ประกันบุกเซเว่น ขายไมโครอินชัวรันส์กว่า 6,800 สาขาทั่วประเทศ คปภ.ตั้งเป้าสินปีมีกรมธรรม์เพิ่ม 3 แสนฉบับ ระบุจะเป็นช่องทางที่ตอบแทนสังคมและช่วยให้ชาวบ้านมีสวัสดิภาพชีวิตและป้องกันทรัพย์สินตนเองได้ดีขึ้น มั่นใจไม่มีปัญหาตามมา เหตุมีการกลั่นกรองอย่างดี และเป็นแบบประกันที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ความร่วมมือของภาคเอกชนในการเปิดขายไมโครอินชัวรันส์ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านสะดวกซื้อ (7-Eleven) ในครั้งนี้ เชื่อว่าผู้บริโภคจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด เพราะเจาะกลุ่มลูกค้าในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง ซึ่งนโยบายของทางภาครัฐเองได้สนับสนุนให้สังคมไทยไม่มีความเลื่อมล้ำเสมอภาคเท่าเทียมกันหมด
“การจำหน่ายไมโครอินชัวรันส์ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นมิติใหม่ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถซื้อประกันชีวิต และประกันภัย และถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่กระทรวงการคลังต้องการให้เกิดขึ้น และช่วยให้ประชาชนเมื่อเจ็บป่วยสามารถได้รับการคุ้มครองจากกรมธรรม์ที่ซื้อช่วยให้ไม่ต้องสูญเสียเงินออมที่มีอยู่ไป”
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า การเปิดตัว ไมโครอินชัวรันส์ ผ่านช่องทางการขายของเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่ส่วนใหญ่อยู่ในร้านสะดวกซื้อ หรือเซเว่นอีเลฟเว่น กว่า 6,800 สาขาทั่วประเทศ นั้นทำให้ประกันชีวิตและประกันวินาศภัยเข้าถึงประชาชน ได้ง่ายกว่าเดิม ซึ่งนับเป็นช่องทางการขายที่เหมาะสมกว่าช่องทางตัวแทนที่ไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ การอนุญาตขายไมโครอินชัวรันส์ผ่านร้านสะดวกซื้อได้มีการวางแผนและปรับปรุงหลักเกณฑ์มากว่า 1 ปี หลังจากพบว่าการขายประกันภัยแบบเอื้ออาทรไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องหาช่องทางใหม่เข้ามาทดแทน โดยเชื่อว่าช่องทางนี้จะสามารถเข้าถึงชาวบ้านได้ดีกว่า และสามารถลดต้นทุนในการดำเนินการหลายด้านด้วยกัน โดยในอนาคตเชื่อมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มช่องทางอื่นเข้ามาผลักดันให้ชาวบ้านเข้าถึงการประกันภัยมากขึ้นเช่น การขายผ่านเครื่อง ATM เป็นต้น
“บริษัทประกันคงไม่ได้กำไรอะไรจากตรงนี้ เพราะเบี้ยประกันถูกมากไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งความรวมมือกันตรงนี้เท่ากับเป็นการตอบแทนสังคม ซึ่งที่ผ่านมาถ้าจะให้ขายผ่านนายหน้ามันไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่มีใครขายกัน แต่ช่องทางนี้น่าจะดีกว่า ส่วนจะประสบความสำเร็จขนาดไหนคงต้องวัดกันที่จำนวนกรมธรรม์ ซึ่งเราเองเชื่อว่าน่าจะได้ถึง 3 แสนกรมธรรม์ และเชื่อว่าเมื่อชาวบ้านเริ่มเข้าสู่ระบบประกันแล้วในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง และชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีกรมธรรม์ที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นได้” นายประเวชกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความกังวลด้านความเข้าใจของชาวบ้านต่อกรมธรรม์นั้น นายประเวชกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคงจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากทาง คปภ.ได้มีการพิจารณาสินค้าที่จะนำเสนอขายอย่างดีแล้วว่าจะต้องไม่มีความซับซ้อน ซึ่งเงื่อนไขของกรมธรรม์ประเภทนี้จะประกอบด้วย 1. เบี้ยประกันในระดับต่ำไม่เกิน 1,000 บาท 2. คุ้มครองขั้นพื้นฐาน 3. เข้าใจง่าย 4. เงื่อไขไม่ซับซ้อน โดยจะเป็นกรอบที่เอาไว้พิจารณาก่อนที่จะอนุมัติและสามารถออกจำหน่ายได้
นอกจากนี้ ในอนาคต คปภ.จะผลักดันโครงสร้างไมโครอินชัวรันส์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว พม่า เพื่อให้โครงสร้างสวัสดิภาพและความมั่นคงของประชาชนในภูมิภาคอาเซียนดีขึ้น สิ่งนี้นับเป็นเป้าหมายต่อไปที่ คปภ.ต้องการผลักดัน โดยไทยจะเข้าไปช่วยพัฒนาให้อุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศเหล่านี้ไปในทิศทางเดียวกับไทย เนื่องจากในอนาคตเมื่อเปิดเออีซี จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน มีระบบโลจิสติกส์ มีการคมนาคม ซึ่งประกันจะเข้าไปมีบทบาทเพิ่ม
นายวีรเดช อัครผลพานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า เคาน์เตอร์เซอร์วิสเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่เปิดให้บริการจำหน่ายไมโครอินชัวรันส์ โดยร่วมมือกับบริษัทประกันชีวิตและประกันภัย จัดให้มีกรรมธรรม์ประเภทไมโครอินชัวรันส์มาให้บริการประชาชนผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่ให้บริการ 24 ชั่วโมงกว่า 6,800 แห่งทั่วประเทศ
“ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 เป็นต้นมา บริษัทฯ ได้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตและได้รับใบอนุญาตนายหน้าประกันวินาศภัย และนายหน้าประกันชีวิต เพื่อเป็นตัวแทนในการกระจายผลิตภัณฑ์ประกันภัยสู่ประชาชนทุกระดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภทไมโครอินชัวรันส์ที่มีเบี้ยประกันภัยไม่เกิน 1,000 บาทต่อปี ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขซึ่งทาง คปภ.ได้ระบุไว้ ทั้งนี้เชื่อว่าประชาชนเข้าถึงการประกันภัยมากยิ่งขึ้น”