xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.บัวหลวงแนะนักลงทุน “LTF- RMF มากกว่าลดหย่อนภาษี คือการลงทุน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วศิน วัฒนวรกิจกุล” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด หรือกองทุนบัวหลวง กล่าวว่า นักลงทุนปัจจุบันเข้าใจมากขึ้นแล้วว่ากองทุน LTF หรือกองทุน RMF จริงแล้วคือการลงทุน ซึ่งหมายถึง การแค่คำนึงว่าเป็นการลดหย่อนภาษี หรือจะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนที่ให้ของแถมมากสุด คำว่า “การลงทุน” นั้นหมายความว่า นักลงทุนต้องรู้ว่าจุดประสงค์ของการลงทุนใน RMF คืออะไร และการลงทุนใน LTF คืออะไร เพราะลักษณะการลงทุนรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกัน และเมื่อนักลงทุนเข้าใจจุดนี้แล้ว จึงก้าวไปสู่ขั้นตอนที่ว่ากองทุน RMF หรือ LTF ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใดที่บริหารให้ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ มีแนวคิดการลงทุนที่ชัดเจน

วศิน กล่าวต่อว่า RMF ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ ดังนั้นทำให้เงื่อนไขเบื้องต้นกำหนดให้มีการลงทุนทุกปีและสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ หรือถ้าอายุเกินเกณฑ์ที่กำหนดแล้วต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี ดังนั้นทำให้ RMF มีกองทุนหลายประเภท เช่น กองทุนตราสารทุน หรือกองทุนตราสารหนี้ เพื่อสนองตอบต่อความสามารถในการรับความเสี่ยงจากการลงทุนของแต่ละคน

ขณะที่ LTF เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ถึงแม้จะมีเงื่อนไขจูงใจให้เข้าลงทุนมากว่ากองทุน RMF ที่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้หลังจากลงทุนใน 5 ปีปฏิทิน และไม่ได้บังคับว่าต้องลงทุนทุกปี ซึ่งจูงใจนักลงทุนแต่นักลงทุนต้องสามารถรับความผันผวนของราคาหน่วยลงทุนได้ ดังนั้นเมื่อนักลงทุนเข้าใจความเสี่ยงจากการลงทุนแล้วก็จะรู้ตัวเองว่าเงินที่จะเข้ามาลงทุนมีจุดประสงค์เพื่อเกษียณหรือไม่ ถ้าใช่ RMF ก็เป็นกองทุนที่เหมาะสม โดยสามารถลงทุนได้ตามความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุน เช่น กองทุนรวมตราสารเงินเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุนตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นต้น หรือถ้าเงินลงทุนนั้นๆ ไม่สามารถลงทุนระยะยาวได้ แต่สามารถรับความผันผวนได้ กองทุน LTF ก็เป็นทางเลือกที่ดี

เมื่อทราบแล้วว่าต้องการลงทุนแบบใด ก็มาดูว่าบริษัทจัดการกองทุนใดสามารถบริหารกองทุนเพื่อสามารถเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอ และมีแนวทางการบริหารที่ชัดเจน ที่กองทุนบัวหลวงเรามีแนวทางการบริหารที่ชัดเจนโดยยึดปรัชญาการลงทุน Good Stocks + Good Trade = Good Performance โดยเชื่อว่าการคัดสรรหุ้นปัจจัยพื้่นฐานดีมีความสามารถในการทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ ธุรกิจมีโอกาสเติบโต ในขณะที่เลือกจังหวะการลงทุนโดยมองโอกาสของการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นขึ้นไปสู่ระดับที่เหมาะสม ทำนองเดียวกันกับการคัดเลือกตราสารหนี้เพื่อลงทุน ต้องเป็นตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ และมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้มากกว่าการเลือกตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ เพียงอย่างเดียว ด้วยหลักการลงทุนดังกล่าวทำให้กองทุนบัวหลวงมีผลงานที่พิสูจน์ได้ในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนกองทุน RMF-LTF ที่โดดเด่นที่อยากแนะนำ กองทุนหุ้นเป็น LTF สองกองทุน คือ บัวหลวงหุ้นระยะยาว เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และคาดหวังผลตอบแทนจากลงทุนในหุ้นไปพร้อมๆ กับยอมรับความผันผวนจากลงทุนในหุ้นได้ และ บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 เหมาะกับการลงทุนที่ต้องการสิทธิประโยชน์ด้านภาษี แต่ไม่ได้เน้นเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนมากเหมือนกองทุนหุ้นทั่วไป จึงมีความเสี่ยงต่ำกว่ากองบัวหลวงหุ้นระยะยาว เพราะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่ำกว่า คือประมาณ 65-75% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ สำหรับ RMF ที่ลงทุนในหุ้น 4 กองทุน มีข้อแตกต่างและมีความเสี่ยงตามสัดส่วนที่ไปลงทุนเพื่อให้ผู้ลงทุนเลือกกองทุนที่เหมาะสมและรับความเสี่ยงได้

กลับมาที่คำถามยอดฮิตว่า “ลงทุนเมื่อไหร่ดี” วศินกล่าวว่า ไม่มีใครบอกได้ครับว่าช่วงนี้เป็นจังหวะดีที่สุดของการลงทุน เพราะไม่มีใครรู้ แต่มีอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนไม่ต้องเครียดกับการลงทุน ได้แก่ “การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย” จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจับจังหวะลงทุน และไม่ต้องคอยพะวงว่าตลาดในอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าช่วงใดตลาดปรับตัวลดลงเราจะได้จำนวนหน่วยลงทุนที่มาก และถ้าช่วงไหนราคาสูงขึ้นเราจะได้จำนวนหน่วยลงทุนน้อยลง วิธีการนี้จะทำให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยในระยะยาวต่ำกว่าต้นทุนของทั้งตลาด

สำหรับบริการซื้อหน่วยลงทุนแบบถัวเฉลี่ย ธนาคารกรุงเทพมีบริการหักเงินจากบัญชีเงินฝาก/บัตรเครดิตในทุกๆ เดือนเพื่อลงทุนใน LTF/RMF ได้ทุกวันตามที่ลูกค้าต้องการ อีกทั้งสามารถเลือกวันที่ลงทุนได้โดยไม่จำกัดเฉพาะสิ้นเดือนหรือเฉพาะต้นเดือนเท่านั้น

“ผู้ลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจว่าทั้งสองกองทุนนี้เป็นกองทุนเพื่ออะไร เงื่อนไขเป็นอย่างไร เพื่อให้การลงทุนบรรลุตามวัตถุประสงค์ อย่าง RMF เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อเก็บออมไว้ใช้ในวัยเกษียณ ส่วน LTF เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นระยะยาว โดยจะต้องยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดทุน”

สำหรับกองทุน RMF ของ บลจ. ประกอบไปด้วย MM-RMF บัวหลวงมันนี่มาร์เก็ตเพื่อการเลี้ยงชีพ, BFRMF บัวหลวงตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ, B25RMF บัวหลวงหุ้น 25%, BERMF บัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ, IN-RMF บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ, BGOLDRMF บัวหลวงโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ และ LTF 2 กอง ได้แก่ B- LTF บัวหลวงหุ้นระยะยาว และ BLTF 75 บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25
วศิน วัฒนวรกิจกุล

กำลังโหลดความคิดเห็น