บลจ.บัวหลวง จำกัด
ทีมงานจัดการกองทุนบัวหลวง โดย เจฟ สุธีโสภณ
ตลาดหุ้นไทยได้มีการปรับฐานแบบเลือดอาบในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม หลังจากที่ขึ้นอย่างร้อนแรงแทบไม่มีการพัก โดยขึ้นจาก 1,280 จุด ในปลายเดือนพฤศจิกายนจนแตะ1,600 จุด ภายในเวลาสี่เดือน ก่อนที่จะรูดลงอย่างรุนแรง
การที่ตลาดหุ้นไทยขึ้นติดต่อกันมา 4 เดือน ทำให้หลายคนอาจลืมความรู้สึกของตลาดหุ้นขาลงไปแล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่งเปิดบัญชีตั้งแต่ปลายปี 2555 อาจยังไม่เคยสัมผัสกับการขาดทุนด้วยซ้ำ ซึ่งการปรับตัวลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นอาจจะมาจากต้นทุนเข้าซื้อที่ต่ำของแต่ละคน และราคาตลาดของหุ้นหลายตัวเมื่อเทียบมูลค่าของหุ้นที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐานก็แพงเกินไป จึงทำให้ผู้เล่นแต่ละคนกล้าที่จะทำกำไรในทุกระดับราคา นักลงทุนต่างชาติเองก็ไม่ลังเลในการทำกำไรเพราะได้ 2 เด้งจากกำไรหุ้นและค่าเงินบาท โดยอาจทำกำไรจากปัจจัยลบอย่างข่าวลือเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง เรื่อง margin call เรื่องเงินบาทที่แข็งค่าอันอาจนำมาซึ่งมาตรการควบคุมเงินไหลเข้าออกที่เข้มงวด บวกกับเรื่องภายนอกอย่างวิกฤติหนี้ Cyprus กับความกังวลเกี่ยวกับสงครามเกาหลี ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือ “เวลาตลาดลงไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล เพราะทุกอย่างนั้นขึ้นกับอารมณ์ของนักลงทุนล้วนๆ”
นักลงทุนหลายคนเริ่มกังวลว่ากระทิงไทยที่วิ่งมา 4 ปีเต็มจากดัชนี 400 จุด คงจะเริ่มชราภาพแล้ว และกังวลว่าตลาดหุ้นคงจะกำลังเข้าสู่สภาวะฟองสบู่ แต่กองทุนบัวหลวงมองว่า “ถึงแม้กระทิงไทยจะขาพลิกชั่วคราว แต่จะยังเดินหน้าต่อไปได้เพราะมีแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยที่ดีจากภาคเอกชนที่แข็งแกร่งและการลงทุนของภาครัฐ นอกจากนี้ การค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา พม่า ก็จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของประเทศในระยะยาวอีกด้วย”
ดังนั้น แม้ในช่วงนี้ต่างชาติจะขายหุ้นไทยออกไปมาก แต่ในระยะยาวตลาดไทยจะยังคงเป็นที่หมายปองของนักลงทุนต่างชาติอยู่ดี ซึ่งมีต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่สนใจหุ้นไทยแต่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุน ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมานี้ มีกองทุนต่างชาติ 2 กองที่ระดมทุนเพื่อเตรียมบุกตลาดหุ้นไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อว่า Daiwa Rising Thailand Stock Fund ซึ่งมีขนาดกองใหญ่กว่า 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีก่อน บลจ.บัวหลวง ก็ได้รับการติดต่อจากสถาบันต่างชาติที่สนใจมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่น้อยเลย
ถึงแม้เราจะมองเห็นสัญญาณฟองสบู่อย่างชัดเจนในหุ้นบางตัว แต่ในภาพรวมแล้วเราเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่มีฟองสบู่ เพราะ Valuation ของ SET Index ยังถูกสนับสนุนด้วย earnings growth ที่ดีของบริษัทจดทะเบียน โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน PE 2013 ของ SET อยู่ที่ 13.7 ซึ่งต่ำที่สุดใน ASEAN 5 ทั้งที่ earnings growth ของเราสูงสุดในกลุ่ม ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ valuation ของเรายังต่ำกว่าก็คือความเสี่ยงทางการเมืองของเรา ดังนั้นถ้าการเมืองเรานิ่ง SET ก็ควรที่จะเทรดไม่ต่ำกว่า valuation ของเพื่อนบ้าน
เรามองเห็นว่า “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะช่วยเพิ่มความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากตราสารหนี้เข้าสู่หุ้นเพิ่มอีก” มุมมองนี้ของเราไปสอดคล้องกับ Blackrock อันเป็นกองทุน ETF ซึ่งมีสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในโลก โดย Blackrock เห็นแนวโน้มการย้ายการลงทุนจากตราสารหนี้มาหุ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อโครงการ QE ของประเทศสหรัฐอเมริกาใกล้ถึงกำหนดในกลางปี 2015 เราจะเห็นการย้ายการลงทุนออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กับ พันธบัตร MBS ไปยังสินทรัพย์อื่นๆ เพราะถ้าหมดแรงซื้อของธนาคารกลางแล้ว ราคาของพันธบัตรเหล่านี้น่าจะลดลง
เมื่อมองในระยะยาว หนึ่งในสินทรัพย์ที่น่าสนใจและเป็นที่จับตามองของ Global Investor ก็คือหุ้นในตลาดเกิดใหม่ซึ่งย่อมรวมถึงหุ้นไทยด้วย ทั้งนี้ ขนาดและความสำคัญของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market หรือ EM) จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศที่แสวงหาภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโต ซึ่งก็เป็นเพราะ EM มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วและมีศักยภาพสูงกว่าที่อื่น ประกอบกับสัดส่วนการถือครองหุ้น EM ของนักลงทุนจากตลาดที่พัฒนาแล้ว (Developed Market หรือ DM) อย่างเช่น กองทุนรวม กองทุนบำเหน็จบำนาญ และบริษัทประกันภัย ก็ยังต่ำอยู่มาก จึงมีแนวโน้มสูงที่นักลงทุนจาก DM จะต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน EM อีกมาก จากปัจจุบันที่ลงทุนใน EM โดยรวมพียง 6% เท่านั้น
เรื่องนี้ Goldman Sachs วิเคราะห์และประมาณการเอาไว้ว่า “น้ำหนักการลงทุนใน EM ของ MSCI All Country Index จะเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปัจจุบัน ไปเป็น 19% ในปี 2020 และเป็น 31% ในปี 2030 จากมูลค่าตลาดที่ใหญ่ขึ้น” ซึ่งมีนัยยะว่า Passive Fund จะต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น EM อีกมากในอนาคต นอกจากนี้ อีก theme ที่ Goldman Sachs คาดว่าจะขับเคลื่อน EM ได้ก็คือ การที่คนในประเทศ EM เข้าใจและสนใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินที่ถูกทิ้งไว้ในบัญชี savings ไหลเข้าสู่ตลาดทุนไม่ว่าจะเป็นช่องทางกองทุนหุ้น หรือประกันชีวิต ดังนั้น ตลาดหุ้นจึงจะยังมีอนาคตที่สดใสในระยะยาว
ก่อนที่ดัชนีหุ้นไทยจะได้ปรับฐานในครั้งนี้ นักลงทุนหลายคนกล้าซื้อหุ้นเพียงแค่ได้ยินราคาเป้าหมายจากเพื่อนฝูง โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทนั้นประกอบธุรกิจอะไร หรือใครเป็นผู้บริหาร บางคนก็กระโดดเข้าใส่หุ้นที่มี PE valuation 50-100 เท่า โดยไม่ได้ศึกษาว่าราคาหุ้นขนาดนั้นแพงเกินความสามามารถในการทำกำไรไปไกลมากแค่ไหน บางคนดูเพียงกราฟโดยที่ไม่รู้และไม่สนใจจะดูปัจจัยพื้นฐาน หารู้ไม่ว่ากราฟนั้นสามารถถูกสร้างได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเปลวไฟสวยๆ ที่หลอกล่อแมงเม่าให้หลงเพลิน ดังนั้น การปรับฐานครั้งนี้จึงน่าจะเป็นสิ่งเตือนสติที่สำคัญสำหรับนักลงทุนให้กลับมาให้ความสนใจกับพื้นฐานของหุ้นเป็นหลัก เพราะถึงแม้ครั้งนี้ราคาหุ้นทุกตัวจะปรับลง แต่หุ้นที่พื้นฐานดีจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า ซึ่งเราขอแนะนำว่า “นอกจากจะต้องให้ความสำคัญกับพื้นฐานหุ้นแล้ว ผู้ลงทุนยังควรแสวงหาหุ้นที่มีมูลค่าสมเหตุสมผล และหลีกเลี่ยงหุ้นที่สะท้อนความคาดหวังของการเติบโตในอนาคตมากจนเกินไปอีกด้วย”
อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นนั้น อารมณ์ของผู้เล่นในตลาดและความเชื่อมั่นยังค่อนข้างเปราะบาง ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษา โดยก่อนหน้านี้ที่ตลาดสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็วก็เพราะดัชนีหุ้นไทยทำ new high ได้แบบไร้แนวต้าน แต่ ณ ขณะนี้ จากระดับดัชนี 1,600 จุดลงมา ล้วนแต่มีคนติดหุ้นอยู่ในทุกระดับราคา ดังนั้น การฟื้นตัวคงไปไม่เร็ว แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะปรับแนวคิด มุมมอง และวิธีการลงทุนให้เกิดผลดีต่อตนเองมากขึ้น