กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ มั่นใจอายุกองทุนอยู่เกิน 2 ปี แม้บริษัทรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศ หรือ รีอินชัวร์รันส์ กลับเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยปรับตัวลงในอัตราที่เหมาะสม พร้อมยินดีหากบริษัทประกันภัยรายใดให้เบี้ยประกันภัยน้อยกกว่าเรทของกองทุนฯ เชื่อผู้เอาประกันมีทางเลือกเพิ่มขึ้น
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหาร กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนฯในช่วง1 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ระยะเวลา 28 มีนาคม 2555 ถึง 21 มีนาคม 2556 มีกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติที่มียังมีความคุ้มครองอยู่ 808,119 ฉบับ ทุนประกันภัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ที่ 75,926 ล้านบาท โดยเป็นทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 52,123 ล้านบาทและเบี้ยประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุน 420 ล้านบาท
ทั้งนี้สถานการณ์ของระบบประกันภัยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีบริษัทรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศ หรือ Reinsurer กลับเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเบี้ยประกันภัยปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการรับประกันภัยกับกองทุนจำนวน 54 บริษัทนั้นมีความสามารถที่จะรับประกันภัย (Capacity) ไว้เองมากขึ้น โดยในปี 2555 สัดส่วนการประกันภัยพิบัติที่บริษัทประกันภัยรับไว้เองในกลุ่มบ้านอยู่อาศัยเฉลี่ยอยู่ที่ 34% ของทุนประกันทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 79% ในปี 2556
ส่วนกลุ่ม SMEs และอุตสหกรรมทุนประกันไม่เกิน 300 ล้านบาทในปี 2555 บริษัทประกันภัยรับความเสี่ยงไว้เองเฉลี่ย 8% แต่ในปี 2556 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 12% ส่วนกลุ่มอุตสหกรรมทุนประกันภัยเกิน 300 ล้านบาท บริษัทประกันภัยรับความเสี่ยงไว้เองในปี 2555 อยู่ที่ 7.6% และคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.1% และทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยต่อมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่บริษัทประกันภัยมากขึ้น ขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้เกิดภัยพิบัติทำให้บริษัทประกันภัยกล้ารับความเสี่ยงการประกันภัยพิบัติไว้เองมากขึ้น
ทางด้านนายประเวช องอาจสิทธิกุล กรรมการบริหาร กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ กล่าวว่า ความคืบหน้าการปรับเบี้ยประกันภัยพิบัติในกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยลงจาก 0.5% นั้นทางเราคงจะต้องมีการประชุมหารือกับทางสมาคมประกันวินาศภัยว่าจะออกมาในรูปแบบใด
ขณะเดียวกันเรามองว่าหากมีบริษัทประกันรายไหนทำเบี้ยประกันภัยได้ถูกกว่าของเราทางเราก็ยินดี แต่ถ้าหากว่าแพงกว่าเราก็ถือว่าเป็นทางเลือกให้ผู้เอาประกันได้ตัดสินใจ
"หน้าที่ของเราไม่ได้ขายแข่งกับเอกชน ซึ่งหากรายใดสามารถให้เบี้ยประกันภัยน้อยกว่ากองทุนก็สามารถทำได้เลย" นายประเวชกล่าว
สำหรับอายุของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัตินั้นเรามองว่า กองทุนฯน่าจะอยู่ต่อแม้ว่าบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศเริ่มเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น แต่การที่มีกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัตินั้นจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงประชาชน ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็มีกองทุนฯในลักษณะนี้และดำรงค์อยู่มาถึงปัจจุบันอีกด้วย
ด้านนายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ กล่าวว่า ต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ทาง คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เตรียมจัดให้มีการยื่นเอกสารเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาเสนอรายละเอียดการก่อสร้างและการจัดการ โดยมีข้อกำหนดทั้งการแก้ไขภัยแล้งและน้ำท่วม รวมถึงการจัดทำโครงการฟลัดเวย์ คาดว่าจะมีการเปิดให้บริษัทที่สนใจเข้าร่วมยื่นเอกสารในวันที่ 3 พฤษภาคม นี้