คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยพนิต ปัญญาบดีกุล
บลจ.บัวหลวง
ก่อนอื่นขอเขียนถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ซึ่งปัจจุบันจะถูกนำไปตีความหมายว่าคือการวางแผนการลงทุน ในขณะที่ในวงการประกัน บางคนก็อ้างว่าคือการวางแผนในการทำประกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจเพียงบางส่วน ดังนั้น ถ้าพูดถึงการวางแผนการเงินแบบรอบด้านจริงๆ แล้ว ความหมายของการวางแผนการเงินจะต้องครอบคลุมในส่วนต่างๆ อย่างครบถ้วน ทั้งส่วนของการปกป้องฐานะไม่ให้ลดน้อยหรือเสื่อมค่าไป การสร้างฐานะให้มีมากขึ้นๆ กว่าเดิม และอย่าลืมที่จะกระจายทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่หลังจากใช้ส่วนตัวในตอนเกษียณอย่างสบายๆ แล้วไปให้แก่ลูกหลานหรือบุคคลที่รักด้วยค่ะ
ทีนี้อยากวางแผนการเงินแล้วจะเริ่มอย่างไรดี ก่อนที่ทุกท่านจะวิเคราะห์ความต้องการทางการเงินในด้านต่างๆ ของตนเอง เช่น ความต้องการทางด้านการทำประกัน ความต้องการทางด้านการศึกษาบุตร ความต้องการทางด้านการเกษียณอายุ การวิเคราะห์ระดับการรับความเสี่ยงและพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งความต้องการทางการเงินด้านต่างๆ ก็คือเป้าหมายทางการเงินของตนเองนั่นเอง บางท่านจึงเริ่มจากการกำหนดเป้าหมาย ซึ่งก็แบ่งเป็น เป้าหมายระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) เป้าหมายระยะปานกลาง (1-3 ปี) และเป้าหมายระยะยาว (3 ปีขึ้นไป) การกำหนดเป้าหมายทางการเงินเป็นสิ่งที่ไม่ยาก ดิฉันเชื่อว่าผู้ที่กำหนดได้ดีที่สุดคือตัวเราเอง เนื่องจากเราจะเป็นผู้ที่รู้ตัวเราดีที่สุดว่าเราต้องการที่จะมีชีวิตในอนาคตอย่างไร หลังจากกำหนดเป้าหมายแล้ว ท่านจะสามารถให้ลำดับความสำคัญของเป้าหมายทางการเงินหรือกำหนดว่าเป้าหมายใดสำคัญระดับใด (สูงมากถึงต่ำมาก) มีข้อควรระวังคือบางท่านที่ไม่มีประสบการณ์ทางด้านการวางแผนการเงินอาจจะไม่สามารถกำหนดเป้าหมายของตนเองได้ดีเพียงพอ หรือบางครั้งกำหนดไว้แต่อาจจะไม่ครอบคลุมถึงความต้องการรอบด้าน
คำถามตามมาอีกแล้วค่ะ เป้าหมายน่ะรู้อยู่แล้วว่าอยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร (ทางการเงิน) แล้วเริ่มอย่างไรล่ะ บอกซะที อยากวางแผนการเงินแล้ว!!!
ถ้าจะยกประโยคที่ว่า “เราควรมองดูตัวเองก่อนทุกครั้ง” มาใช้ในการเริ่มวางแผนการเงินก็คงจะไม่ผิด วันนี้ถ้าท่านอยากจะวางแผนการเงิน ขอให้ทุกท่านเริ่มจากการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของตนเองก่อน ดังนั้น ดิฉันขอยกตัวอย่าง Case ลูกค้าสมมติชื่อคุณฮาร์ท มาเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ นะคะ
1. วิเคราะห์ฐานะทางการเงิน หรือที่เข้าใจง่ายๆ คือวัดความมั่งคั่งของตนเอง ง่ายกว่านั้นอีกคือวัดความรวยหรือจนของตนเองนั่นเอง หลายท่านคงเคยได้ยินว่า การที่มีทรัพย์สินรวมมากๆ อาจจะไม่ได้มั่งคั่งหรือร่ำรวยจริงก็ได้ ดังนั้นท่านคงจะต้องตรวจสอบความมั่งคั่งของตนเองกันก่อน
ตัวอย่าง
จากรูปจะเห็นได้ว่าคุณฮาร์ทมีทรัพย์สินจำนวนทั้งหมด 13 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของทรัพย์สินสภาพคล่อง (เงินสด เงินฝาก ทรัพย์สินที่เปลี่ยนแปลงเป็นเงินได้ง่ายๆ เป็นต้น) จำนวน 8.5 ล้านบาท คิดเป็น 65.38% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมด มีทรัพย์สินใช้ส่วนตัวหรือรถยนต์และเครื่องประดับจำนวน 4 ล้านบาท (30.77%) และมีทรัพย์สินลงทุนเพียง 5 แสนบาท (3.85%) ทางด้านหนี้สิน มีหนี้รวม 7 แสน 8 หมื่นบาท ซึ่งส่วนใหญ่คือเงินกู้ยืมจากพี่ชายจำนวน 7 แสนบาท (5.38%) ดังนั้นจึงมีความมั่งคั่ง 12.2 ล้านบาท
แล้วท่านล่ะ ทราบหรือไม่ว่าท่านมีความมั่งคั่งเท่าไรคะ???
(อ่านต่อตอนหน้า)