xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายอัดฉีดเงินของประเทศญี่ปุ่น และผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยสโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินถึงแนวทางการใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ ผ่านมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตน ตัวอย่างเช่น มาตรการ Quantitative Easing (QE) ในสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2008 และสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการนี้ต่อเนื่องไปจนกว่าอัตราการว่างงานภายในประเทศจะลดลงสู่ระดับ 6.5% หรือในกรณีของประเทศญี่ปุ่น ที่พยายามดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจของตนหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อมานานหลายปี

โดยล่าสุดญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ พร้อมๆ กับความพยายามที่จะทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับ 2% ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทันทีที่ญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการดังกล่าว มีผลทำให้นักลงทุนทั่วไปเริ่มมีความวิตกกังวลถึงสงครามค่าเงินที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงความผันผวนของกระแสเงินลงทุนในระบบการเงินของโลกที่อาจก่อให้เกิดการไหลเข้า-ออกของกระแสเงินลงทุนอย่างผิดปกติ ซึ่งในวันนี้เราจะลองมาติดตามถึงประเด็นนี้กันค่ะ

ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่ตกอยู่ในภาวะเงินฝืดมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวมีผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้แล้วญี่ปุ่นยังขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง จากทิศทางของค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ พร้อมด้วยผู้ว่าการธนาคารการญี่ปุ่น (Bank of Japan : BoJ) นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ได้ตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศใหม่

โดยตั้งเป้าที่จะทำให้เงินเฟ้อของประเทศเพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับ 2% ภายในระยะเวลา 2 ปี ผ่านนโยบายการเงินอย่างที่ไม่เคยมีการนำมาใช้ในประเทศญี่ปุ่นมาก่อน โดยที่ (1) BoJ จะพิมพ์เงินเพื่อนำไปซื้อพันธบัตรในตลาด มูลค่า 7.5 ล้านล้านเยนต่อเดือน (หรือประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งถือเป็นขนาดที่ใกล้เคียงกับมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน) และ (2) BoJ จะเข้าซื้อกองทุนรวม ETF (Exchange Traded Fund) ในวงเงิน 1 ล้านล้านเยนต่อปี และกองทุน J-REITs (Japan Real Estate Investment Trusts) ในวงเงิน 30,000 ล้านเยนต่อปี และด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ BoJ จะอัดฉีดเข้าสู่ระบบ ทำให้ IMF ปรับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2013 เป็น 1.6% (จากคาดการณ์เดิมที่ 1.2%) และในปี 2014 เป็น 1.4% (จากเดิมที่คาดไว้ที่ 0.7%)

ทันทีที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ถูกประกาศใช้ ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงโดยทันที โดยล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยนของเงินเยนอยู่ที่ระดับ 100 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าลงประมาณ 27% เมื่อเทียบกับในช่วง 6 เดือนก่อน (ที่ระดับ 78 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) และถือเป็นระดับที่อ่อนที่สุดในรอบ 4 ปี

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาท อยู่ที่ระดับ 29.5 บาทต่อ 100 เยน หรืออ่อนค่าลงไปกว่า 32% เมื่อเทียบกับในช่วง 6 เดือนก่อน (39 บาทต่อ 100 เยน) การอ่อนค่าของเงินเยน จะช่วยทำให้ญี่ปุ่นเกิดความได้เปรียบทางการค้ากับต่างประเทศ โดยญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะส่งออกสินค้าได้มากขึ้น เนื่องจากสินค้าที่เป็นเงินเยนจะมีค่าถูกลงในสายตาคนต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินเยนยังส่งผลกระทบทำให้เงินของประเทศอื่นๆ แข็งค่าขึ้น เช่น จีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาคการส่งออกของประเทศเหล่านั้น สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิดความกังวลตามมาว่าอาจมีโอกาสที่จะเกิดสงครามค่าเงิน (Currency War) เนื่องจากประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินสกุลตนเอง มีแนวโน้มที่จะต้องหามาตรการเพื่อปกป้องและดูแลค่าเงินของตนมิให้อยู่ในระดับที่จะเกิดผลเสียต่อภาคการส่งออกของประเทศ

ในส่วนของประเทศไทย ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น โดยในช่วงที่ผ่านมาเราพบว่ามีกระแสเงินลงทุนไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยนักลงทุนต่างชาติทำการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือเกิน 1 ปี) รวมกันกว่า 98,000 ล้านบาท และมีผลทำให้ ณ สิ้นวันที่ 19 เม.ย. นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยรวม 861,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 22% เมื่อเทียบกับในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่ต่างชาติถือครองตราสารหนี้รวม 709,000 ล้านบาท โดยในจำนวนตราสารหนี้ที่ถือครองทั้งหมดนี้ แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) เพียง 23% ขณะที่อีก 77% เป็นการถือครองในตราสารหนี้ระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ยังคงคาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง ตามอัตราผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้ (Yield) ที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าสนใจ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีลักษณะพื้นฐานใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย รวมถึงภาครัฐบาลต่างก็มีการเตรียมความพร้อมของมาตรการ และเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดตลอดเวลาค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น