xs
xsm
sm
md
lg

คาดมัดประกัน-กองภาษี หักลดหย่อนวงเงินเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บิ๊ก บลจ.มั่นใจคลังไม่เลิกลดหย่อนภาษีกองทุนรวม แต่อาจปรับเกณฑ์จับมัดกอง LTF-RMF และประกันชีวิตลดหย่อนภาษีวงเงินเดียวกัน 7 แสนบาทแทน ยอมรับเจาะตลาดยากกว่าธุรกิจประกัน แต่เชื่อคนที่เคยลงทุนแล้วจะเข้าใจความสำคัญแน่นอน พร้อมเล็งส่งเสริมเต็มที่ หวังปี 59 คนไทยเข้าใจการลงทุนระยะยาวมากขึ้น

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟินันซ่า จำกัด กล่าวว่า จากการที่กระทรวงการคลังจะทบทวนสิทธิการลดหย่อนภาษีกองทุน LTF-RMF นั้น ทางกระทรวงการคลังจะมีการต่ออายุไปอย่างแน่นอน เพราะกองทุน LTF และ RMF เป็นการส่งเสริมการออม หากยกเลิกจะส่งผลต่อเม็ดเงินที่จะไปลงทุนในตลาดหุ้นอย่างแน่นอน แต่มองว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องมาตรการการลดหย่อนภาษีในรายการต่างๆ เช่น ประกัน หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อกระตุ้นระบบการออมเงินของคนให้มากขึ้น

โดยรูปแบบที่พูดถึงกันแต่ยังไม่ได้สรุป คืออาจจะให้มีการรวมกลุ่มการลงทุนที่ลดหย่อนภาษีให้เพดานลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 700,000 บาท ซึ่งให้สัดส่วนเพดานการลดหย่อนภาษีของแต่ละธุรกิจไปตามความความสามารถในการกระตุ้นการออมกับประชาชน

อย่างไรก็ตาม มองว่าแต่ละธุรกิจยังมีความแตกต่างกัน เช่น เรื่องค่าฟี หรือการหาลูกค้า แต่เชื่อว่ากองทุนรวมยังมีความสำคัญต่อการออมของคนในประเทศ รวมไปถึงเม็ดเงินในการลงทุนในตลาดหุ้นและการระดมทุน ซึ่งทาง บลจ.ทำงานกันอย่างเต็มที่ในเรื่องการกระตุ้นให้คนออมเงินและการลงทุนเพื่อใช้ในยามเกษียณอายุ

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง กล่าวว่า ข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อการผลักดันกองทุน LTF และ RMF นั้น ส่วนตัวแล้วมองว่าอุตสาหกรรมควรนำไปพิจารณาว่าจริงหรือไม่ แต่ถ้ามองลึกลงไปธุรกิจประกันมีบุคลากรจำนวนมาก และมีสินค้าประกันเป็นหลัก การเจาะตลาดจึงทำได้ง่ายกว่า

นอกจานี้ โครงสร้างเอื้อให้จ่ายผลตอบแทนผู้ขายโดยขึ้นกับจำนวนที่ขายได้ ต่างจากผู้ขายในส่วนของธนาคารซึ่งมีสินค้าขายจำนวนมากมายหลายด้าน การเจาะตลาดผ่านธนาคารโดยให้เน้นกองทุนจึงอาจจะยากกว่าบ้าง

ส่วนกองทุน RMF เป็นกองทุนที่รัฐให้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องลงทุนทุกปีเพื่ออนาคตในยามเกษียณของผู้ลงทุน การให้ลดหย่อนภาษีได้ก็เพราะแนวคิดที่ว่าหากคนจำนวนหนึ่งสามารถออมเพื่อตนเองจนมีเพียงพอในยามเกษียณก็จะช่วยลดภาระของรัฐในการต้องใช้งบประมาณจำนวนหนึ่งมาดูแลเขาถึงให้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งตรงนี้มองว่าไม่ควรเอามาปนกันกับเรื่อง LTF เพราะมันเกิดมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

“สุดท้ายคือ เรื่องที่ธุรกิจประกันมาเบียดเรื่องภาษีของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปได้โดยให้คิดเป็นเม็ดเงินลดหย่อนภาษีรวมได้นั้น มองว่าเป็นวิจารณญาณของสรรพากรและคลังจึงไม่มีความเห็นใด แต่ไม่ได้มองว่าเป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกองทุนแต่ประการใด เพราะหากเราเจาะตลาดไม่ได้ดีเท่าประกันชีวิตประชาชนก็ยังได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีผ่านการทำประกันชีวิต ส่วนคนที่ลงทุนในกองทุนแล้วเชื่อว่าน้อยรายจะไม่ลงทุนต่อ”

นางวรวรรณกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม บลจ.ยังมีเวลาอีก 4 ปีกว่าจะถึงปี 2559 อย่าไปมองว่ามันจะเป็น LTF Cliff เหมือนเป็น Fiscal Cliff และควรเน้นการทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจประโยชน์ของการลงทุนยาวๆ ในหุ้น ไม่ควรเน้นการไปขอให้รัฐช่วยเรื่องภาษีแต่เพียงอย่างเดียว เพราะหากไม่มีภาษีช่วยแล้วผู้ลงทุนจะไม่ลงทุนในกองทุนหุ้นอีกต่อไป มันก็แปลว่าการที่รัฐเอาภาษีมาช่วยนั้นเป็นการเสียเปล่า

นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมากองทุน LTF-RMF ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี ต้องยอมรับว่าได้สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในกองทุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้สร้างเสถียรภาพที่ดีให้ตลาดหุ้นไทยด้วย โดยก่อนหน้านี้หลาย บลจ.เข้าใจว่านโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะหมดอายุในปี 2559 ซึ่งหากกระทรวงการคลังอนุมัติโครงการต่อก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากไม่ได้รับการอนุมัติก็อาจจะส่งผลกระทบทำให้เม็ดเงินลงทุนใหม่จากนักลงทุนใหม่ๆ เข้ามาลงทุนน้อยลง

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้าใจการลงทุนและนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุน LTF-RMF นั้นได้เห็นประโยชน์จากการลงทุนระยะยาว ซึ่งกองทุนรวมหุ้นระยะยาวส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนที่ดี ส่งผลให้กองทุน LTF และกองทุนหุ้นอื่นๆ ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันกองทุน LTF มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับกองทุนหุ้น

“เรามองว่าน่าเสียดายมากถ้าหากโครงการสิทธิทางภาษีของกองทุน LTF-RMF ไม่ได้รับการต่ออายุ อาจจะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ เข้ามาลงทุนน้อยลง จริงๆ แล้วเม็ดเงินจากกองทุนนั้นสร้างความเสถียรภาพที่ดีให้ตลาดหุ้นไทยด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น