สมาคม AIMC ตั้งเป้าปีมะเส็งกองทุนรวมโตเพิ่มอีก 10% หลังจากปีที่ผ่านมาโตถึง 25% หรือ 2.6 ล้านล้านบาท กองตราสารหนี้ยังฮอตมีมาร์เกตแชร์มากสุดถึง 60% หรือมูลค่า 1.57 ล้านล้านบาท มีกองทุนที่เปิดรวมทั้งสิ้น 712 กองทุน ขณะที่กองทุนทองคำ และน้ำมันโตน้อยหลังเจอภาวะผันผวน เผยกองอสังหาฯ ปีหน้าเริ่มใช้ กองทุน REIT ทดแทนกองทุนแบบเก่า
นายสถาปนะ เลี้ยวประไพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมากองทุนรวมมีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 25% หรือเอยูเอ็มโตเพิ่มขึ้น ณ เดือนธันวาคม 2555 อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้สมาคมฯ ได้ตั้งเป้าการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10%
ทั้งนี้ กองทุนตราสารหนี้มีการเติบโตอยู่ที่ 1.57 ล้านล้านบาท มีมาร์เกตแชร์ที่ 60% และมีกองทุนที่เปิดตลอดทั้งปีที่ 712 กองทุน, กองทุนหุ้นอยู่ที่ 5.69 แสนล้านบาท มาร์เกตแชร์ที่ 22% รวมกองทุนที่เปิดทั้งสิ้น 320 กองทุน, กองทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์อยู่ที่ 1.39 แสนล้านบาท มาร์เกตแชร์ที่ 5% รวมกองทุนที่เปิดทั้งสิ้น 41 กองทุน, กองทุนน้ำมันอยู่ที่ 8.8 พันล้านบาท มาร์เกตแชร์ที่ 1% รวมกองทุนที่เปิดทั้งสิ้น 10 กองทุน, กองทุนทองคำอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท มาร์เกตแชร์ที่ 2% รวมกองทุนที่เปิดทั้งสิ้น 45 กองทุน และกองทุนมิกซ์ฟันด์อยู่ที่ 8.68 หมื่นล้านบาท มาร์เกตแชร์ที่ 3% รวมกองทุนที่เปิดทั้งสิ้น 125 กองทุน
ส่วนกองทุนที่เปิดใหม่ ได้แก่ กองทุนฟิกซ์อินคัมอยู่ที่ 1.34 ล้านล้านบาท มาร์เกตแชร์อยู่ที่ 94% กองทุนที่เปิดทั้งสิ้น 704 กองทุน, กองทุนเอ็กซ์คลูตี้ฟันด์อยู่ที่ 1.66 หมื่นล้านบาท มาร์เกตแชร์อยู่ที่ 1% กองทุนที่เปิดทั้งสิ้น 57 กองทุน, กองทุนมิกซ์ฟันด์อยู่ที่ 3.28 หมื่นล้านบาท มาร์เกตแชร์อยู่ที่ 2% กองทุนที่เปิดทั้งสิ้น 6 กองทุน, กองทุนทองคำอยู่ที่ 2.56 พันล้านบาท มาร์เกตแชร์อยู่ที่ 0% กองทุนที่เปิดทั้งสิ้น 9 กองทุน และกองทุนน้ำมัน อยู่ที่ 9.6 ล้านบาท มาร์เกตแชร์อยู่ที่ 0% กองทุนที่เปิดทั้งสิ้น 2 กองทุน
นายสถาปนะ กล่าวต่อไปว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ที่ไอพีโอในช่วงปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.34 ล้านล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศจำนวน 465 กองทุน หรือมีมูลค่าที่ 7.76 แสนล้านบาท มาร์เกตแชร์อยู่ที่ 56% โดยให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.8-3.5% ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศมีจำนวน 239 กองทุน มีมูลค่ารวมกว่า 5.65 แสนล้านบาท มาร์เกตแชร์อยู่ที่ 42% ซึ่งให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 3.1-4% โดยส่วนใหญ่แล้วการเติบโตของกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศมาจากการลงทุนในช่วงปี 2554 ที่มีการลงทุนในประเทศเกาหลีด้วย และช่วงปีที่ผ่านมาได้มีการเข้าไปลงทุนในประเทศบราซิล เม็กซิโก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย จีน ฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ กาตาร์ และออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่กองทุนหุ้นที่ไอพีโอในช่วงปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นกองทุนประเภทเอ็กซ์คลูตี้ฟันด์ ซึ่งมีมูลค่า 1.66 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นในประเทศจำนวน 1.23 หมื่นล้านบาท จำนวน 37 กองทุน มีมาร์เกตแชร์ที่ 74% ส่วนกองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศจำนวน 4.31 พันล้านบาท จำนวน 20 กองทุน มีมาร์เกตแชร์ที่ 26% ซึ่งประเทศที่เข้าไปลงทุนส่วนใหญ่เป็นจีน อเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง ลักเซมเบิร์ก และไอร์แลนด์ เป็นต้น ส่วนกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ช่วงปีที่ผ่านมามีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท โดยมีกองทุนที่เปิดใหม่ 18 กองทุน ให้ผลตอบแทนที่ 7-10%
สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกองทุนที่เปิดใหม่รวมมูลค่า 3.28 หมื่นล้านบาท ซึ่งกองทุนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นกองทุนรวมเทสโก้โลตัส และในปีนี้ถือว่าเป็นปีสุดท้ายที่จะมีการใช้กฎการลงทุนแบบเดิม ซึ่งในปีหน้า ก.ล.ต.จะเริ่มให้ใช้กอง REIT เข้ามาแทนที่ ส่วนกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ในปีที่ผ่านมาถือว่ามีจำนวนน้อยมากอยู่ที่ 2.83 พันล้านบาท เนื่องจากว่าทองคำมีความผันผวนอยู่ ขณะที่กองทุน LTF มีการเติบโตอยู่ที่ 35% และกองทุน RMF อยู่ที่ 30% ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งสองกองทุนจะมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนสุดท้ายของปี
“กองทุน REIT ซึ่งเป็นกองทุนที่จะมาแทนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่กำลังจะปิดตัวไป โดยกอง REIT จะมีกองทรัสต์เข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างรายย่อยกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม”
นายสถาปนะ กล่าวต่อว่า กองทุนรวมในปีนี้จะมีการเติบโตน้อยกว่าปี 2555 ที่ผ่านมา เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการเติบโตของการลงทุนจากการลงทุนช่วงปลายปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วม จึงทำให้ปี 2555 นักลงทุนกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการบริหารจัดการกองทุนดีขึ้นทำให้นักลงทุนมีความสนใจเพิ่มมากขึ้น