xs
xsm
sm
md
lg

บริหารความเสี่ยงด้วยกองทุนรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์Design your life by Mutual Fund

โดยคมศร ประกอบผล, AFPTTM
Senior Wealth Manager
บลจ. ทิสโก้ จำกัด

High Risk, High Return คงเป็นวลีที่คุ้นหูของนักลงทุนทุกท่าน โดยมีความหมายว่า หากเราคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น เราก็ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าการแบกรับความเสี่ยงทุกประเภทจะช่วยให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นเสมอไป ความเสี่ยงบางประเภทสามารถกำจัดได้ด้วยการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม วันนี้ผมจึงขอเล่าให้ฟังถึงความเสี่ยงประเภทต่างๆ ในการลงทุน และเทคนิคการจัดการกับความเสี่ยงอย่างง่ายๆ ด้วยการกระจายการลงทุนผ่านกองทุนรวม

1.ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวความเสี่ยงจากการกระจุกตัวเกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ (หรือกลุ่มอุตสาหกรรม) ตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป จนทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของหลักทรัพย์หรืออุตสาหกรรมนั้น ตัวอย่างเช่น บริษัทที่เราลงทุนซื้อหุ้นไปเป็นจำนวนมากอาจะเกิดแพ้คดีฟ้องร้องซึ่งทำให้ต้องจ่ายค่าเสียหายก้อนใหญ่และทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างมาก ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวนี้ สามารถจัดการได้ด้วยการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ หลักทรัพย์และกลุ่มอุตสาหกรรม แต่สำหรับนักลงทุนที่เริ่มลงทุนโดยมีเงินไม่มาก การซื้อหุ้นหลายๆตัว ในตลาดหลักทรัพย์นั้นอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในการซื้อ-ขายขั้นต่ำ รวมถึงข้อจำกัดด้านเวลาของนักลงทุนในการติดตามผลการดำเนินงานของหุ้นหลายๆ ตัวในพอร์ต ดังนั้นการลงทุนในกองทุนรวมซึ่งมีการกระจายการลงทุนไปในหลักทรัพย์ที่หลากหลาย จึงเป็นทางเลือกที่สะดวกและมีประสิทธิภาพกว่า สำหรับนักลงทุนที่มีข้อจำกัดด้านจำนวนเงินและเวลาดังที่กล่าวมา

2.ความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อราคาของสินทรัพย์ประเภทนั้นๆ ตัวอย่างเช่น การประกาศลดดอกเบี้ยของแบงค์ชาติ ซึ่งส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ในตลาดปรับตัวขึ้น หรือการหดตัวของเศรษฐกิจที่อาจส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตลาดนี้ สามารถจัดการได้ด้วยการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ ประเทศหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยจำกัดผลขาดทุนของพอร์ตการลงทุนรวม และลดความผันผวนของผลตอบแทนในระยะยาว โดยนักลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงด้วยการจัดสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย อาจเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 70-80% ของพอร์ตการลงทุน และลงทุนในกองทุนความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนหุ้น ในสัดส่วน 20-30% หรือนักลงทุนอาจเลือกลงทุนในกองทุนผสมแบบจำกัดสัดส่วนหุ้น เป็นต้น

3.ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหลายคนอาจเข้าใจว่าความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีการลงทุนในต่างประเทศเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน การที่เราลงทุน 100% ในประเทศ ก็มีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในประเทศที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง (เช่น การประการลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540) แม้เราจะลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ (เช่น เงินฝากธนาคาร หรือกองทุนพันธบัตรระยะสั้น) ที่ไม่ได้รับผลขาดทุนในรูปสกุลเงินบาท แต่ความมั่งคั่งโดยรวมของเราจะลดลง เนื่องจากเงินบาทจำนวนเท่าเดิม จะสามารถซื้อสินค้าที่จำเป็น เช่น น้ำมัน เหล็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้น้อยลง ความเสี่ยงประเภทนี้ สามารถบริหารได้ด้วยการกระจายการลงทุนไปในกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่ไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เช่น กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ เป็นต้น โดยในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง กองทุนในต่างประเทศจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนชดเชยการด้อยค่าเงินบาท

4.ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อคือความเสี่ยงที่ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนอาจต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลห้เงินลงทุนเติบโตไม่ทันกับราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และทำให้อำนาจซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง เราสามารถบริหารความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ด้วยการ ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อได้ดี (ราคาสินทรัพย์ปรับตัวขึ้น เมื่อเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง) จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนชดเชยกับเงินเฟ้อได้ดี นอกจากนั้นการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน โลหะอุตสาหกรรม หรือสินค้าเกษตร ที่เป็นต้นทุนหลักของราคาสินค้าในอนาคตก็ยังสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นการกระจายการลงทุนไปในกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์จึงสามารถช่วยบริหารความเสี่ยงจากเงินเฟ้อในอนาคตได้

ตราบเท่าที่เรายังไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้ ความเสี่ยงก็จะยังอยู่คู่กับการลงทุนเสมอ ผมจึงอยากให้นักลงทุนทุกท่าน หันมาให้ความสำคัญกับความเสี่ยงและจัดการกับความเสี่ยงนั้นด้วยการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมเสียก่อนที่จะสายเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น