ก่อนอื่นต้องขอสวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ปีที่ผ่านมานักลงทุนหลายคนคงจะยิ้มกันอย่างมีความสุข โดยเฉพาะนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ต้องขอบอกันก่อนว่าการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงพ่วงตามมาเสมอ การที่จะลงทุนอะไรก็ตามอย่าลืมประเมินความเสี่ยงของตัวเองกันด้วย กลับมาที่แวดงวงกองทุนรวม ปีที่ผ่านมาก็ถือว่ามีสีสันกันพอสมควร จะขอเริ่มกันที่เทรนด์กองทุนที่มาแรงของปี 2555กันก่อนเลย
ปีทองของกองทุนทาร์เกตฟันด์
เรียกได้ว่าออกมากี่ซีรีส์ก็ขายหมดทุกกอง แม้ว่าระยะเวลา และผลตอบแทนที่ได้รับแตกต่างกันไปก็ตาม ซึ่งหลาย บลจ.ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจัยที่ทำให้กองทุนดังกล่าวขายดีเป็นเทน้ำเทท่านั้นก็คือผลตอบแทนและระยะเวลาการลงทุนที่แน่นอน เช่นลงทุน 10 เดือน ตั้งเป้าผลตอบแทน 10% ปิดกองทันที ขณะเดียวกันการจับจังหวะขายกองทุนทาร์เกตฟันด์ก็สำคัญ ซึ่งต้องมีการคาดการณ์แล้วว่าในระยะถัดจากการขายกองทุนดังกล่าวตลาดหุ้นจะอยู่ในช่วงขาขึ้น และในช่วง 6 เดือนหลังของปีที่ผ่านมากองทุนทาร์เกตฟันด์ต่างพาเหรดกันเข้าเป้าหมายผลตอบแทนที่วางไว้กันแทบทุกเดือน
อย่างไรก็ตาม ก็มีทาร์เกตฟันด์บางกองทุนบริหารจัดการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ตรงนี้เองเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะมาจากการคาดการณ์ตลาดหุ้นผิดพลาด หรือมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นแบบกะทันหันนันเอง
เทอมฟันด์ก็ยังขายได้ทุกสัปดาห์
เรียกได้ว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ประเภทเทอมฟันด์นั้นยังเป็นกองทุนพระเอกของเหล่า บลจ.ทั้งหลาย ไม่ว่าจะ บลจ.ไซส์เล็กหรือใหญ่ก็ต้องมีกองทุนประเภทนี้ขายไอพีโอ และขายโรลโอเวอร์กันแทบทุกสัปดาห์ ซึ่งแน่นอนว่าบรรดา บลจ.ที่มี AUM อยู่ใน 5 อันดับแรกนั้น ส่วนใหญ่จะมีกองทุนเทอมฟันด์ขายไอพีโอ รวมถึงโรลโอเวอร์กันทุกสัปดาห์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-3 กองทุน
กองทุนรวมอสังหาฯ ระดมทุนเพียบ
จะเห็นได้ว่าปีนี้มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์พากันเปิดขายไอพีโอมากมาย ขณะที่กองทุนอสังหาฯ ที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่เเล้วก็พากันเพิ่มทุนกันมากมาย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมาจากจะมีการใช้กองทรัสต์แทนกองทุนอสังหาฯ นั่นเอง
กองทุน RMF มีหลากหลายสินทรัพย์ให้ลงทุน
การลงทุนในกองทุน RMF เป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งจะต้องมีการจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ โดยกองทุน RMF ที่หลาย บลจ.พากันเปิดขายนั้นก็คือ RMF ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ขณะที่กองทุนทาร์เกตฟันด์ก็ถูกนำมาใช้ในการลงทุน RMF ด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนด้วยเช่นกัน
อุตสาหกรรมกองทุนรวมเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกองทุนรวมมีการเติบโตจากสิ้นปี 2554 อยู่ที่ 2.55 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 25% โดยเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ 56% มีจำนวนกองทุนหุ้นออกใหม่จำนวน 5 พันล้านบาท กองทุนผสมออกใหม่ 30 กองทุน จำนวน 11,500 ล้านบาท กองทุนทองคำจำนวน 24 ล้านบาท กองทุนน้ำมันออกใหม่ 1 กองทุนจำนวน 20 ล้านบาท โดยรวมแล้วในปีนี้มีกองทุนรวมที่ระดมทุนทั้งสิ้นจำนวน 390 กองทุน จำนวนทั้งสิ้น 614,000 ล้านบาท
สำหรับบัญชีกองทุนรวมสิ้นปีที่ผ่านมามีจำนวนบัญชีอยู่ที่ 2.9 ล้านบัญชี เป็น 3.3 ล้านบัญชีในปี 2555 เพิ่มขึ้น 13% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2.48 ล้านบัญชี กองทุนส่วนบุคคล 1,687 ล้านบัญชี ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนบัญชีเงินฝากที่มีอยู่ที่ 70 ล้านบัญชี จะเห็นได้ว่ายังมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุนในกองทุนรวม โดยมูลค่ากองทุนรวมเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศคิดเป็น 20% เท่านั้น เมื่อเทียบกับในต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ จำนวนผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมมีจำนวนมาก
มาต่อกันที่เทรนด์ใหม่ในปี 2556คงจะต้องจับตามองกันพอสมควรว่าจะมีกองทุนประเภทใหม่ๆ และแตกต่างจากกองทุนที่มีอยู่ในตลาดหรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือหากมีกองทุนประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่นักลงทุนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน เสาะหาแต่ผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับการฝากเงิน ก็อาจจะส่งผลให้กองทุนใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างไม่เกิดขึ้นแน่นอน ก็คงต้องลุ้นกันว่าโจทย์หรือสมการนี้จะถูกแก้ได้อย่างไรนั่นเอง
ปีนี้จะได้เห็นกองทุนอินฟราฯ IPO ครั้งแรก
ปีที่ผ่านมาก็พูดกันมาสมควรสำหรับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ และในปีนี้น่าจะมีการระดมทุนประมาณ 1-3 กองทุน ซึ่งคาดการณ์กันว่ากองทุนแรกที่จะประเดิมครั้งแรกในประเทศไทยนั้นก็คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอส โกรท (BTS Rail Mass Transit Growth Infrastructure Fund - BTSGIF) ซึ่งมี บลจ.บัวหลวง เป็นผู้จัดการกองทุน และมี บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในประเทศ บริษัท Morgan Stanley & Co. International Plc. บริษัท UBS AG, Singapore Branch และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็น joint international financial advisors, joint global-coordinators และ joint bookrunners ของการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
โดยกองทุน BTSGIF จะลงทุนในรายได้ค่าโดยสารสุทธิในอนาคตที่จะได้รับจากการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าสายหมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ เป็นระยะทาง 23.5 กิโลเมตร พร้อมนำเงินระดมทุนส่วนหนึ่งไปขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีชมพูนั่นเอง ซึ่งตอนนี้กำลังยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต.อยู่
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้เครือธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมกับกลุ่มบริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเอสพีซีจี เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) มูลค่ากองทุนรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มเชิงพาณิชย์ของเอสพีซีจี จำนวนไม่เกิน 7 โครงการ ซึ่งคงต้องรอดูความคืบหน้าในปีนี้เช่นกันว่าจะมีการระดมทุนได้ช่วงใด
นอกเหนือจาก บลจ.ที่กล่าวมาแล้ว แว่วๆ มาว่า บลจ.กรุงไทย และ บลจ.เอ็มเอฟซี ก็กำลังอยู่ในช่วงดำเนินงาน และอาจจะมีการจัดตั้งกองทุน Infrastructure Fund ด้วยเช่นกัน
ทางด้าน ก.ล.ต.ก็กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะมีการเพิ่มให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานอีกประมาณ 2 ประเภท คือ 1. ระบบท่อส่ง เช่น ท่อส่งแก๊ส ท่อส่งน้ำมัน 2. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ห้องแล็บ จากปัจจุบันที่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานได้ 10 ประเภท คือ ระบบขนส่งทางราง ประปา ไฟฟ้า ถนน ท่าอากาศยาน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม พลังงานทางเลือก ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าทาง ก.ล.ต.จะมีการออกประกาศได้เมื่อใด เพราะจะต้องศึกษาให้รอบคอบ และสอบถามความสนใจของนักลงทุนก่อนว่า นักลงทุนให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนหรือไม่
การแข่งขันทางด้านผลงานมากกว่าโปรโมชัน
ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก.ล.ต.มีการเปิดฟังแนวคิดเรื่องการโฆษณา และการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโฆษณากองทุนรวม โดยการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุกประเภท เนื้อหา และรูปแบบของโฆษณาจะต้องมีความเหมาะสม มีข้อมูลที่จำเป็น ครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ ไม่ชี้นำ หรือประกันผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน และมีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนเพื่อให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงนั้นด้วย
สำหรับการส่งเสริมการขายนั้นจะต้องไม่จูงใจ หรือเร่งรัดให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนโดยไม่ได้คำนึงถึงข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับของสมนาคุณอย่างชัดเจน และไม่มีการจับฉลากชิงโชคเพื่อสุ่มหาผู้ที่ได้รับของสมนาคุณ ทั้งนี้ ในการโฆษณากองทุนรวม จะต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาจากกองทุนรวม ยกเว้นเป็นการโฆษณาที่ทำให้กองทุนรวม และผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และห้ามคิดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนจากกองทุนรวม
คาดการณ์กันว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะมีการประกาศใช้ในปีนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในเรื่องนี้เองหลาย บลจ.เริ่มหันมาให้ความสำคัญด้านการให้ความรู้การลงทุน และแข่งขันด้านผลการดำเนินงานของกองทุนมากขึ้น ก็คงต้องตามดูกันว่าปีนี้จะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์นักลงทุนกันอีกหรือไม่