xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์เปลี่ยนเรทติ้งส์บลจ.ไทยพาณิยชย์เป็น‘Highest Standards (tha)’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานข่าวจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับเปลี่ยนอันดับบริษัทจัดการกองทุนภายในประเทศ (National Asset Manager Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) เป็น ‘Highest Standards (tha)’ แนวโน้มอันดับบริษัทจัดการกองทุนมีเสถียรภาพ ภายใต้ Rating Scale ใหม่ จากอันดับเดิมที่ ‘M2+(tha)’ เนื่องจากฟิทช์ได้ปรับหลักเกณฑ์และ Rating Scale ในการจัดทำอันดับบริษัทจัดการกองทุน

โดยฟิทช์ได้ปรับหลักเกณฑ์ Rating Scale และคำจำกัดความของอันดับบริษัทจัดการกองทุนในการจัดทำอันดับบริษัทจัดการกองทุนโดยบริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับบน Scale ที่บ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารจัดการ ตามการประเมินของฟิทช์ในเรื่องการบริหารการลงทุนและการปฏิบัติการในการลงทุนของบริษัทจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับเป็น ‘Good Standards (tha)’ ‘High Standards (tha)’ และ ‘Highest Standards (tha)’ โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันทั่วโลกใช้ในการพิจารณาเลือกบริษัทจัดการกองทุน ส่วนในกรณีของอันดับบริษัทจัดการกองทุนภายในประเทศ จะเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณา

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับบริษัทจัดการกองทุน

อันดับบริษัทจัดการกองทุนของ SCBAM สะท้อนถึงการที่บริษัทมีชื่อเสียงที่ดีและเป็นที่รู้จักในธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย การมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูง รวมถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ‘AA(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ/‘F1+(tha)’) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดียวของบริษัท โดย SCBAM ได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกองทุนรวมภายใต้การจัดการของ SCBAM ส่วนใหญ่ได้ถูกขายผ่านทางสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการโอนสายงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง ด้านการกำกับและควบคุม และด้าน IT ไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีความพร้อมสูงทั้งทางด้านบุคลากรและทรัพยากรในสายงานดังกล่าว

อันดับบริษัทจัดการกองทุนยังพิจารณาถึงการที่บริษัทมีผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรทางด้านการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ แม้ว่ามีอายุงานกับบริษัทค่อนข้างสั้น รวมถึงอัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานในฝ่ายจัดการการลงทุนตราสารทุนที่ค่อนข้างสูง อันดับบริษัทจัดการกองทุนยังได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทมีระบบการกำกับและควบคุมที่แข็งแกร่ง กระบวนการลงทุนที่เป็นระบบ และประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติงานในส่วนของการปฏิบัติงานส่วนกลางและส่วนหลัง (middle to back office) ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT

ปัจจัยท้าทายหลักของ SCBAM คือความพยายามในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดและขนาดสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ(AuM) ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ความจำเป็นในการลดอัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานในสายการจัดการการลงทุนตราสารทุนและการปรับปรุงผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารทุน ปัจจัยท้าทายอื่นของบริษัทยังรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้าน IT ในส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน

อันดับบริษัทจัดการกองทุนที่ ‘Highest Standards (tha)’ ของ SCBAM มีพื้นฐานมาจากคะแนนของปัจจัยต่างๆ ในการจัดอันดับที่แสดงไว้ด้านล่าง

บริษัทและบุคลากร: High

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง: Highest

การบริหารจัดการการลงทุน: High

การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุน: Highest

ประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยี: Highest

บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับภายในประเทศในหมวด ‘Highest Standards (tha)’ แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน ที่ฟิทช์คิดว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน

บริษัทและบุคลากร

SCBAM ได้รับประโยชน์จากการที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว ซึ่งทางธนาคารได้ให้ความสำคัญต่อธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนและให้การสนับสนุนทั้งทางด้านการปฏิบัติงานและทางด้านการเงิน ถึงแม้ว่ากองทุนส่วนใหญ่ของ SCBAM จะเป็นกองทุนตราสารหนี้และกองทุนตราสารทุน บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยการเสนอขายกองทุนที่ลงทุนในตราสารมากกว่า 1 ประเภท (multi asset class) ซึ่งรวมถึงกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนผสมที่ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และกองทุนที่สะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่รับได้ของผู้ลงทุนแต่ละประเภท (risk target funds) นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นกลยุทธ์ customer centric โดยยึดเอาความต้องการของลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลางในการเสนอผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าสถาบันประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล ในด้านบุคลากร บริษัทมีอัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานในฝ่ายการจัดการการลงทุนตราสารทุนและฝ่ายปฏิบัติการกองทุนที่สูงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง

SCBAM มีกรอบนโยบายการบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีความพร้อมสูงทั้งทางด้านบุคลากรและประสบการณ์ ซึ่งกรอบนโยบายดังกล่าวสนับสนุนให้บริษัทสามารถทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของ SCBAM และฝ่ายบริหารความเสี่ยงของธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกันบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานและความเสี่ยงด้านการจัดการการลงทุน SCBAM มีการกำกับดูแลทั้งก่อนและหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน แม้ว่าในส่วนการกำกับดูแลก่อนการซื้อขายหลักทรัพย์ยังต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT ในบางขั้นตอน

การบริหารจัดการการลงทุน

กระบวนการจัดการการลงทุนของ SCBAM เป็นการผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์ภาพรวมในกำหนดกลยุทธ์ในการลงทุนแบบ top down กับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแบบ bottom up จัดทำโดยทีมวิเคราะห์ที่มีนักวิเคราะห์อยู่ 9 คน กระบวนการลงทุนในส่วนตราสารหนี้ค่อนข้างคงที่ในหลายปีที่ผ่านมาและมีผลงานที่ดีต่อเนื่องในปี 2555 นอกจากนี้แผนก asset allocation ยังมีผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงต้องปรับปรุงในส่วนของความต่อเนื่องในกระบวนการลงทุนส่วนตราสารทุน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพนักงานในส่วนของสายงานดังกล่าว รวมถึงการปรับปรุงผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารทุน เนื่องจากมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานของกองทุนได้ปรับตัวดีขึ้นในปี 2555 และไตรมาส 1 ปี 2556

การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุนและประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยี

บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลในรายงานที่เผยแพร่แก่ลูกค้า ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ภายใต้กฎข้อบังคับของธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทยและใกล้เคียงกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจัดการกองทุนอื่น SCBAM เพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารและการให้ข้อมูลแก่ลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อาทิ ระบบ on-line สำหรับลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภายในไตรมาสแรกของปี 2557 บริษัทจะทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนให้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้ข้อมูลการซื้อและขายหน่วยลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเชื่อมต่อโดยตรงไปยังข้อมูลสถานะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวและเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากการใส่ข้อมูลผิดพลาด บริษัทมีการทำการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกองทุนในเชิงลึก เช่น การแยกผลการดำเนินงานตามส่วนงาน การวัดตัวบ่งชี้ความเสี่ยง แต่ปัจจุบัน SCBAM ใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นการภายในเป็นส่วนใหญ่

ในด้าน IT บริษัทได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีทรัพยากรทางด้าน IT จำนวนมาก SCBAM ได้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT ในส่วนของการปฏิบัติงานส่วนกลางและส่วนหลัง ซึ่งช่วยรองรับการลงทุนในตราสารที่มีความซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น ในปี 2556 บริษัทมีแผนที่จะทำการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT ในส่วนของการปฏิบัติงานส่วนหน้า (front office) ซึ่งจะทำให้โครงการหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT เสร็จสมบูรณ์

SCBAM จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2535 และเป็นบริษัทจัดการกองทุนในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ สินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการของบริษัทมีมูลค่ารวม 666 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 SCBAM มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับที่ 2 ของธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการของบริษัทส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ในประเทศและครอบคลุมหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยประมาณร้อยละ 70 เป็นหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้และตราสารตลาดเงิน

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับบริษัทจัดการกองทุนในอนาคต

อันดับบริษัทจัดการกองทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับข้างต้นมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลง, อัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือ กระบวนการการลงทุนและนโยบายการบริหารจัดการที่แย่ลง ทั้งนี้การเบี่ยงเบนที่มีสาระสำคัญของปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับจากหลักเกณฑ์ของฟิทช์ อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับบริษัทจัดการกองทุนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น