xs
xsm
sm
md
lg

ส่งท้ายมิถุนายน ลุ้นหุ้นไทยรีบาวด์ จับตาประชุมผู้นำยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการรายวัน - โบรกเกอร์ประเมิน หุ้นไทย สัปดาห์ส่งท้ายมิ.ย. ยังแกว่งตัวผันผวนจากวิกฤตหนี้ในยูโรโซน แต่มีลุ้นอาจรีบาวด์ จากการคาดการณ์ว่าจะเกิด Window Dressing ชี้ให้จับตาผลประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภาพรวมหนี้ยุโรปอาจฉุดกำไรบจ.ปีนี้เหลือ18% จากเดิม20%
 

ตลาดหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22มิ.ย.) ปิดที่ระดับ 1,152.91 จุด ลดลง 6.14 จุด หรือ -0.53% มูลค่าการซื้อขาย 25,987.79 ล้านบาท ภาพรวมปรับตัวลงตามตลาดภูมิภาค โดยมีกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯเป็นกลุ่มนำ ระหว่างวันดัชนีแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 1,152.91 จุด และแตะจุดต่ำสุดที่ 1,144.44 จุด

หลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 187 หลักทรัพย์ ลดลง 297 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 155 หลักทรัพย์ ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่ PTT มูลค่าการซื้อขาย 2,057.45 ล้านบาท ปิดที่ 314.00 บาท ลดลง 7.00 บาท PTTGC มูลค่าการซื้อขาย 1,993.11 ล้านบาท ปิดที่ 54.50 บาท ลดลง 1.75 บาท SCB มูลค่าการซื้อขาย 1,532.39 ล้านบาท ปิดที่ 142.00 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง BBL มูลค่าการซื้อขาย 1,328.83 ล้านบาท ปิดที่ 181.00 บาท ลดลง 1.50 บาท และ KBANK มูลค่าการซื้อขาย 1,273.67 ล้านบาท ปิดที่ 159.00 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ดัชนี SET ปรับลดลง ผิดหวังเฟดไม่ออกมาตรการ QE3 และข้อมูลภาคการผลิตทั่วโลกที่ชะลอลง โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,152.91 จุด ลดลง 1.10% จากสัปดาห์ก่อน ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 27.86% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 22,956.01 ล้านบาท โดยนักลงทุนรายย่อยและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันนักขายสุทธิ

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 288.99 จุด เพิ่มขึ้น 1.89% จากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในวันจันทร์ จากแรงขายทำกำไรที่หักล้างผลบวกจากผลของการเลือกตั้งกรีซก่อนที่ดัชนีจะปรับขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ จากความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด อย่างไรก็ดี ดัชนีปรับลดลงในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังเฟดไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลภาคการผลิตในสหรัฐฯ และจีนบ่งชี้ถึงการขยายตัวที่ชะลอตัวลง

สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25-29 มิ.ย. 2555 มองว่าดัชนีอาจยังคงแกว่งผันผวน โดยต้องติดตามการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป (28-29 มิ.ย.)และการยื่นแผนปฏิรูปโดยรัฐบาลใหม่กรีซต่อทางการยุโรปภายในสิ้นเดือนนี้ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่เครื่องชี้ที่อยู่อาศัยความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และจีดีพีไตรมาส 1/2555 (รอบสุดท้าย) ทั้งนี้คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,124 และ 1,110 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,156 และ1,170 จุด ตามลำดับ

นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวลงตามตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย แต่ดูจะปรับตัวลงน้อยกว่าตลาดภูมิภาคที่ปรับตัวลงเฉลี่ย 1% โดยหุ้นในกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมีปรับตัวลงนำตลาด ภายหลังจากราคาน้ำมันได้ปรับตัวลงแรง

เนื่องจากตลาดฯผิดหวังในเรื่องทีธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ(QE)และทางมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารขนาดใหญ่ 15 แห่ง

ทำให้ แนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสที่จะเกิดเทคนิคเคิลรีบาวด์ได้ จากการคาดการณ์ว่าจะเกิด Window Dressing และในวันที่ 28-29 มิ.ย.จะมีการประชุมผู้นำอียู ซึ่งคาดหวังว่าคงจะมีความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพในยุโรป พร้อมให้แนวรับ 1,145 จุด แนวต้าน 1,160-1,170 จุด

ด้าน นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล. กล่าวว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปได้ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจของทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะภาคการส่งออกจะขยายตัวเพียงร้อยละ 7-8 ต่ำกว่าที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 15 ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 4-4.5 ซึ่งก็จะส่งผลต่อการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้เหลือเพียงร้อยละ 18 ของเม็ดเงินลงทุน จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 20 แต่ด้วยศักยภาพของบริษัทในตลาดหุ้นที่แข็งแกร่ง จึงเชื่อว่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนักและยังไม่เข้าขั้นวิกฤต
กำลังโหลดความคิดเห็น