xs
xsm
sm
md
lg

ONE คาด กนง.ลดดอกเบี้ย R/P อีก เชื่อกระตุ้น ศก.หลังไร้ปัจจัยใหม่หนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.วรรณประเมิน กนง.เตรียมหั่นดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 10 ก.ค.นี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย พร้อมเผย 4 เดือน AUM โตเพิ่ม 5.38% ล่าสุดส่งกองทุน ONE-PREMIER ชูกลยุทธ์ Asset Allocation บริหารพอร์ตเปิดขายไอพีโอแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 26 มิถุนายน 2556

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงนี้ว่า การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ในช่วงเวลานี้คงเต็มไปด้วยความผันผวน ทั้งการลงทุนในหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างเช่นทองคำ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใดๆ ที่ชัดเจนที่จะผลักดันให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับสูงขึ้นได้อย่างเด่นชัด เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยูโรโซน และจีน รวมทั้งยังคงจับตามองต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต่อแนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 10 ก.ค. 56 และมาตรการการดูแลค่าเงินบาท ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อทิศทางการลงทุนในช่วงนี้

“มีความเป็นไปได้ที่ทาง กนง.จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาสู่ระดับ 2.25% ในวันที่ 10 ก.ค. 56 หลังจากที่ปรับลงไป 0.25% ในครั้งก่อนหน้าแล้วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ หลังจากที่เศรษฐกิจใน 4 เดือนแรกมีทิศทางที่ชะลอลงจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่เริ่มผ่อนแรงลงหลังสิ้นสุดมาตรการการสนับสนุนของภาครัฐ รวมทั้งการส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก”

สำหรับภาพรวมในไตรมาสที่ 3 นี้เราประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเรามองแนวต้านที่ 30.2-3.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจากความกังวลด้านนโยบายต้านการไหลของเงิน ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะเริ่มชะลอตัวบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และจีน ยกเว้นญี่ปุ่นที่อาจจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

“เรามองว่าสินทรัพย์เสี่ยงอาจจะถูกขายทำกำไรในช่วงสั้น รวมถึงขาดปัจจัยกระตุ้น เช่น Earning Upgrade และ Demand Pull ในส่วนของการจัดพอร์ตนั้นควรลงทุนในสินทรัพย์หรือกลยุทธ์ให้ยิลด์สม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยง โดยเราไม่แนะนำให้ลงทุนในทองคำ โดยมี target buy ประมาณ 1,300 หรือต่ำกว่านั้น ส่วนกรอบหุ้นไทยที่เราประเมินไว้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคือ 1,470-1,740 จุด”

นายวิน กล่าวต่อว่า การจัดสรรพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) มีข้อดีคือ สามารถสร้างผลตอบแทนพร้อมๆ กับการลดความเสี่ยงในระยะยาวได้ดี โดยจากสถิติการจัดสัดส่วนสินทรัพย์ระหว่าง Money Market กับตราสารทุน (SET Total Return Index) โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ปี 2547 ถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2556

เราพบว่า หากเราตั้งสมมติฐานว่าต้องการอัตราผลตอบแทน 2% ต่อไตรมาสโดยจัดสัดส่วนของหุ้นและตราสารหนี้ที่ได้อย่างเหมาะสม พบว่าโอกาสที่พอร์ตการลงทุนจะไม่ขาดทุนมีถึง 97% ขณะที่โอกาส 62% ที่จะได้รับผลตอบแทนมากกว่า 1.5% และผลตอบแทนโดยเฉลี่ยต่อไตรมาสอยู่ที่ระดับประมาณ 2.15% ซึ่งสะท้อนว่ากลยุทธ์ดังกล่าวสามารถตอบโจทย์การลงทุนในลักษณะนี้ได้ดี

ทั้งนี้ บลจ.วรรณจะเปิดขายกองทุนเปิด วรรณ อินคัม พรีเมียร์ ฟันด์ (ONE-PREMIER) ในระหว่างวันที่ 13-26 มิถุนายน 2556 ซึ่งใช้กลยุทธ์การลงทุน โดยกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Allocation) ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Multi Asset Classed) ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ ทองคำ และน้ำมัน เป็นต้น และปรับสัดส่วนในแต่ละช่วงเวลาให้สอดคล้องไปกับแต่ละสถานการณ์การลงทุน

4 เดือน AUM โตเพิ่ม 5.38%

นายวิน กล่าวต่อว่า ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 บลจ.วรรณมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการรวม หรือ AUM จำนวน 79,398.04 ล้านบาทจากทั้ง 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดยเพิ่มขึ้นจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นปี 2555 ที่ระดับ 75,345.42 ล้านบาท จำนวน 4,052.62 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.38

ทั้งนี้ ธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตอย่างน่าพอใจ โดยมีการเติบโตจากสิ้นปี 2555 ในอัตรา 9.06%, 136.33% และ 13.62% ตามลำดับ จากการบริหารสินทรัพย์ของสถาบันภาครัฐ ผู้ลงทุนสถาบัน และกลุ่มผู้ลงทุนรายย่อยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะการบริหารเงินในตราสารทุนเชิงรุกทั้งในส่วนของกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล เนื่องจากมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอ

“บลจ.วรรณจะเน้นแผนการสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์การลงทุนของผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการลงทุนที่หลายๆ ปัจจัยยังไม่มีความชัดเจน การใช้กลยุทธ์การบริหารพอร์ตการลงทุนในลักษณะของ Absolute Return น่าจะเป็นผลดีมากกว่าการลงทุนแบบเทียบกับการปรับตัวของตลาด”


กำลังโหลดความคิดเห็น