xs
xsm
sm
md
lg

โค้งสุดท้าย LTF RMF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


Wealth Manager Talk

คมศร ประกอบผล, AFPTTM
Wealth Manager
บลจ. ทิสโก้ จำกัด

โดยปกติยอดซื้อ LTF/RMF จะเพิ่มขึ้นทุกปี จากฐานรายได้ของผู้ลงทุนที่สูงขึ้น บวกกับจำนวนผู้ที่เข้ามาลงทุนใน LTF/RMF ที่มากขึ้นทุกปี ทำให้ขนาดของกองทุน LTF และ RMF ในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ ยอดซื้อกองทุน LTF/RMF ไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะส่วนหนึ่งมาจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้นักลงทุนเกิดความลังเล เนื่องจากกลัวที่จะซื้อกองทุนในราคาแพง นอกจากนี้ผู้ลงทุนในกองทุน LTF บางส่วนที่ได้ลงทุนครบตามเงื่อนไข 5 ปีแล้ว ก็ยังถือโอกาสขายทำกำไรในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีเมื่อใกล้ปลายปีซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการซื้อกองทุน LTF/RMF เพื่อประหยัดภาษี ประกอบกับแรงกระตุ้นของโปรโมชั่นต่างๆ ที่ทยอยออกมา ก็เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุน LTF/RMF อย่างมากเหมือนกับทุกๆปีที่ผ่านมา วันนี้ผมจึงมีเคล็ดลับเล็กน้อยๆ มาฝากสำหรับนักลงทุนที่กำลังเลือกซื้อกองทุนเพื่อประหยัดภาษีในปีนี้

1. ลงทุนเต็มเท่าที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่านั้น

เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนใน RMF จะยกเว้นภาษีเฉพาะส่วนที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกบข. ในปีภาษีนั้นแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนเงินลงทุนใน LTFสามารถหักได้อีกต่างหากไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน500,000 บาท เงินลงทุนใน RMF หรือ LTF ส่วนที่เกินสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดนอกจากจะไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว ผลกำไรจากเงินลงทุนส่วนที่เกินสิทธินี้จะต้องนำไปรวมในเงินได้เพื่อเสียภาษีอีกด้วย

2. เลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตนเอง

แม้กฎหมายจะกำหนดว่ากองทุน LTF ต้องลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 65% ของกองทุนก็ตาม แต่กองทุน LTF ก็ยังมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น LTF ที่มีการจำกัดการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 70% ซึ่งถือเป็นกองทุน LTF ที่เสี่ยงน้อย (แต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนผสม) ไปจนถึงกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นเต็มสัดส่วน 100% นอกจากนี้ กองทุน LTF ยังมีความแตกต่างในด้านนโยบายการจ่ายปันผลซึ่งจะมีผลในประเด็นเรื่องภาษี เนื่องจากเงินปันผลที่จ่ายจากกองทุนนั้นจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% ในขณะที่กำไรจากการขายหน่วยลงทุนที่ครบกำหนดนั้นจะได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งทำให้กองทุน LTF ประเภทที่จ่ายปันผลนั้นเสียเปรียบในส่วนนี้ ดังนั้นกองทุน LTF ประเภทไม่จ่ายปันผลจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า สำหรับนักลงทุนที่มี “เงินเย็น” และไม่ได้มีความต้องการรายได้จากเงินลงทุนก้อนนี้ในช่วงที่กองทุนยังไม่ครบกำหนด

RMF เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ตั้งแต่กองทุนความเสี่ยงต่ำสุดที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล 100% กองทุนความเสี่ยงปานกลางอย่างกองทุนผสมระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ในสัดส่วนต่างๆ ไปจนถึงความเสี่ยงสูงอย่างกองทุนหุ้น กองทุนทองคำ หรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ ดังนั้นก่อนลงทุนเราต้องรู้ตนเองว่าต้องการผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหนและสามารถรับความเสี่ยงจากการที่ผลตอบแทนที่ได้รับไม่เป็นไปตามที่คาดหวังได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดีการลงทุนใน LTF และ RMF ถือเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งบังคับให้เราต้องคงเงินลงทุนไปอย่างน้อยอีก 3 ปี ดังนั้น การเลือกลงทุนในกองทุนประเภทนี้จึงอยากแนะนำให้เลือกกองทุนที่เสี่ยงมากหน่อย โดยเฉพาะในภาวะดอกเบี้ยต่ำอย่างในปัจจุบัน เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำติดต่อกันเป็นเวลานานนั้น มีโอกาสสูงที่จะได้ผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนของเราด้อยค่าลงไปในระยะยาว
 
กำลังโหลดความคิดเห็น