xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นกองทุนดัง : เมื่อเงินเยนเริ่มร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยวนาลี ตรีสัมพันธ์
ทีมงานจัดการกองทุนบัวหลวง
บลจ.บัวหลวง

ในขณะที่เงินบาทของเราแข็งค่าขึ้นทำประวัติศาสตร์ใหม่ในรอบกว่า 16 ปี เงินเยนกลับทำสถิติอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับความหวังจากทั้งคนญี่ปุ่นและชาวโลกที่จะเห็นเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาผงาดอีกครั้งหลังจากถดถอยมานานกว่า 2 ทศวรรษ จากความได้เปรียบในการส่งออกเพราะค่าเงินเยนอ่อนลง

ญี่ปุ่น ทำอะไร?

ปลายปี 2555 เมื่อ ชินโสะ อาเบะ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น เขาได้ประกาศปฎิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อนำพาประเทศให้เดินหน้า โดยจะพิชิตเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% อันเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ เพราะญี่ปุ่นต้องจมอยู่ในภาวะเงินฝืดเฉลี่ย 0.2% ต่อปี ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) นำโดย ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ ได้สนองรับนโยบายเงินเฟ้อ 2% ภายใน 2 ปีของชินโสะ อาเบะ ทันที โดยประกาศว่าจะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Easing : QQE) ที่มุ่งลดอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรระยะยาว และส่งเสริมให้มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำด้วยการอัดฉีดเงินจำนวน 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเข้าสู่ระบบในระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้ฐานเงินขยายเป็น 2 เท่าจากสิ้นปี 2555 ที่เป็น 1.38 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

เงินอัดฉีดขนาดนี้ถือว่ามีจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับ QE ของอเมริกาที่อัดฉีดเงินไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา และจะส่งผลให้สัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ของ BOJ เมื่อเทียบกับ GDP แซงหน้าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรโซน

ญี่ปุ่นจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจสำเร็จหรือไม่?

การพลิกเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากภาวะเงินฝืดอันยาวนานให้กลับมาเป็นเงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากง่ายก็คงไม่ใช้นายกรัฐมนตรีเปลืองที่สุดในช่วง 16 ปีที่ประสบภาวะเงินฝืดอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่เพราะธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เพราะได้พยายามแก้ไขปัญหานี้มาตลอด โดยความพยายามก่อนหน้าครั้งล่าสุดนั้น BOJ ได้ประกาศเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ในปี 2553 แต่จะด้วยเหตุใดก็ตาม ปรากฏผลว่า BOJ ไม่เคยซื้อสินทรัพย์ได้จริงตามเป้าหมายที่วางไว้

แต่ครั้งนี้มันต่างกัน เพราะตลาดต่างพากันเชื่อว่าผู้ว่าการ BOJ คนใหม่จะเอาจริง ซึ่งหากเงินเฟ้อยังไม่เป็นไปตามคาดหวัง โดยยังไม่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นที่จะกระตุ้นการค้าการลงทุนและส่งผลให้คนญี่ปุ่นออกมาใช้จ่ายได้มากพอ เราก็น่าจะได้เห็นมาตรการผ่อนคลายทั้งทางการเงินและการคลังที่เป็นยาแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นระยะๆ ซึ่งตลาดมองว่าจะเป็นแรงกดดันที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงได้อีกในระยะยาว

ผลจากนโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ

หลังการประกาศมาตรการดังกล่าว เงินเยนก็อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจนทะลุระดับ 100 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปี ซึ่งหากนับตั้งแต่ต้นปี 2556 ก็อ่อนค่าลงมาแล้วกว่า 18%

แน่ล่ะ เงินเยนที่อ่อนค่าย่อมส่งผลบวกต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น อย่างเช่นขณะนี้ก็มีคนไทยจำนวนมากวางแผนไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นเพราะค่าใช้จ่ายเมื่อจ่ายเงินบาทมันน้อยลง แต่การอ่อนค่าลงของเงินเยนก็ส่งผลลบต่อประเทศคู่แข่งทางการค้าอย่างไม่ต้องสงสัย

ตัวอย่างภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ที่เป็นประเทศคู่แข่งทางการค้าที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักถึง 56% ของ GDP (ตามข้อมูลล่าสุดปี 2554 ของ World Bank) โดยเงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้นมาแล้ว 15% เมื่อเทียบกับเงินเยนในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา จนทำให้กระทรวงการคลังเกาหลีใต้ต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 ลงเป็นขยายตัว 2.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเป็น 3.0%

ผลกระทบต่อประเทศไทย

โดยรวมแล้วประเทศไทยน่าจะได้รับผลดีมากกว่าผลเสียจากการอ่อนค่าของเงินเยนรอบนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีหนี้สินเป็นสกุลเงินเยน และผู้นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักรหรือรถยนต์ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินเยนไปเต็มๆ เนื่องจากใช้เงินบาทน้อยลงเพื่อชำระหนี้

นอกจากนี้ ไทยอาจยังได้ประโยชน์จากการลงทุนทางตรง (FDI) จากประเทศญี่ปุ่นที่มีแผนขยายการผลิตในไทย โดยจะเข้ามาเร็วขึ้น เพราะหากบริษัทญี่ปุ่นยิ่งประวิงเวลา เงินเยนก็อาจด้อยค่าลงไปอีก ส่งผลให้ต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับ 2 ของโลก และยื่นขอส่งเสริมการลงทุน (BOI) มากที่สุดในไทย โดยในปี 2555 ญี่ปุ่นยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในไทยถึง 49,110 ล้านบาท หรือ 52% ของยอดที่ยื่นขอทั้งหมดจากทุกประเทศ

แต่เหรียญก็มีสองด้าน เพราะในขณะที่ผู้นำเข้ากับ FDI ได้ประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ก็คือบริษัทที่มีรายรับเป็นเงินเยน เช่น บริษัทที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น

แต่แทนที่จะรีรอให้คลัง กับ ธปท.ช่วยเหลือ ผู้ส่งออกควรเร่งช่วยตนเองโดยเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเผชิญกับการอ่อนค่าลงอีกของเงินเยนในอนาคต และควรทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนและการด้อยค่าของเงินเยนเอาไว้ด้วย

เพราะภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเงิน การค้า กับการลงทุนของโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว หากยังยึด Business Model แบบเดิมๆ ยังรีรอการโอบอุ้มจากภาครัฐไปเรื่อยๆ เราจะปรับตัวไม่ทัน และต้องเป็นผู้แพ้ไปในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น