xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.แนะทยอยซื้อ RMF/LTF เปิดขายบอนด์ชูยิลด์สูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นทางเลือก ชูผลตอบแทนสูง พร้อมแนะทยอยลงทุน RMF/LTF ในช่วงจังหวะนี้ มอง ศก.ไทยชะลอ แนะลงทุนสินทรัพย์ความเสี่ยงปานกลาง

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลานี้เหมาะสำหรับการทยอยลงทุนในกองทุนประเภท RMF/LTF เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยในช่วงที่ผ่านมากองทุนของบริษัทได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดเงินลงทุนนับตั้งแต่ต้นปีถึง ณ วันที่ 30 มิถุนายน ทั้งสิ้นประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งกองทุน RMF/ LTF ของบริษัทมีหลากหลายนโยบายการลงทุนให้ลูกค้าเลือก ทั้งกองทุนประเภทตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนที่เหมาะสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ประเภทกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐทั่วโลก กองทุนทองคำ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกันนี้ ผู้ลงทุนยังได้รับโปรโมชันจากการลงทุนอีกด้วย หากลงทุนตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.-30 ธ.ค. 2556 ลงทุนตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป โดยทุกๆ10,000 บาทรับเงินคืน 0.2% เข้ากองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ พลัส (KTPLUS) นอกจากนี้ยังสามารถซื้อผ่านบัตรเครเดิตเคทีซี ซิตี้แบงก์ เครือกรุงศรี เซ็นทรัลการ์ด และเทสโก้ ได้อีกด้วย โดยบัตรเครดิตเคทีซีสามารถทำรายการผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ

โดยบริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยประจำ 6 ดือน คุ้มครองเงินต้น 5 (KTFIX6M5) รอบใหม่ (Roll Over) อายุโครงการ 6 เดือน ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2556 เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 57% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝาก ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และธนาคารธนชาต ได้รับผลตอบแทนประมาณ 2.45% ต่อปี ซึ่งนับว่าสูงกว่าเงินฝากประจำธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่อัตราดอกเบี้ย 6 เดือน อยู่ระหว่าง 1.95-2.25% และธนาคารขนาดเล็กอยู่ที่ 2.00-2.85% ต่อปี ซึ่งการลงทุนในกองทุนจะไม่เสียภาษีหัก ณ จ่าย และกองทุนนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า จำกัด ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 4.2% ต่อปี โดยให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนให้สอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่ง บลจ.ฟินันซ่าได้ให้ความรู้แก่ลูกค้าในประเด็นนี้มาตลอด ขณะนี้ในระยะสั้นเราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะชะลอลงมากจากการส่งออกที่อ่อนแอ โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน และการอ่อนตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศไทยจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 56 ขยายตัวไม่ถึง 4.2% ต่อปี ดังนั้น บลจ.ฟินันซ่าจึงเริ่มเสนอสินทรัพย์ที่ให้โอกาสรับผลตอบแทนดีและมีความเสี่ยงปานกลางแก่ลูกค้า โดยเน้นไปที่กองทุนตราสารหนี้ที่ให้โอกาสรับอัตราผลตอบแทนที่ดีภายใต้ระดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้ขึ้นไป

ทั้งนี้ บลจ.ฟินันซ่าจึงออกกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือนเป็นทางเลือกแก่ลูกค้า คือ กองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3 เดือน 3 (FAM FIPR3M3) โดยมีอัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.85% ต่อปี เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-6 ส.ค. 56 โดยสินทรัพย์ในกองทุนบางส่วนจะลงทุนเป็นเงินฝากธนาคารต่างประเทศ และในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ลงทุนได้ขึ้นไป

สำหรับการลงทุน 3 เดือนเป็นกองทุนที่โรลโอเวอร์ FAM FIPR3M3 เป็นกองทุน specific fund โดยกองทุนจะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ และ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia) หรือเงินฝากสกุลเงิน AED ธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank, UAE (F1), ธนาคาร Union National Bank, UAE (P-1), ธนาคาร CBQ (Qatar), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตั๋วแลกเงิน บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+), หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ BBB+ ขึ้นไป ตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ด้าน บลจ.ยูโอบี จำกัด เปิดขายกองทุนตรสารหนี้ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดยูโอบี เอฟไอ พลัส พลัส 12 ซี 10 (UOBFIPP12C10) เสนอขายครั้งแรกและครั้งเดียว 30 ก.ค.-6 ส.ค. 56

กองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก ตราสารทางการเงินที่รัฐบาล องค์การ หน่วยงานของรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ ธนาคาร สถาบันการเงิน และ/หรือภาคเอกชน ทั้งของในประเทศและ/หรือต่างประเทศ และลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) ที่เป็น Credit Linked Note ออกโดยสถาบันการเงินในประเทศ และ/หรือต่างประเทศ โอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก และตราสารหนี้ภาครัฐในประเทศ โอกาสรับผลตอบแทน 3.5% ต่อปี

อีกกองทุนคือ กองทุนเปิด ยูโอบี เอฟไอ พลัส พลัส 6/49 (UOBFIPP6/49) เสนอขายครั้งแรกและครั้งเดียว 30 ก.ค.-5 ส.ค. 56 กองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ และตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนทั่วไป โอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก และผลตอบแทนไม่ต้องเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา ลงทุนระยะสั้น อายุประมาณ 6 เดือน โอกาสรับผลตอบแทน 3.0% ต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น