xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.เปิดขายบอนด์ระยะสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.ฟินันซ่า จำกัด เสนอขายกองทุนตราสารหนี้ 6 เดือน FAM FIPR6M6 อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 2.90% ต่อปี เปิดขายระหว่างวันที่ 23-30 ก.ค. ด้าน บลจ.กรุงศรีเปิดขายกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ 6M68 (KFFIX6M68) อายุ 6 เดือน เปิดขายวันที่ 24-29 ก.ค. 56 ชูผลตอบแทน 2.75% ต่อปี

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้นักลงทุนไทยยังคงจับตาตัวเลขจีดีพีไทยและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 ซึ่งทาง บลจ.ฟินันซ่า ประเมินว่าแรงส่งเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนต่อลดลง คู่ค้าสำคัญอย่างจีนชะลอตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแล้วแม้ยุโรปยังแย่อยู่แต่เริ่มดีขึ้น ผลคือเงินทุนยังคงไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) และทำให้การลงทุนในประเทศเกิดใหม่ไม่น่าสนใจ เพื่อให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุน เราจึงหาตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนที่ดีที่สุดภายใต้ระดับความน่าเชื่อถือลงทุนได้ขึ้นไปเสนอแก่ลูกค้า

บลจ.ฟินันซ่าจึงออกกองทุนตราสารหนี้ 6 เดือนเป็นทางเลือกแก่ลูกค้า คือ กองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 6 เดือน 6 (FAM FIPR6M6) โดยมีอัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.90% ต่อปี เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 23-30 ก.ค. 56 โดยสินทรัพย์ในกองทุนบางส่วนจะลงทุนเป็นเงินฝากธนาคารต่างประเทศและในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ลงทุนได้ขึ้นไป

สำหรับกองทุน FAM FIPR6M6 เป็นกองทุน specific fund โดยกองทุนจะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ และ/หรือเงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia) หรือเงินฝากสกุลเงิน AED ธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank, UAE (F1), ธนาคาร Union National Bank, UAE(P-1), ธนาคาร CBQ (Qatar), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตั๋วแลกเงิน บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (BBB+), ตราสารหนี้ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ BBB+ ขึ้นไป ตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ด้านนายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเปิดเสนอขายกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ 6M68(KFFIX6M68) อายุประมาณ 6 เดือน มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคาร Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาขามาเก๊า) สัดส่วนการลงทุน 25% เงินฝากธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) สัดส่วนการลงทุน 20% ตราสารหนี้ระยะสั้นออกโดยธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 20% ตราสารหนี้ระยะสั้นออกโดยธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 20% ตั๋วแลกเงินออกโดยบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 15% โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการขายคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติประมาณ 2.75% ต่อปี และหลังครบกำหนดอายุโครงการบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเงิน (KFCASH) ซึ่งเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนต่อไป

“กองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ 6M68 (KFFIX6M68) เป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและต้องการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และต้องการล็อกผลตอบแทน โดยสามารถลงทุนได้เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน”

สำหรับภาวะตลาดโลกนั้น ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ในขณะที่ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตของฝรั่งเศสลงสู่ AA+ จาก AAA และให้มุมมอง “มีเสถียรภาพ” หลังจากมูดี้ส์และเอสแอนด์พีได้ทำการปรับลดไปก่อนหน้านี้แล้ว ในส่วนของเอเชีย เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 7.5 ตามคาด ด้านอินเดียได้สร้างความประหลาดใจต่อตลาดโดยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 2 ประเภท ขึ้นประเภทละร้อยละ 2 แต่คงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนไว้ดังเดิม นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ทำการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียลงร้อยละ 0.3 สู่ร้อยละ 6.3 ในปีนี้ และคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.4 ในปีหน้า หลังจากที่ทำการปรับลดคาดการณ์จีดีพีของจีนลง”

“ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีลักษณะชันขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นลดลงร้อยละ 0.01 ในขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01-0.02 ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีปีนี้จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 5.1 เหลือร้อยละ 4.2 แต่คงคาดการณ์จีดีพีสำหรับปีหน้าไว้ดังเดิม โดยเป็นผลจากการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งปรับลดลงจากร้อยละ 7.4 สู่ร้อยละ 2 รวมถึงการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในเกือบทุกภาคส่วน และ ธปท.ยังได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของปีนี้ลงสู่ร้อยละ 2.3 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.7 และคาดว่าเงินเฟ้อในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.7 เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันจะลดลง” นายฉัตรพีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น