จบไตรมาส 1/56 หุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.74% จาก 3 เดือนก่อน มาร์เกตแคปยังอยู่ที่ 13 ล้านล้าน สถาบันเข้าเก็บหุ้นมากสุด ขณะที่ต่างชาติยอดซื้อสุทธิเหลือ 3.8 พันล้านบาท “เอเซียพลัส” เชื่อ Fund Flow มีแนวโน้มไหลออกจากภูมิภาค แม้คาดผลประชุม กนง. 3 เมษายน ยังคงอัตราดอกเบี้ย โดยรวมคาดระยะสั้นดัชนียังไปต่อ แต่สัญญาณเทขายมีให้เห็นอยู่ตลอด อีกทั้งสถานการณ์ของสโลวะเกียยังไม่น่าไว้วางใจ
ตลาดหุ้นไทยปิดส่งท้ายไตรมาส 1/56 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มี.ค. ที่ระดับ 1,561.06 จุด เพิ่มขึ้น 16.49 จุด มูลค่าการซื้อขาย 50,484.71 ล้านบาท จากแรงหนุนตลาดสหรัฐฯ และความกังวลไซปรัสลดลง สัปดาห์หน้า โดยในรอบ 3 เดือน หรือตั้งแต่ต้นปีแม้ช่วง 2 สัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นจะมีความผันผวนจนดัชนีปรับตัวลดลงไปมาก แต่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.74% และคิดเป็น 10.97% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เช่นเดียวกับมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ที่ช่วง 2สัปดาห์ก่อนลดลงมาก แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาอยู่เหนือ 13 ล้านล้านบาท ที่ระดับ 13.286 ล้านล้านบาท
โดยรวมการซื้อขายสุทธิตามกลุ่มนักลงทุนตลอดเดือนมี.ค. พบว่า นักลงทุนทั่วไปขายสุทธิ 19,056.49 ล้านบาท ขณะที่สถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 12,153.42 ล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสุทธิ 658.59 ล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี สถาบันซื้อสุทธิ 31,985.41 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 3,894.43 ล้านบาท โดยนักลงทุนทั่วไปขายสุทธิ 33,991.14 ล้านบาท และบัญชีบล.ขายสุทธิ 1,888.69 ล้านบาท
ภาพรวมไตรมาส 1/56 ดัชนีหลักทรัพย์มีโอกาสขึ้นไปทำลายสถิติเดิม 1,789.16 จุด เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2537 จากความร้อนแรงของดัชนีที่ปรับตัวขึ้นไม่หยุด จนมาทำสถิติใหม่ที่ 1,601.34 จุด เมื่อ 19 มี.ค. แต่ก็ไม่สามารถยืนเหนือระดับดังกล่าวได้ ก่อนปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และเริ่มกลับมารีบาวนด์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค. ส่วนด้านมูลค่าการซื้อขายได้สร้างสถิติใหม่นับตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ฯ ไว้ที่ 101,361.64 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 มี.ค.56 ทำลายสถิติเดิม 94,062 ล้านบาท เมื่อ 23 ม.ค.2549
บล.เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) ประเมินทิศทางการเคลื่อนไหวของ Set Index ในระยะสั้นไว้อย่างน่าสนใจว่า ดัชนีหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงปรับฐาน ซึ่งจะทำให้มีรูปแบบการเคลื่อนไหวมีความผันผวนสูง และด้วยสถานการณ์แวดล้อมในต่างประเทศ ยังอาจสร้างแรงกดดันได้อย่างต่อเนื่อง จึงยังคงแนะนำกลยุทธ์ลงทุนแบบเน้นหุ้นรายตัวที่ผันผวนน้อยกว่าตลาด
ภาพรวมเชื่อว่า Fund Flow ยังคงไหลออกจากภูมิภาคต่อเนื่องต่อไป ขณะที่ในไทยแม้นักลงทุนต่างชาติจะมีการซื้อสุทธิ 3 วันต่อเนื่อง แต่ค่าเงินบาทกลับอ่อนค่าลงเล็กน้อย ซึ่งคาดว่ามาจากยอดซื้อสุทธิตราสารหนี้ที่ลดลง ส่วนพอร์ต บล.พบว่า มีการขายออกมา 6 วันต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะมีแรงซื้อกลับมาในระยะสั้น
ทั้งนี้ ปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรโซนยังมีโอกาสกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก ล่าสุด สโลวะเกีย อาจเป็นอีกประเทศที่ต้องขอรับความช่วยเหลือต่อจากไซปรัส เนื่องจากสโลวะเกียแบกรับหนี้เสียในระบบธนาคารกว่า 7 พันล้านยูโร หรือ 20% ของจีดีพี ขณะที่สินทรัพย์ธนาคารทั้งระบบ 130% ของจีดีพี มีการประเมิณว่าสโลวะเกียต้องการเงินเข้าไปอุ้มระบบธนาคารประมาณ 1 พันล้านยูโร แม้ผู้นำประเทศจะออกมายืนยันว่า สถานะของตนแข็งแกร่ง ไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือ แต่ธนาคารหลายแห่งในประเทศที่มีรัฐค้ำประกัน ต้องเป็นผู้แบกรับภาระหนี้ต่อไป หากท้ายที่สุดปัญหาทวีความรุนแรงจนรัฐบาลแบกรับไม่ไหว ก็อาจต้องหันมาขอความช่วยเหลือ และอาจต้องดำเนินนโยบายเก็บภาษีผู้ฝากเงินเหมือนชาวไซปรัส
ส่วนสถานการณ์ในประเทศ ในวันที่ 3 เม.ย. จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งคาดว่า ที่ประชุมน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมคือ 2.75% ซึ่งคาดว่าจะมาจากแรงกดดันหนักของอัตราเงินเฟ้อ ก.พ.ที่สูงถึง 3.23% ทำให้ผลตอบแทนแท้จริง (Real Return) ติดลบ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2556 จะอยู่ที่ 2.80-3.40% ดังนั้น หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจริงก็อาจจะเป็นการเร่งให้ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางด้านราคาในระยะยาวที่เป็นเป้าหมายหลักที่ต้องดูแลของ ธปท.
ขณะที่เมื่อเทียบอัตราดอกเบี้ยของไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่า ดอกเบี้ยของประเทศเหล่านั้นยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากจำเป็นต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยที่คงที่จะยังทำให้ผลตอบแทนของไทยยังสูงกว่า และมีแนวโน้มของ Fund Flow ไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรอยู่ แม้ระยะยาวต่อไปอาจไหลออกจากตลาดหุ้นไทย
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยส่งทม้ายเดือน มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากแรงซื้อของกองทุน และการทำราคาปิดสิ้นงวดบัญชี (Window Dressing) ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,561.06 จุด เพิ่มขึ้น 5.55% จากสัปดาห์ก่อน ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 20.03% มาอยู่ที่ 62,088.64 ล้านบาท โดยนักนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนรายย่อย และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 484.28 จุด เพิ่มขึ้น 10.97% จากสัปดาห์ก่อน
สำหรับ แนวโน้มสัปดาห์ระหว่างวันที่ 1-5 เม.ย.2556 มองว่า ดัชนีมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แต่ต้องระวังแรงขายทำกำไร โดยรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ เช่น เครื่องชี้ภาคการผลิต (ISM Manufacturing) ยอดขายสินค้าโรงงาน ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,523 และ 1,477 ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,580 และ 1,600 ตามลำดับ
นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวถึงแนวโน้มในสัปดาห์นี้ มองว่า ดัชนียังแกว่งตัวผันผวน โดยเฉพาะช่วงปลายสัปดาห์ ความร้อนแรงของดัชนีหุ้นไทยอาจชะลอตัวลง เพราะนักลงทุนอาจขายทำกำไรก่อนหยุดยาว โดยหุ้นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มประมูลทีวีดิจิตอล พร้อมแนะนักลงทุนต้องติดตามการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ การขึ้นเครื่องหมายเอ็กซ์ดีของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และสถานการณ์ในอิตาลี ไซปรัส ประเมินแนวรับที่ 1,543-1,546 จุด และแนวต้าน 1,575-1,580 จุด กลยุทธ์ แนะนำรอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวในหุ้นธนาคารพาณิชย์ และรับเหมา
ส่วนเรื่องร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศนั้น มองว่าจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงอีก 2-3 ปีข้างหน้า และควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยก่อนหน้านี้ ได้ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น แล้วปรับตัวลดลงในที่สุด