xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : เตรียมความพร้อมให้วัยทองคำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยเสกสรร โตวิวัฒน์, CFPTM
บลจ.บัวหลวง
 
ในบรรดา 3 ช่วงชีวิตหลัก ระหว่าง วัยเด็ก วัยทำงาน กับวัยพักผ่อนนั้น ในการวางแผนต่างๆ มักจะพูดถึงวิธีการวางแผนในช่วงวัยทำงานที่เป็นช่วงเวลาสะสมความมั่งคั่งมากกว่าวัยอื่นๆ  ส่วนเรื่องการเตรียมพร้อมเพื่อวัยเกษียณก็ยังไปเน้นหนักในช่วงวัยทำงานว่าช่วงอายุไหนจะเก็บเงินอย่างไรให้มีเงินใช้หลังเกษียณให้เพียงพอตามสูตรคำนวณ โดยมักละเลยการเตรียมพร้อมด้านการเงินสำหรับชีวิตหลังเกษียณว่าจะทำอย่างไรให้มีความสุขได้อย่างแท้จริงทั้งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่ออายุ 60 กับ 80 เราคงจะไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนกันทั้งสองวัยแน่ๆ

การประเมินความพร้อมของตัวเองล่วงหน้าว่าภายหลังเกษียณจะเป็นอย่างไรจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับการสร้างความสุขให้ชีวิต เพราะถ้าไม่รู้จักตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะสร้างความสุขให้ชีวิตหลังเกษียณอย่างแท้จริงได้อย่างไร จริงไหมครับ
    
เมื่อวันนั้นมาถึง เราควรต้องรู้ว่าเรามีต้นทุนชีวิตอย่างไร

ยังมีรายรับ มีภาระรายจ่ายอะไรอยู่ มีบ้าน มีรถ มีทรัพย์สินอะไรอยู่ตรงไหน

ยังมีหนี้สินอะไรที่ยังคงค้างอยู่ รวมถึงหาทางจัดการหนี้สินเหล่านั้นให้หมดไปให้ได้  

มีข้อจำกัดการใช้ชีวิตอะไรบ้าง

ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะเป็นสิ่งตั้งต้นสำหรับแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณให้มีความสุขที่พอเหมาะพอดีและไม่ได้เพ้อฝันเกินจริงของแต่ละคน

การวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณนอกจากสิ่งต่างๆ รอบตัวแล้ว การประเมินสุขภาพตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราพอรู้ล่วงหน้าได้ว่าช่วงไหนวัยใดเราสามารถทำอะไรได้บ้าง

แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของคนวัยทองคือ การไม่ยอมรับว่าตนเองแก่แล้ว รับไม่ได้กับการถูกลดทอนคุณค่า น้อยใจกับการถูกลูกหลานขอให้อยู่เฉยๆ เหมือนให้นั่งเฉยๆ รอวันตาย แม้ว่าหลายครั้งจะเป็นความปรารถนาดีก็ตาม

วิธีการเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับเรื่องนี้ ขอแนะนำให้ลองเฝ้าดูผู้สูงวัยในบ้านในวันที่เรายังคงเป็นวัยทำงานมีเรี่ยวแรง แล้วจดจำไว้ว่าในวันนี้เรามองดูผู้สูงวัยเหล่านี้อย่างไร เพราะในอนาคตเมื่อถึงวันนั้นเราก็จะเผชิญกับมุมมองของลูกหลานในแบบเดียวกัน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ปัญหาสุขภาพเริ่มแสดงออกชัดเจน แต่ยังคงมีแรง สติยังคงแจ่มใส มักไม่ยอมรับปัญหาความชราที่ลูกหลานกำหนดให้ ต้องการแสดงออกถึงความสามารถโดยการทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้ในอดีตโดยละเลยปัญหาสุขภาพ ซึ่งกรณีนี้มักจะเป็นช่วงผ่านการเกษียณมาแล้วระยะหนึ่ง เช่นช่วงอายุตั้งแต่ 65-70 ปี

ดังนั้น ความเข้าใจภาวะทางอารมณ์และสุขภาพของผู้เกษียณในแต่ละช่วงวัยจึงสำคัญยิ่ง

หากเราจะแบ่งช่วงอายุในวัยเกษียณแบบคร่าวๆ โดยใช้ระยะเวลาและความสามารถในการใช้ชีวิตเป็นเครื่องกำหนดเบื้องต้นก็แบ่งได้ เช่น

- ช่วงเริ่มต้นเกษียณ อายุ 60-69 ปี

- ช่วงวัยเกษียณจริง อายุ 70-79 ปี

- และช่วงสุดท้ายวัยเกษียณ อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ ช่วงอายุต่างๆ เป็นเพียงตัวเลขกำหนดคร่าวๆ ขึ้นเป็นตัวอย่างเพื่อประเมินกิจกรรมการใช้ชีวิต โดยการประเมินแต่ละช่วงอายุจะขึ้นกับสุขภาพ อายุขัยของบรรพบุรุษในครอบครัว และผลพวงจากการดำรงชีพที่สั่งสมมาของแต่ละคนเป็นสำคัญ

ช่วงเริ่มต้นเกษียณ อายุ 60-69 ปี

ในช่วงวัยนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนช่วงก่อนเกษียณ เป็นวัยที่ยังคงมีพลัง เชื่อในความสามารถของตนเองในการทำสิ่งต่างๆ เหมือนก่อนเกษียณ

ในวัยนี้ ผู้ประกอบกิจการส่วนตัวหรือผู้มีอาชีพอิสระอาจจะมีความแตกต่างในการใช้ชีวิตก่อนและหลังเกษียณน้อย เพราะยังทำงานไปเรื่อยๆ ได้แม้จะลดระยะเวลาการทำงานลง แต่ข้าราชการ พนักงาน กับลูกจ้างจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้ชีวิตค่อนข้างมาก จากที่ต้องทำงานเต็มเวลา อาจจะกลายเป็นคนว่างงาน หรือเหลือเพียงงานพิเศษ เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นต้น

ในวัยนี้จึงควรประเมินความพร้อมของตนเองในด้านต่างๆ ให้ดี โดยเฉพาะสถานะด้านการเงินและการใช้ชีวิตก่อนตัดสินใจจะทำอะไร เพราะเป็นวัยที่ยังฮึกเหิม อยากทำสิ่งใหม่ๆ ที่ใฝ่ฝัน โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง ข้าราชการ ที่มีเงินเก็บเงินออม หลายคนอย่างเริ่มต้นอาชีพใหม่ เช่น ไปลงทุนทำสวน โดยอาจลืมศึกษาความเป็นไปได้ ความสามารถ กำลังกาย และความเหมาะสมของตนเอง จนอาจเกิดผลเสียหายด้านการเงินของตนเองสำหรับใช้ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่

วัยนี้ยังเป็นวัยที่มีความสามารถทั้งทางสมองและร่างกาย หลายคนยังใช้ความรู้ที่สั่งสมมานาน รับงานที่ปรึกษา ทำกิจการต่อเนื่อง ก่อนส่งต่อให้ลูกหลาน สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างที่เกษียณจากการทำงานเต็มเวลา อาจใช้เวลาในช่วงชีวิตนี้สั่งสมการเงินเพิ่มเติมจากการหารายได้พิเศษ หรือทำงานการกุศล หรือทำในสิ่งที่ตนเองต้องการแต่ยังไม่ได้ทำ เช่นการท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ  การเข้าไปช่วยงานมูลนิธิการกุศล กิจกรรมต่างๆ หรือช่วยเหลือเลี้ยงดูลูกหลาน รวมถึงการดูแลสุขภาพออกกำลังกายสร้างความแข็งแรง

ช่วงวัยเกษียณจริง อายุ 70-79 ปี

ช่วงวัยนี้ความสามารถในการหารายได้จะลดลงจนเกือบหมด ค่าใช้จ่ายสันทนาการจะลดลง แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตามปัญหาสุขภาพที่มีมากขึ้น โรคภัยที่มีอยู่จะแสดงอาการชัดเจนขึ้น และความสามารถต่างๆ ในการใช้ชีวิตจะลดลง ความแตกต่างด้านการใช้ชีวิตจะใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ลูกจ้างเกษียณ หรืออาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ

การทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับวัยนี้ควรลดระดับลง ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของตนเองให้มาก ควบคุมการบริโภค เน้นการรักษาสุขภาพมากขึ้น ช่วยเหลือตนเองในกิจกรรมต่างๆ ตามความสามารถ หากิจกรรมสร้างสรรค์ให้ตนเอง เช่น ใช้ชีวิตกับสังคมเพื่อนในหมู่บ้านเพื่อคลายเหงา เป็นต้น

ช่วงสุดท้ายวัยเกษียณ อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป

เป็นช่วงวัยชราภาพจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต จัดเป็นวัยพักผ่อนอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาสุขภาพจะแสดงออกอย่างชัดเจน ปัญหาด้านสุขภาพและสมอง การจดจำต่างๆ ลดลงอย่างเด่นชัด การทำกิจกรรมต่างๆ ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยเหลือเป็นส่วนใหญ่ การใช้จ่ายด้านการเงินจะเป็นเรื่องสุขภาพเกือบทั้งหมด สำหรับผู้ชราภาพมากๆ จำเป็นต้องมีผู้คอยดูแล หากมีครอบครัวลูกหลานช่วยเหลือจะลดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายไปได้มาก การเตรียมพร้อมด้านการเงินช่วงสุดท้ายนี้จึงจะต้องเตรียมไว้สำหรับเรื่องสุขภาพเป็นหลัก

แม้ว่าการวางแผนชีวิตตั้งแต่เริ่มเกษียณไปจนถึงช่วงสุดท้ายตั้งแต่วันนี้จะเป็นการกำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันห่างไกล ซึ่งเมื่อถึงเวลา สิ่งต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลง อาจพบปัญหาจนไม่สามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้แม้ว่าแผนนั้นจะดีเพียงใดก็ตาม แต่อย่างน้อยการเตรียมพร้อม เข้าใจตนเอง รู้ข้อจำกัด จะช่วยให้การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแผนการใช้ชีวิตทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเผชิญปัญหาแบบไร้ทางออกเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ ครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น