xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนประกันภัยพิบัติเตรียมปรับบทบาทลง เปิดช่องให้เอกชนแข่งขัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดร.โกร่งชื่นชมผลงานกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติครบรอบ 1 ปี เผยบทบาทของกองทุนฯ อาจจะลดลงเพื่อเปิดช่องให้เอกชนแข่งขัน ด้านผู้บริหารกองทุนฯ โชว์ตัวเลขสูงถึง 979,625 ฉบับ

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวว่า การดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติที่ผ่านมาเป็นเวลา 1 ปีถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์จากภัยพิบัติได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งบทบาทของกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติอาจจะลดลง เพราะในอนาคตกองทุนฯ อาจจะต้องไปแข่งขันกับประกันภัยของเอกชน

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้น มองว่าการแก้ปัญหาในสหรัฐฯ อาจจะยังไม่ตรงจุด โดยการปล่อยมาตรการ QE หลายครั้งที่ผ่านมาส่งผลให้ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานยังไม่ลดลง ตัวเลข GDP ก็ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งการแก้ปัญหาของสหรัฐฯ นั้นอาจจะต้องจับตาดูเป็นราย Sector และต้องอาศัยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา ทางด้านมาตรการการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นก็คล้ายกัน ซึ่งตนก็ตอบไม่ได้ว่าการแก้ปัญหานี้ตรงจุดหรือไม่ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนอยู่นี้ก็ถือเป็นบททดสอบอีกทฤษฎีหนึ่งที่ยังต้องรอดูผลลัพธ์ ส่วนเศรษฐกิจของจีนนั้นก็ยังอยู่ในภาวะอ่อนแรง

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ณ วันที่ 28 มีนาคม 2555-7 พฤษภาคม 2556 มียอดจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติทั้งสิ้น 993,521 ฉบับ โดยมีกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 979,625 ฉบับ ซึ่งเป็นทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนกองทุนฯ ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 54,945 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยต่อตามสัดส่วนกองทุนฯ 464 ล้านบาท

โดยกลุ่มบ้านอยู่อาศัยมีการซื้อกรมกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติสูงสุดในสัดส่วนร้อยละ 92 ของกรมธรรม์ทั้งหมด หรือจำนวน 906,622 ฉบับ รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจ SMEs ร้อยละ 7 หรือจำนวน 68,013 ฉบับ และกลุ่มอุตสาหกรรมร้อยละ 1 ของกรมธรรม์ทั้งหมด หรือจำนวน 4,990 ฉบับ

นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยเป็นกลุ่มที่มีทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนสูงสุดคือสัดส่วนร้อยละ 58 คิดเป็นมูลค่า 32,078 ล้านบาท ถัดมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมในสัดส่วนร้อยละ 26 คิดเป็นมูลค่า 14,162 ล้านบาท และกลุ่ม SMEs สัดส่วนร้อยละ 16 มูลค่า 8,704 ล้านบาท ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ สูงสุดที่ร้อยละ 45 รองลงมาคือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยสัดส่วน 35 และกลุ่ม SMEs มีสัดส่วนร้อยละ 20 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเรียกร้องสินไหมทดแทน

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลังและกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ กล่าวว่า การที่เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นผลจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อนโยบายรัฐบาลและการดำเนินการของภาครัฐในการบริหารจัดการภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และโครงการบริหารจัดการน้ำและป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ

ทางด้านนายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ในช่วงการทำงานของกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ 1 ปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จและมีความรวดเร็วในการก่อตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย และธุรกิจประกันภัยมาโดยตลอด โดยระหว่างการก่อตั้งนั้นเราได้มีการทำงานเชิงรุก เก็บข้อมูล ศึกษาข้อมูลทั้งในอังกฤษ และญี่ปุ่นเพื่อออกแบบลักษณะกรมธรรม์ให้เหมาะสมกับเมืองไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น