิและผลประโยชน์หลายอย่างที่เราสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้

3. ประเมินค่ารักษาพยาบาลในอนาคต หากเราเป็นคนที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะอาจจะกระทบกระแสเงินสดในอนาคตที่เราต้องการ

4. จัดทำแผนเกษียณ โดยทำงบประมาณการเกษียณ นำตัวเลขประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่าย ต้นทุนเงินเฟ้อ เข้ามาประกอบกัน เพื่อดูว่ารายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ โดยในการทำแผนมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ

- ทำการทบทวนการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ให้เหมาะสมกับช่วงอายุเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากเราต้องนำเงินส่วนนี้คือที่มาของรายได้ของเราในอนาคต

- แนะนำให้ทำประกันสุขภาพระยะยาว เพราะค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลแพงขึ้นเรื่อยๆ

- การกำหนดว่าในแต่ละปีจะถอนเงินออกมาใช้เท่าไหร่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราถอนเงินออกมาบ่อยและมากเกินไปจะส่งผลให้ท้ายที่สุดเรามีเงินไม่เพียงพอต่อความต้องการ

- หากรูปแบบการดำรงชีวิตที่เราต้องการมีต้นทุนที่มากกว่าที่เราคิดไว้ เราอาจต้องหางานชั่วคราวทำเพิ่มในช่วงที่เกษียณ หาทางลดค่าใช้จ่ายลง หรือไม่ก็เลื่อนเวลาเกษียณออกไปเพื่อให้สามารถหารายได้ให้เพียงพอ

การใช้ชีวิตหลังเกษียณต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ต้องเริ่มให้เร็ว คิดให้รอบคอบ แล้วทำตามที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งเราควรเริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้

ทางเลือกในการออมเงินก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เงินตราต่างประเทศ และอื่นๆ ทั้งนี้สินทรัพย์แต่ละประเภทมีสภาพคล่อง ผลตอบแทน ความเสี่ยง ที่แตกต่างกันไป หากไม่คุ้นเคยกับการลงทุนนอกเหนือจากเงินฝาก เราอาจสอบถามที่ปรึกษาการลงทุนตามสถาบันการเงินต่างๆ หรือไปลงทุนผ่านกองทุนรวมซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เงินทำงานสำหรับชีวิตหลังเกษียณเป็นไปอย่างที่เราต้องการ


กำลังโหลดความคิดเห็น